เนื้องอกสมองสำหรับประชาชน (ตอนที่ 1)

เนื้องอกสมองสำหรับประชาชน (ตอนที่ 1)

 

อ.ดร.นพ.ศรัณย์  นันทอารี

สาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์

ภาควิชาศัลยศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ความหมายของเนื้องอกสมอง

            เนื้องอกสมองมีความหมายถึง เนื้องอกที่เกิดขึ้นจากเนื้อสมอง  รวมถึงเนื้องอกของเส้นประสาทสมอง เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง เนื้องอกของต่อมใต้สมอง เนื้องอกของบริเวณฐานกะโหลกที่ลุกลามเข้าไปที่สมองและมะเร็งของอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมาที่สมอง

สาเหตุของเนื้องอก

            เนื้องอกสมองส่วนใหญ่นั้นปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่มีเนื้องอกสมองส่วนน้อยบางส่วนที่ทราบสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร เช่น ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ เคยได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะ หรือเคยได้รับฮอร์โมนเพศ เป็นต้น

ชนิดของเนื้องอกสมอง 

            องค์การอนามัยโลกได้จัดแบ่งชนิดของเนื้องอกสมองออกเป็นหมวดหมู่มากกว่า 100 ชนิดแต่อย่างไรก็ตามเนื้องอกสมองชนิดที่พบได้บ่อยๆในประเทศไทย นั้น มีอยู่ไม่มากมายนักซึ่งจะอธิบายรายละเอียดในที่นี้ต่อไป

ระดับความรุนแรงของเนื้องอกสมอง

            เนื้องอกสมองมีทั้งชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งรักษาหายขาดได้ และชนิดที่ร้ายแรงเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตามมีเนื้องอกสมองอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ระหว่างชนิดร้ายแรงและไม่ร้ายแรง คือ ถึงแม้ว่าอาจจะรักษาได้ไม่หายขาดแต่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวกว่าเนื้องอกชนิดมะเร็ง องค์การอนามัยโลกได้จัดแบ่งความรุนแรงของเนื้องอกสมองเป็น 4 ระดับ โดยความรุนแรงระดับที่ 1 จัดเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรง ก้อนเนื้องอกเติบโตช้าและมักจะสามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ ความรุนแรงระดับที่ 3 จัดเป็นมะเร็ง รักษาไม่หายขาดและความรุนแรงระดับที่ 4 จัดเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงมาก เนื้องอกเติบโตเร็วและทำให้เสียชีวิตในช่วงเวลาสั้นๆ  ส่วนระดับที่ 2  นั้นจะมีความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลางระหว่างระดับที่ 1 และ ระดับที่ 3 ก้อนเนื้องอกมักจะแทรกซึมอยู่ในเนื้อสมอง จึงอาจจะผ่าตัดและรักษาได้ไม่หายขาดแต่เนื้องอกมีการเจริญเติบโตช้าสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี

 

อาการของเนื้องอกสมอง

            ผู้ป่วยเนื้องอกสมองจะมีอาการได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับว่าเนื้องอกสมองนั้นทำให้สมองส่วนใดผิดปรกติไปจากเดิม ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะนำมาก่อน แต่ท่านอย่าตกใจหรือกลัวไปว่าอาการปวดศีรษะที่เป็นนั้นอยู่เกิดจากเนื้องอกสมอง เนื่องจากอาการปวดศีรษะส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่อันตราย ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะจากเนื้องอกสมองนั้นจะมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากเนื้องอกเติบโตขึ้นตามเวลา อาการปวดศีรษะมักเป็นในช่วงตื่นนอนตอนเช้าหรือช่วงหลับตอนกลางคืน อาจมีการอาเจียนโดยที่ไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อนร่วมด้วย ก้อนเนื้องอกสามารถไปกระตุ้นเนื้อสมองทำให้ผู้ป่วยมีอาการชัก หรือเนื้องอกอาจไปกดเบียดทำลายเนื้อสมองทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในรูปแบบต่างๆ เช่น แขนขาชา อ่อนแรง เดินเซ พูดลำบาก ตาเหล่ เห็นภาพซ้อน ตามัว ชาใบหน้า หูได้ยินน้อยลง เป็นต้น  ผู้ป่วยบางรายญาติพามาพบแพทย์เพราะสาเหตุที่ทำอะไรแปลกไปจากเดิม พูดไม่รู้เรื่อง นิสัยและบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสมองเป็นอวัยวะที่ควบคุมการทำงานของชีวิตทุกด้านทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และฮอร์โมน การทำลายเนื้อสมองก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการต่างๆ กัน แล้วแต่ว่าเป็นเนื้องอกทีส่วนใดของสมอง

การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกสมอง

            การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกสมองนั้นจำเป็นต้องทำการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT brain) หรือเครื่องเอ็กซเรย์แม่เหล็ก (MRI brain) จึงจะได้การวินิจฉัยที่ชัดเจน การตรวจวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการตรวจที่มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่ได้อยู่ในโปรแกรมการตรวจเช็คสุขภาพโดยทั่วไป แพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยที่มาตรวจมีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกสมองหรือไม่และจำเป็นต้องตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ดังกล่าวหรือไม่

การรักษาเนื้องอกสมอง

            การรักษาเนื้องอกสมองมีอยู่ 3 วิธีหลักๆ คือ การผ่าตัด  การฉายรังสี และการให้ยา ในบางครั้งอาจจะต้องใช้หลายๆ วิธีร่วมกันเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด

            1. การผ่าตัด

            เป็นวิธีหลักของการรักษาเนื้องอกสมองส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงการเจาะดูดเอาเนื้องอกมาตรวจวินิจฉัย ผ่าตัดเนื้องอกออกบางส่วนหรือผ่าตัดเนื้องอกออกทั้งหมด ถ้าเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่สามารถทำผ่าตัดออกได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย แพทย์มักจะพิจารณาผ่าตัดเนื้องอกนั้นจนหมดหรือออกให้ได้มากที่สุด     เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อนมากจึงต้องอาศัยอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย เช่นในปัจจุบันมีการทำผ่าตัดโดยจุลศัลยกรรม (Microneurosurgery) ทำให้สามารถมองเห็นจุดเล็กๆในสมองส่วนที่อยู่ลึกได้  มีการนำเครื่องนำวิถี (Navigation) มาใช้เพื่อช่วยให้การผ่าตัดสมองมีความแม่นยำมากขึ้น  มีการทำผ่าตัดร่วมกับเอกซเรย์แม่เหล็กในห้องผ่าตัด (Intraoperative MRI) เพื่อช่วยให้ผ่าตัดเนื้องอกออกได้มากขึ้น หรือมีการทำผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง (Neuroendoscopic surgery) เพื่อช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ในบางครั้งเนื้องอกสมองอาจอยู่ในตำแหน่งที่มีอันตรายต่อการทำผ่าตัด และอาจมีการทำผ่าตัดโดยที่ผู้ป่วยยังคงรู้ตัวไม่สลบระหว่างผ่าตัด เพื่อที่แพทย์จะสามารถหาตรวจหาตำแหน่งการทำงานของสมองไปได้ด้วยระหว่างการผ่าตัด (Awake craniotomy and brain mapping)  อนึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาและเป็นที่คาดหมายได้ว่าในอนาคตจะมีอุปกรณ์และเทคนิคใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ มักจะมีราคาแพงและต้องจัดซื้อหาจากต่างประเทศทำให้เป็นภาระทั้งต่อผู้ป่วยและประเทศชาติ ดังนั้นจึงควรเลือกใช้เทคโนโลยีตามความเหมาะสม

            2. การฉายรังสี

            การฉายรังสีมักจะใช้เป็นการรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัดเนื้องอกสมองบางอย่างที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมดและในบางกรณี สามารถใช้เป็นวิธีการรักษาหลัก  การฉายรังสีรักษาเนื้องอกสมองนั้นในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างมาก  มีการนำเทคนิคการฉายรังสีวิธีใหม่ที่เรียกว่า การฉายรังสีรักษา 3 มิติมาใช้ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างของลำรังสีได้ตามรูปร่างของก้อนเนื้องอกทำให้ได้ปริมาณรังสีรวมสูงสุดอยู่ที่ก้อนเนื้องอกเพียงตำแหน่งเดียวโดยทีสมองส่วนอื่นๆ ได้ปริมาณรังสีน้อยมาก เทคนิคนี้ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณรังสีที่ก้อนเนื้องอกได้สูงขึ้นมากซึ่งในบางครั้งอาจจะสามารถฉายรังสีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น (Radiosurgery) ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าทางรังสีรักษาในการรักษาเนื้องอกสมองในขณะนี้

            3. การให้ยา

            เนื้องอกสมองชนิดร้ายแรงบางชนิดสมควรได้รับการรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัด และเนื้องอกสมองของต่อมใต้สมองบางชนิดสามารถรักษาโดยการให้ยาควบคุมการสร้างฮอร์โมน ในปัจจุบันยาเคมีบำบัดบางตัวมีราคาแพงมากและไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคมหรือบัตรทอง จึงเป็นอุปสรรคทำให้เป็นภาระหนักต่อผู้ป่วยหรือทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้

-มีต่อตอนที่ 2 -

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด