เมื่อหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (AV block)

เมื่อหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (AV block)

อ.นพ.สัชชนะ พุ่มพฤกษ์
สาขาวิชาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญในร่างกาย ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญอื่น ๆ เพื่อให้ร่างกายเรามีชีวิตอยู่ได้  การที่หัวใจทั้ง 4 ห้องจะทำงานสัมพันธ์กันได้ จำเป็นต้องมีระบบควบคุม ซึ่งก็คือ ระบบไฟฟ้าในหัวใจ นั่นเอง

 AV block คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
          การบีบตัวของหัวใจคนปกติ เริ่มจาก
“หัวใจห้องบน”
 ซึ่งมีเซลล์พิเศษที่ผนังหัวใจห้องบนขวา ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดจังหวะ (pacemaker)  เซลล์กลุ่มนี้รวมกันเรียกว่า sinus node จะปล่อยกระแสไฟฟ้าเป็นระยะ ๆ (ประมาณ 60 - 80 ครั้งต่อนาทีขณะที่เราพัก) ไฟฟ้าที่ออกมาจะกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจห้องบนให้บีบตัว แล้วกระแสไฟจะเดินทางผ่านทางเนื้อเยื่อซึ่งมีคุณสมบัตินำไฟฟ้าได้ดี เปรียบเสมือนสายไฟ ลงมากระตุ้นหัวใจห้องล่างให้บีบตัวตาม 
         
เปรียบเทียบง่าย ๆ กับโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าให้เราใช้  จะเห็นว่าก่อนที่ไฟฟ้าจะมาถึงบ้าน ต้องผ่านสถานีย่อยเพื่อแปลงสัญญาณ
/ ปรับเปลี่ยนแรงดันก่อน ในหัวใจเราก็เช่นเดียวกัน ไฟฟ้าที่วิ่งจากหัวใจห้องบน ก่อนจะลงไปถึงหัวใจห้องล่าง ต้องผ่านสถานีแปลงสัญญาณที่เรียกว่า “AV node” ก่อน 
         
ที่
AV node มีปลายประสาทอัตโนมัติมาเลี้ยงมากมาย ทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนอัตราและความเร็วในการนำไฟฟ้าในหัวใจให้อัตราการเต้นของหัวใจโดยรวมให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายเราในขณะนั้น ถ้าการทำงานของ AV node หรือ “สายไฟ” ในหัวใจผิดปกติไป ทำให้การนำไฟฟ้าช้าลงมาก หรือนำไม่ได้เลย หัวใจห้องบนและล่างก็จะทำงานไม่สัมพันธ์กัน เราเรียกว่าเกิดภาวะ Atrioventricular block หรือ AV block

สัญญานอันตราย       

- เหนื่อยง่าย
- ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง
- มีภาวะหัวใจล้มเหลว
- เป็นลมหมดสติ

            * ผู้ป่วยบางคนมีอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้มีอาการจากภาวะ AV block  ควรรีบพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยบางรายไม่แสดงอาการใด ๆ กว่าจะรู้ว่ามีภาวะ AV block ก็เนื่องจากตรวจพบโดยบังเอิญ (บางรายที่อาการกำเริบรุนแรง ก็อาจเสียชีวิตฉับพลัน)

 AV block แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. physiologic AV block

         
พบในผู้ที่มีระบบประสาท parasympathetic ทำงานเด่น เช่น นักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกายหนักตลอดเวลา รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับความเจ็บปวดอย่างรุนแรง (เช่น บางคนเมื่อปวดมาก ๆ ก็จะเป็นลม)

2.  กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
 
           มีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น ความเสื่อมของร่างกาย ยาบางชนิด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคติดเชื้อบางชนิด โรคทัยรอยด์ เป็นต้น

เมื่อเป็นแล้ว จะรักษาได้อย่างไร
         
แพทย์จะรักษาตามอาการของโรคที่เป็นสาเหตุในผู้ป่วยแต่ละราย  เช่น ผู้ที่หลอดเลือดหัวใจตีบ ต้องรับประทานยาและรับการขยายหลอดเลือดหัวใจ 
          ในรายที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน
หรือ พบสาเหตุแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ และ เป็น
AV block รุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า 
          การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า  แพทย์จะพิจารณาระยะเวลาในการใส่ตามอาการของโรค
นั่นคือ
“หากคาดว่า AV block จะหายเองได้” ก็จะใส่เป็นเครื่องกระตุ้นชั่วคราวทางหลอดเลือดดำที่ไหล่หรือคอ แต่ “ถ้าหากคาดว่า AV block ไม่สามารถหายเองได้” ก็จำเป็นต้องใส่เป็นเครื่องกระตุ้นแบบถาวร 
          ผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่ง จะมีภาวะ
AV block มาตั้งแต่กำเนิด (ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแต่จะตรวจพบโดยบังเอิญขณะมาตรวจสุขภาพ) ซึ่งมีการดำเนินโรคแตกต่างไปจากผู้ป่วย AV block ทั่วไปอย่างมาก ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่ก็มีบางรายที่จำเป็นต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าเช่นเดียวกัน

        *  ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่า ไม่มียาใด ๆ ที่ใช้รักษาโรค AV block การรักษาที่ได้ผล คือการรักษาโรคต้นเหตุ และ/หรือ การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าเท่านั้น

แม้โรคนี้ไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้โดย
         
รักษาสุขภาพร่างกายให้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของภาวะนี้ได้

            สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะ AV block แต่ยังไม่มีอาการ และไม่รุนแรงถึงขั้นต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า ควรหมั่นสังเกตอาการตัวเอง ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย หรือคล้ายจะเป็นลมหมดสติควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากผู้ป่วยภาวะนี้บางรายเสียชีวิตฉับพลันได้


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด