เนื้องอกสมองสำหรับประชาชน (ตอนที่ 4)

เนื้องอกสมองสำหรับประชาชน (ตอนที่ 4)

 

อ.ดร.นพ.ศรัณย์  นันทอารี

สาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์

ภาควิชาศัลยศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

คำถามที่ได้รับบ่อย

            1. เนื้องอกสมองใช่มะเร็งหรือไม่และรักษาได้หายขาดหรือไม่

            เนื้องอกสมองมีทั้งชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งรักษาหายขาดได้ และมีชนิดที่เป็นมะเร็งรักษาไม่หายขาดมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน อีกทั้งยังมีเนื้องอกสมองอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างทั้งสองชนิดข้างต้น กล่าวคือถึงแม้ว่าอาจจะรักษาไม่หายขาดแต่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานานหลายปี

            2. การผ่าตัดสมองเพื่อรักษาเนื้องอกมีอันตรายหรือไม่

            การผ่าตัดสมองไม่ได้ปลอดภัย 100 % การผ่าตัดมีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้ แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดถ้าคิดว่าการผ่าตัดนั้นมีความจำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าความเสี่ยงที่ผู้ป่วยต้องได้รับ ผู้ป่วยสมควรซักถามกับแพทย์ให้เข้าใจถึงความเสี่ยงในกรณีเฉพาะของตัวเอง

            3. ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของการผ่าตัดเนื้องอกสมองมีอะไรบ้าง

             ภาวะแทรกซ้อนบางอย่างอาจพบได้ในการผ่าตัดเนื้องอกสมองทุกชนิด เช่น ตกเลือดในสมอง สมองบวม แผลอักเสบติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่อาจพบได้ในการผ่าตัดเฉพาะโรค เช่น การผ่าตัดเอาเนื้องอกที่แทรกซึมอยู่ในสมองส่วนใดก็มีความเสี่ยงที่อาจจะกระทบกระเทือนกับสมองส่วนนั้นทำให้เกิดความพิการในรูปแบบต่างๆ เช่น ไม่รู้สึกตัว อัมพฤตอัมพาต การพูดการฟังผิดปรกติ หรือมีอาการชัก เป็นต้น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเนื้องอกของเส้นประสาทหูอาจมีความเสี่ยงที่จะมีกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเนื้องอกของต่อมใต้สมองผ่านทางโพรงจมูกอาจจะมีความเสี่ยงที่จะมีน้ำหล่อสมองรั่วออกทางโพรงจมูก หรือมีภาวะปัสสาวะบ่อย ( เบาจืด,Diabetic insipidus) ต้องได้รับยาฮอร์โมนชดเชย เป็นต้น

            4. เนื้องอกสมองสามารถรักษาด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การผ่าตัดได้หรือไม่

            เนื้องอกสมองส่วนใหญ่รักษาโดยการผ่าตัดซึ่งอาจจะเป็นการผ่าตัดเพื่อพยายามเอาเนื้อออกให้หมดหรือเป็นเพียงการเจาะดูดเพื่อเอาเนื้องอกออกมาตรวจวินิจฉัย อย่างไรก็ตามเนื้องอกบางชนิดอาจจะรักษาโดยวิธีฉายรังสี หรือทานยาได้ เช่น เนื้องอกของต่อมใต้สมองชนิดที่สร้างฮอร์โมนกระตุ้นต่อมน้ำนมสามารถทานยาต้านฮอร์โมน (Bromocriptine) หรือเนื้องอกของเส้นประสาทหูขนาดเล็กสามารถฉายรังสีสามมิติ เป็นต้น

            5. จะต้องเตรียมตัวก่อนผ่าตัดสมองอย่างไร

            ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ สมควรรักษาโรคประจำตัวดังกล่าวให้ดีเพื่อไม่ให้มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นระหว่างการรักษาเนื้องอกสมอง ผู้ป่วยที่ทานยาต้านเกร็ดเลือด หรือทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Aspirin , Plavix, Pletaal หรือ warfarin  จำเป็นต้องหยุดยาดังกล่าวเป็นระยะเวลาหลายวันก่อนผ่าตัด เพื่อไม่ให้มีปัญหาตกเลือดระหว่างผ่าตัดสมอง

            6. จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อรู้ว่าเป็นเนื้องอกสมอง

            ผู้ป่วยควรจะได้รับรู้ว่าเนื้องอกของตัวเองเป็นเนื้องอกชนิดใด มีขั้นตอนในการรักษาอย่างไร และสมควรมาตรวจตามนัดสม่ำเสมอหลังการผ่าตัด เนื่องจากอาจจะต้องมีการตรวจเช็คทำเอ๊กซเรย์สมองหลังการผ่าตัด รวมทั้งอาจจะต้องมีการฉายรังสี ให้ยาเคมีบำบัด ให้ยาลดสมองบวม ให้ฮอร์โมนทดแทน ให้ยาต้านฮอร์โมน หรือให้ยากันชักหลังจากทำการผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องลมชักที่ยังควบคุมอาการได้ไม่ดีไม่สมควรที่จะขับรถ ผู้ป่วยที่มีปัญหาทุพลภาพอาจต้องทำการฟื้นฟูต่อเนื่องโดยการทำกายภาพบำบัด

            7. การผ่าตัดสมองจะต้องโกนหัวหรือไม่

            ในทางการแพทย์ประเด็นนี้ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญนัก แต่สำหรับผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้หญิงสาวอาจจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับตัวผู้ป่วย โดยทั่วไปการโกนศีรษะจะช่วยให้แพทย์ทำการผ่าตัดได้สะดวกขึ้น แพทย์อาจจะไม่โกนศีรษะ หรือทำการโกนเพียงบางส่วน หรือโกนทั้งหมดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละกรณี

 

หมายเหตุ 

·       เนื่องจากความรู้ทางการแพทย์มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเนื้อหาในบทความนี้จึงอาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในอนาคต รวมทั้งเนื้อหาในบทความนี้เป็นไปตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นซึ่งไม่ได้ดีกว่าหรือถูกต้องกว่าความเห็นอื่นๆ ที่อาจจะแตกต่างกันออกไปแต่อย่างไร

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด