รู้เท่าทันโรคสมองเสื่อม (ตอนที่ 1)

รู้เท่าทันโรคสมองเสื่อม (ตอนที่ 1)

อ.พญ.กอบหทัย สิทธิรณฤทธิ์
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เมื่ออายุเพิ่มขึ้นหลาย ๆ ท่านมักจะพบว่าตนเองมีความคิดอ่านช้าลง ใช้เวลาในการตัดสินใจนานขึ้น หลงลืมง่ายขึ้น เช่น จำไม่ได้ว่าวางแว่นตาไว้ที่ไหน  ลืมกุญแจไว้ในรถบ่อย ๆ หรือนัดเพื่อนไว้แล้วลืมไปตามนัดเลยก็มี ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความกังวลใจว่าเป็นเพียงอาการหลงลืมตามวัยที่เพิ่มขึ้นหรือว่าท่านได้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมไปเสียแล้ว เพื่อตอบปัญหาดังกล่าวเรามาทำความรู้จักกับโรคสมองเสื่อมว่าเป็นอย่างไรกันเถอะค่ะ

โรคสมองเสื่อมคืออะไร?
         
โรคสมองเสื่อมคือภาวะที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองเสื่อมลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะด้านความจำเป็นหลักร่วมกับสูญเสียความสามารถด้านอื่น ๆ ของสมองด้วย เช่น สมาธิ ความสามารถในการคำนวณ ความสามารถในการเรียนรู้ การวางแผน การเรียงลำดับความสำคัญ การใช้เหตุผล การตัดสินใจ ความสามารถในการใช้ภาษา การควบคุมอารมณ์ เป็นต้น อาจพบการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพในผู้ป่วยสมองเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งอาการทั้งหลายเหล่านี้มักจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวันได้  โดยในขณะที่เกิดภาวะสมองเสื่อมนี้ผู้ป่วยจะยังมีสติและรู้สึกตัวดีอยู่ (good consciousness)

โรคสมองเสื่อมเกิดจากอะไร?
โรคสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้
         
1. เกิดจากพยาธิสภาพที่หลอดเลือดสมองทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเกิดสมองเสื่อมจากสาเหตุนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่จัด ซึ่งอาจทำให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดสมองลดลง เกิดการแข็งตัวของหลอดเลือดสมอง และส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
         
2. การติดเชื้อในสมอง เช่น ติดเชื้อรา เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียในสมอง เป็นต้น ในสมัยก่อนโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมได้บ่อยคือเชื้อซิฟิลิส สำหรับปัจจุบันเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมบ่อยได้แก่ เชื้อ
HIV และเชื้อวัณโรค
            3. การขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามิน
B1 (พบบ่อยในผู้ดื่มสุราจัด), B12 (พบได้ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก เนื่องจากวิตามิน B12 จะดูดซึมได้ลดลง) และกรดโฟลิก
            4. เนื้องอกในสมอง
            5. โพรงน้ำในสมองขยายตัว
(hydrocephalus)
            6. ภาวะที่ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ
(hypothyroidism)
            7. ผู้ป่วยที่มีอุบัติเหตุที่ศีรษะรุนแรง เช่น เลือดออกในสมอง เป็นต้น
            8. เกิดภายหลังจากที่สมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน ๆ เช่น ภายหลังการชักหรือภายหลังจากผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นเวลานาน ๆ
            9. ได้รับสารพิษบางชนิดมากเกินไป
            10. ไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมชัดเจน ซึ่งก็คือกลุ่มผู้ป่วยอัลไซเมอร์ (
Alzheimer’s disease) ที่เราเคยได้ยินกันบ่อย ๆ นั่นเอง

พบโรคสมองเสื่อมได้บ่อยแค่ไหน?
         
พบภาวะสมองเสื่อมได้ประมาณ 5% ในมีอายุ 65 ปีขึ้นไป และพบได้เพิ่มขึ้นเป็น 20-40% ในผู้มีอายุ 85 ปีขึ้นไป

อาการของโรคสมองเสื่อมเป็นอย่างไร?
          ระยะแรก
ผู้ป่วยมักจะมีปัญหาด้านความจำ หลงลืมง่าย โดยจะสูญเสียความทรงจำระยะสั้น ๆ ไปก่อน เช่น เมื่อเช้ารับประทานอะไร วางแว่นตาไว้ที่ไหน เดินทางมาโรงพยาบาลโดยวิธีใด  และต่อมาก็จะเริ่มสูญเสียความทรงจำระยะยาวขึ้น เช่น จำวัน เวลาไม่ได้ หรือสับสนจำวันผิด อาจมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ไป เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิดง่ายขึ้น ควบคุมอารมณ์ลำบากขึ้น ไม่สามารถทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อนได้แต่ยังสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้
          ระยะกลาง
ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เช่น การอาบน้ำ แปรงฟัน การควบคุมการขับถ่าย การแต่งตัว การรับประทานอาหาร จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้ดูแลในการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เป็นบางส่วน
          ระยะสุดท้าย
ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำระยะยาว เช่น จำเหตุการณ์สมัยตนยังเด็กไม่ได้ จำญาติใกล้ชิดไม่ได้ จำชื่อตนเองไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการทรงตัว การยืน การเดิน และบางรายอาจมีพฤติกรรมเดินไปเดินมาไร้จุดหมาย หรือหลงออกนอกบ้านแล้วจำทางกลับบ้านไม่ได้ ดังที่เป็นข่าวมีผู้สูงอายุสูญหายอยู่เนือง ๆ นั่นเอง ในระยะนี้ผู้ป่วยจะต้องพึ่งพาผู้ดูแลในทุก ๆ ด้านของชีวิต
         
อย่างไรก็ตามแต่ละช่วงระยะเวลาอาจใช้เวลาไม่เท่ากันในผู้ป่วยแต่ละราย และอาการในแต่ระยะอาจมีความคาบเกี่ยวกันได้

จะแยกอาการหลงลืมตามวัย (ขี้ลืม) กับอาการของโรคสมองเสื่อม (หลงลืม) ได้อย่างไร?
         
ผู้ที่มีอาการขี้ลืมมักจะพอจำเหตุการณ์ได้เลา ๆ แต่จำรายละเอียดของเหตุการณ์ไม่ได้ เช่น ลืมว่าวางแว่นตาไว้ที่ไหน ไม่แน่ใจว่าล็อคประตูบ้านแล้วหรือยัง ในขณะที่ผู้ที่มีอาการหลงลืมมักจะจำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้น เช่น จำไม่ได้ว่าตนเองต้องใช้แว่นตา หรือจำไม่ได้เลยว่าบ้านตนเองอยู่ที่ใด

มีแบบทดสอบใดช่วยคัดกรองภาวะสมองเสื่อมหรือไม่?
            ปัจจุบันมีแบบคัดกรองผู้ที่มีภาวะเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์จากญาติหรือผู้ดูแลซึ่งพัฒนาโดยนันทิกา ทวิชาชาติ และ ณภัทร อังคะสุวพลา ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ญาติของท่านมีอาการต่อไปนี้หรือไม่                                                           มี(ใช่)  ไม่มี(ไม่ใช่)
         
1. ชอบถามคำถามเดิมซ้ำ ๆ                                                                                  (  )               (  )
            2. หลงลืมบ่อยขึ้น มีปัญหายุ่งยากเรื่องความจำระยะสั้น                                           (  )               (  )
         
3. ต้องมีคนเตือนให้ทำกิจกรรมที่จำเป็น                                                                 (  )               (  )
         
4. ลืมวันนัด ลืมโอกาสที่สำคัญของครอบครัว เช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน            (  )               (  )
หรือวันหยุดพิเศษ
         
5. ดูซึมลง เศร้าหมอง หรือร้องไห้บ่อยกว่าปกติ                                                        (  )               (  )
         
6. เริ่มมีความยุ่งยากในการคิดเลข คิดเงิน หรือลำบากมากขึ้นในการดูแลจัดการ          (  )               (  )
เรื่องเงินทอง
         
7. ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบทำ เช่น งานอดิเรกที่เคยทำ กิจกรรมสังคมที่เคยไป          (  )               (  )
         
8. เริ่มต้องมีคนคอยช่วยเหลือในกิจกรรมประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร             (  )               (  )
         
9. หงุดหงิด อารมณ์เสียบ่อยขึ้น ช่างสงสัย เริ่มเห็น ได้ยิน เชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริง           (  )               (  )
         
10. เริ่มมีปัญหาเรื่องทิศทาง (ถ้าเคยขับรถก็หลงทางบ่อย จำทิศทางไม่ได้ ขับรถ           (  )               (  )
อันตราย ไม่ปลอดภัย หรือเลิกขับรถไปเลย)
         
11. มีความยุ่งยาก ลำบากในการหาคำพูดที่ต้องการจะพูด เรียกชื่อคนสิ่งของไม่ถูก      (  )               (  )
พูดไม่จบประโยค

คนปกติ คะแนนรวม < 4 คะแนน       
ผู้ที่อยู่ในข่ายสงสัยมีภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ คะแนนรวม
> 4 คะแนน

-มีต่อตอนที่ 2-

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด