ยา หรือ...ระวังนะ! (จบ)

ยา หรือ...ระวังนะ!(จบ)

ภญ.ชัยวรรณี เกาสายพันธ์
ฝ่ายเภสัชกรรม 
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

• ยาเหน็บ ใช้อย่างไร 
           กรณียาเหน็บทางทวารหนัก เนื่องจากบ้านเราเป็นเมืองร้อน บางครั้งเมื่อได้รับยาเหน็บพอไปถึงบ้านมันเหลวเสียก่อนที่จะนำ ไปใช้ ฉะนั้นจึงต้องทำให้แข็งก่อนด้วยการนำยาแช่ในตู้เย็นหรือกระติกน้ำแข็ง แล้วอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย เวลาใช้ล้างมือให้สะอาด เช็ดให้แห้ง แกะยาออกจากกระดาษห่อ เหน็บในท่านอนตะแคง ใช้นิ้วจับยาสอดโดยเอาปลายมนเข้าให้ลึกที่สุด และควรนอนนิ่ง ๆ สักพัก 
           กรณียาเหน็บช่องคลอด ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย ล้างมือให้สะอาด เช็ดให้แห้ง แกะยาออกจากแผง จุ่มเม็ดยาในน้ำสะอาดพอชุ่ม เพื่อให้ลื่นสอดช่องคลอดได้ง่ายในท่านอน แล้วใช้นิ้วดันสอดยาเข้าในช่องคลอดให้ลึกที่สุด ควรนอนนิ่ง ๆ สักพัก

• นอกจากยาที่กล่าวมาแล้ว ยาภายนอกยังมีอะไรบ้าง 
            มียาหยอดตา ยาป้ายตา หยอดหู การใช้ยาต้องล้างมือให้สะอาดก่อนจะหยอดหรือป้ายทุกครั้ง   
            -โดยเฉพาะยาตา ต้องล้างมือให้สะอาดมาก ๆ หยอดยาในท่านอนหรือนั่งแหงนหน้าขึ้น มือหนึ่งดึงหนังขอบตาล่างให้เป็นกระพุ้ง อีกมือหนึ่งจับขวดยาหยอดยาลงไปในกระพุ้งขอบตาล่างตามจำนวนที่ระบุในฉลากยา กระพริบตา 2-3 ครั้ง เพื่อให้ยาเข้าตาได้ทั่วถึง พักหลับตาสักครู่ ถ้ามียาหยอดตา 2 ชนิดให้หยอดตาห่างกัน 5-10 นาที ถ้ามียาขี้ผึ้งป้ายตาด้วยให้ป้ายหลังหยอดตาไปแล้ว 10 นาที ถ้าเป็นยาพวกขี้ผึ้งป้ายตาให้บีบยาประมาณครึ่งเซนติเมตรลงในกระพุ้งขอบตาล่าง หลับตา คลึงหนังตาเบา ๆ ให้ยากระจายทั่วตา ระวังอย่าให้ปลายหลอดแตะถูกตา เสร็จแล้วปิดฝาให้แน่น เมื่อเปิดใช้แล้วไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 เดือน และไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น   
            -ส่วนยาหยอดหู ก่อนหยอดให้ทำความสะอาดหูโดยใช้สำลีเช็ดภายในหู อย่าให้ลึกเพราะจะไปโดนหูส่วนใน เอียงศีรษะแล้วหยอดยา 4-5 หยด หรือตามจำนวนที่ระบุ เอียงทิ้งไว้ครู่หนึ่งประมาณ 10 นาที แล้วจึงตั้งศีรษะตรง เช็ดยาส่วนที่อาจจะไหลออกมาให้สะอาด

• วิธีใช้ยาอมใต้ลิ้น
            ยาประเภทนี้ระบุมาให้อมใต้ลิ้น ให้ผู้ป่วยนั่งเก้าอี้พิงหลัง นำยาอมใต้ลิ้น 1 เม็ด วางไว้ใต้ลิ้น ปิดปากและอมยาไว้ปล่อยให้ยาละลายใต้ลิ้น อาการเจ็บหน้าอกจะหายภายใน 1-2 นาที ถ้าหลังจากอมยาไปแล้ว 5 นาทีอาการไม่ดีขึ้นให้อมยาเม็ดที่ 2 รอดูอาการสัก 5 นาทีถ้ายังเจ็บหน้าอกอยู่ให้อมยาเม็ดที่ 3 แล้วรีบไปโรงพยาบาล สังเกตว่าเวลาอมยานี้จะรู้สึกซ่า ถ้าไม่ซ่าแสดงว่ายาเสื่อมสภาพ หมดฤทธิ์ทางการรักษา การเก็บยาประเภทนี้ต้องเก็บในขวดสีชา อย่าให้ถูกแสง ปิดฝาให้แน่นและเก็บไว้ในที่เย็น เพราะยานี้ใช้แก้อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด จึงควรระวังเป็นพิเศษ

• หากลืมกินยาบางมื้อ จะไปเพิ่มจำนวนยาในมื้อต่อไปได้หรือไม่ หรือหลับไปก่อนกินยาจะทำอย่างไร
            ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือกินซ้ำเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ ส่วนการหลับไปก่อนกินยาสามารถเลื่อนเวลาไปนิดหน่อย แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ญาติต้องพยายามให้ผู้ป่วยตื่นและให้กินยาตรงตามเวลา ไม่เช่นนั้นโรคจะไม่หายหรือหายช้า นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์ ควรกินยาอย่างสม่ำเสมอ อย่ากินบ้างไม่กินบ้าง เพราะจะทำให้ระดับยาในเลือดสูง ๆ ต่ำ ๆ ผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควร หรืออาจส่งผลให้โรคกำเริบและมีความรุนแรงได้

• เด็กที่กินยายาก ถ้าพ่อแม่จะผสมยาในนมได้หรือไม่
            ยาที่ผสมกับนมได้มีเพียงบางชนิดเท่านั้น ยาที่ผสมนมไม่ได้ เช่น ยาประเภทบำรุงโลหิต ยาเตตร้าซัยคลิน ถ้าผสมนมจะไม่ได้ผลและยังมีข้อเสีย หากเด็กดื่มนมไม่หมดก็จะได้รับยาไม่ครบตามขนาดที่ต้องการ ถ้าจะเอายาผสมนมต้องให้เด็กดื่มนมให้หมด แต่ทางที่ดีแล้วอย่าผสมดีกว่าเปลี่ยนเป็นผสมน้ำเชื่อมเด็กจะกินยาง่ายขึ้น

• รู้ได้อย่างไรว่ายาเสีย
            ยาที่เปลี่ยนสีหรือรูปร่างเป็นยาเสียไม่ควรกิน เพราะเสื่อมคุณภาพหรือมีสารแปลกปลอมเกิดขึ้นซึ่งอาจเป็นพิษได้ ส่วนยาที่ตกตะกอนตัวยาแข็งไม่กระจายก็ไม่ควรกิน เป็นยาเสื่อมสภาพเช่นกัน แคปซูลที่เปลี่ยนสีหรือแคปซูลบวม พองออก ยาเม็ดแตกร่วน สีซีด เม็ดเคลือบแตก มีลายเกิดขึ้น ก็ไม่ควรใช้เช่นกัน นอกจากนี้ยังสังเกตอายุของยาได้จากฉลากยาด้วย ถ้าไม่บอกวันหมดอายุให้ดูวันผลิต ถ้าเกิน 3 ปี สำหรับยาปฏิชีวนะ 5 ปี สำหรับยาทั่วไป ก็ไม่ควรใช้แล้ว 

• วิธีเก็บยาที่ถูกต้อง
            ยาแต่ละชนิดมีวิธีการเก็บรักษาต่างกัน หลักใหญ่ของการเก็บยาคือไม่ให้ถูกแสง ความชื้น ความร้อน จะเก็บยาในขวดก็ได้ ปิดฝาให้แน่น ถ้าเป็นยาที่ไวต่อแสงให้เก็บในขวดสีชา เก็บยาใช้ภายนอกแยกจากยากิน ยาบางชนิด เช่น ยาหยอดตาที่เปิดใช้แล้ว ยาปฏิชีวนะที่ผสมน้ำแล้ว ยาเหน็บทวารหนัก ยาฉีดพวกวัคซีน ควรเก็บในตู้เย็นในชั้นธรรมดา ห้ามเก็บในช่องทำน้ำแข็ง เพราะจะทำให้ยาเป็นน้ำแข็งเสื่อมคุณภาพ และไม่เก็บยาที่ข้างประตูตู้เย็น หรือช่องเก็บผัก เพราะความเย็นไม่เพียงพอ และควรเก็บยาให้พ้นจากมือเด็ก อยู่ในตู้ปิดมิดชิดเพื่อป้องกันเด็กเข้าใจผิดว่าเป็นลูกกวาด หรือน้ำเขียว น้ำแดง แล้วจะหยิบไปกิน.

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด