โลน - เริม

โลน-เริม

ผศ.นพ.สุมนัส  บุณยรัตเวช 
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            โรค”โลน” และ ”เริม” แม้ออกเสียงใกล้เคียงกันแต่ก็เป็นโรคทั้งที่เหมือน และไม่เหมือนกันหลายประการ ทั้งสองโรคนี้เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหรือตำแหน่งใกล้เคียง และต่างก็เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์
            (แต่ถ้า”เริม” เกิดในตำแหน่งอื่น อาจไม่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ได้)

ลักษณะของเจ้า 2 วายร้าย
            “ตัวโลน” เกิดจากปรสิตภายนอกตัวเล็ก ๆ ที่ดูดเลือดจากผิวหนัง โดยปกติพอจะสามารถพอมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ลักษณะตัวเล็กอ้วนกลมมากกว่าเหา มีก้ามดูคล้ายก้ามปู จึงมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า crab louse มักจะอาศัยบริเวณขนที่อวัยวะเพศ แต่ก็อาจจะเจอได้ที่อื่น เช่น บริเวณขนตา ขนคิ้ว เป็นต้น
            ส่วน”เริม” เกิดจากเชื้อไวรัสตัวเล็กที่ชื่อ herpes ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถเห็นผลของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคบริเวณผิวหนังได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น “โรคโลน” หรือ “เริม”
            โรคโลน จะมีอาการคัน โดยตัวโลนมักจะสร้างความรำคาญมากกว่าก่อโรคร้ายแรง (ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นเจ้าตัวโลนโลดแล่นไปมาด้วยตาเปล่า)
            โรคเริม จะมีลักษณะที่สำคัญของโรค คือผู้ป่วยมีกลุ่มตุ่มน้ำใสขนาดเล็กๆ หลาย ๆ ตุ่มรวมกัน อาจแตกออกเป็นแผลตื้น ๆ เจ็บแสบหรือกลายเป็นตุ่มหนอง พบบ่อยที่บริเวณริมฝีปาก และอวัยวะเพศ หรืออาจพบได้ที่ก้นกบหรือแผ่นหลังส่วนล่าง นิ้วมือ หรือที่บริเวณศีรษะทารกแรกเกิด (ซึ่งคลอดออกมาจากช่องคลอดของมารดา ซึ่งมีเริมอยู่ที่อวัยวะเพศ)

ควรรักษาอย่างไร
            โรคโลน วิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับการกำจัด โดยโกนขนที่บริเวณนั้นออกให้หมด และทำความสะอาดโดยใช้ยาสำหรับกำจัดโลนหรือเหา นอกจากนี้ยังควรระวังเรื่องการแพร่กระจายไปยังบุคคลใกล้เคียงด้วย
            โรคเริม เป็นโรคที่ไม่หายขาด ผู้ป่วยอาจเป็น ๆ หาย ๆ หลายครั้ง การรักษาเป็นไปแบบประคับประคอง แต่ในกรณีที่รุนแรงหรือเป็นมาก อาจใช้ยาต้านไวรัสเริม ซึ่งควรจะมาพบแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อกรณีที่โรคเริมเป็นซ้ำ ๆ บ่อยครั้งมาก

ป้องกันอย่างไร ไม่ให้เป็นโรคโลน – เริม
            1.การดูแลสุขอนามัย โดยระวังการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคทั้งสองนี้ โดยเฉพาะ ”โรคเริม” หากผิวหนังคุณมีรอยแกะเกาขีดข่วน ก็จะเสี่ยงต่อการติดโรคนี้จากตุ่มน้ำของผู้ป่วยได้ง่ายกว่าผิวหนังที่ปกติสมบูรณ์
            2.ระวังในการมีเพศสัมพันธ์ โดยหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่เป็น”โรคเริม” ซึ่งสามารถติดต่อได้แม้ใส่ถุงยางอนามัย
            3.หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคทั้งสองนี้ โดยเฉพาะสิ่งของที่ต้องมีการสัมผัสกับผิวหนัง เช่น ผ้าเช็ดตัว ชุดชั้นใน หรือสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ

การแก้ไขที่ดีที่สุด ถ้าเป็นโรคโลน-เริม ซ้ำบ่อย ๆ 
            ควรมาพบแพทย์ ถ้ามี”โลน” เป็นซ้ำบ่อยมากควรต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการมีคู่นอนหลายคน ควรต้องพิจารณาถึงการรักษาคู่นอน ร่วมไปด้วยตั้งแต่แรกเพื่อไม่ให้ติดต่อกลับซ้ำกันไปมา
            ส่วน”เริม” ถ้าเป็นบ่อยมาก ๆ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อรับยาที่ใช้กดอาการไม่ให้กำเริบอีก และต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้โรคเห่อบ่อย ๆ เช่น การพักผ่อนน้อย เป็นต้น

           ทั้ง 2 โรคนี้ นอกจากการออกเสียงพยางค์เดียวสั้นๆ ที่คล้ายๆกันแล้ว ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเท่าไรนัก ยกเว้นอาจจะติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ได้ทั้งคู่ อาจเป็นๆ หายๆ การวินิจฉัยแต่แรกเริ่ม ควบคู่ไปกับการที่ผู้ป่วยดูแลสุขอนามัยของตนเอง และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีก็จะหายวันหายคืนครับ.

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด