ช่วยหยุดการฆ่าตัวตาย

ช่วยหยุดการฆ่าตัวตาย

ผศ.นพ.พนม เกตุมาน
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            ปัญหาการฆ่าตัวตายเริ่มพบมากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะมีสาเหตุอะไรบ้าง และจะมีวิธีการอย่างไรไม่ให้เราเกิดความคิดฆ่าตัวตาย มีข้อแนะนำมาฝากครับ 

เข้าใจการฆ่าตัวตาย
            การฆ่าตัวตาย เกิดจากหลายสาเหตุแต่สาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนคิดอยากฆ่าตัวตายเกิดจากโรคซึมเศร้า คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีความรู้สึกเบื่ออย่างรุนแรงแทบทุกอย่างในชีวิต เบื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ความเศร้าที่รุนแรงมาก ๆ อาจทำให้คิดว่าตนเองผิด ไร้ค่า และคิดอยากฆ่าตัวตาย การตายจึงเป็นเหมือนทางออกของปัญหาในระยะสั้น เพื่อไม่ต้องเผชิญปัญหาต่อไป ความคิดของคนที่จะฆ่าตัวตายมักไม่เห็นหนทางแก้ไขปัญหา ชีวิตมืดมนและหมดหวัง ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

อาการของโรคซึมเศร้า มักเริ่มเป็นจากอาการน้อย ๆ แล้วมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถสังเกตได้ไม่ยาก ดังนี้
            1.อารมณ์ไม่สนุกสนานเหมือนเดิม ไม่มีความสุข เบื่อ ท้อแท้ หงุดหงิด และเศร้า
            2.หมดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ เบื่อสิ่งที่เคยทำแล้วสนุก มีความสุข ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอใคร
            3.เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก(บางคนกินมากเพื่อให้หายเครียด ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น)
            4.นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือตื่นเร็วกว่าเดิม 2-3 ชั่วโมงแล้วนอนต่อไม่ได้(บางคนนอนมากขึ้น เนื่องจากไม่อยากทำอะไร พยายามนอนแต่ก็ไม่หลับ)
            5.เหนื่อยหน่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่อยากทำอะไร
            6.ความคิดช้า การเคลื่อนไหวช้า ไม่มั่นใจตนเอง ไม่กล้าคิด ลังเลตัดสินใจลำบาก 
            7.สมาธิความจำเสีย ตั้งใจทำงานไม่ได้ ลืมง่าย ความจำลดลง
            8.คิดว่าตัวเองไร้ค่า ทำผิด ทำไม่ดี คิดต่อตัวเองไม่ดี
            9.คิดอยากตายและพยายามฆ่าตัวตาย

            โรคซึมเศร้า อาจเกิดหลังจากปัญหาความเครียดในชีวิต เช่น การสูญเสียคนรักหรือสิ่งที่รักในชีวิต ปัญหาเรื่องการเรียน การทำงาน ปัญหาอื่น ๆ แต่ในบางคนอาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุก็ได้ ถ้าเริ่มมีอาการน้อย ๆ ผู้นั้นมักจะรู้ตัวและอาจมาพบจิตแพทย์ แต่ถ้ามีอาการมากอาจไม่รู้ตัวและไม่มารับการรักษา บางคนกลัวว่าการมาพบจิตแพทย์แสดงว่า ตนเองเป็นโรคจิตโรคประสาท ทำให้ไม่ได้รับการรักษาและโรคมีอาการมากขึ้น จนถึงระดับที่คิดอยากตายได้ จากการสำรวจทั่วโลกพบว่า ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 100 คน มีเพียง 10 คน เท่านั้น ที่มาพบแพทย์และได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง 

รักษาโรคซึมเศร้า
            การรักษาโรคซึมเศร้า เป็นการแก้ไขสาเหตุของการฆ่าตัวตาย โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก เนื่องจากปัจจุบันนี้เรารู้สาเหตุแล้วว่าเกิดจากการทำงานแปรปรวนของสารสื่อนำประสาทที่มีผลต่ออารมณ์ ยารักษาโรคซึมเศร้าช่วยให้การทำงานของสารสื่อนำประสาทนั้นกลับมาเป็นปกติ ผู้ป่วยร้อยละ 80 รักษาให้หายได้ เมื่อได้รับยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจ เมื่อหายป่วยแล้วจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม โรคซึมเศร้าจึงไม่ใช่โรคจิตหรือโรคประสาท แต่เป็นโรคทางอารมณ์ที่สามารถรักษาให้หายได้
            หากเราสงสัยว่าคนใกล้ชิดมีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า เช่น ซึมเฉย เงียบ ไม่พูดไม่จา เฉื่อยชา เชื่องช้า ทำอะไรผิดไปจากเดิมมาก ๆ การเรียนหรือการทำงานเสียไป บางคนอาจใช้คำพูด เช่น “รู้สึกเบื่อจัง ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม” “ฝากดูแลลูกด้วยนะ” หรือดำเนินการบางอย่างที่น่าสงสัยว่าจะไม่อยากมีชีวิตต่อไป เช่น ทำพินัยกรรม โอนทรัพย์สมบัติให้ลูกหลาน เราควรให้ความห่วงใยสอบถามถึงความรู้สึก ความคิดและอาการของโรคซึมเศร้า เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น ทำให้คนที่กำลังซึมเศร้ารู้สึกว่ามีคนห่วงใย มีเพื่อน มีที่พึ่ง ช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นและไม่คิดอยากฆ่าตัวตาย ถ้าพบว่าผู้ใดมีอาการของโรคซึมเศร้าข้างต้นเกิน 5 ข้อ ควรแนะนำให้ผู้นั้นมาพบจิตแพทย์ เพื่อรับการตรวจและช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว การรักษาโรคซึมเศร้าได้เร็วจะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้

ถ้าสงสัยว่าผู้นั้นคิดฆ่าตัวตายหรือไม่ ควรถาม
            การถามเรื่องการฆ่าตัวตายสามารถทำได้ เพราะอาจช่วยรักษาชีวิตเขาไว้ได้ วิธีการถามควรใช้ชุดคำถามแบบขั้นบันได ดังนี้
            1.เมื่อพบว่าใครมีอารมณ์ซึมเศร้า ให้ถามว่า“ความเศร้านั้นมากจนทำให้เบื่อชีวิตหรือไม่”    
            2.ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “ความรู้สึกเบื่อชีวิตนั้น ทำให้คิดอยากตายหรือไม่”
            3.ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เมื่อคิดอยากตาย เคยคิดจะทำหรือไม่”
            4.ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำอย่างไร”
            5.ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำหรือไม่”
            6.ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำอย่างไร”
            7.สุดท้าย ให้ถามต่อไปว่า “มีอะไรยับยั้งใจ หรือหยุดความคิดนี้ได้ จนทำให้ไม่ได้ทำ”
            คำถามข้อสุดท้ายไม่ว่าจะตอบอย่างไร แสดงถึงปัจจัยบวกของผู้นั้นที่ช่วยให้เขายั้งคิด และป้องกันไม่ให้ฆ่าตัวตาย ควรชมและส่งเสริมให้กำลังใจในข้อดีนี้ เพื่อให้เป็นปัจจัยป้องกันในครั้งต่อไป
            บางคนเชื่อว่า การถามเรื่องฆ่าตัวตายจะไปกระตุ้นคนที่ยังไม่คิดให้คิด หรือกระตุ้นให้คนที่คิดอยู่บ้างทำจริง ๆ ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้องเพราะในความเป็นจริงการถามเรื่องนี้ไม่ได้ชักจูงหรือกระตุ้นให้คิดหรือทำ แต่สำหรับคนที่คิดจะทำอยู่แล้ว เมื่อมีคนถามจะรู้สึกว่ามีคนเข้าใจความรู้สึกดีขึ้นจนไม่คิดอยากทำ

เราทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย โดย...
            • สนใจ ใส่ใจ สังเกตตนเอง เพื่อน ๆ และคนใกล้ชิด ว่ามีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ ถ้ามีอาการมากให้ถามถึงอาการซึมเศร้า และถามถึงความคิดอยากฆ่าตัวตาย
           • ถ้าตนเองเกิดโรคซึมเศร้า ให้ปรึกษาทีมสุขภาพจิตโดยเร็ว 
          • แนะนำผู้ที่มีอาการซึมเศร้า รีบมาพบทีมสุขภาพจิต

           เพราะการรักษาอย่างรวดเร็วจะได้ผลดีกว่า โดยเฉพาะผู้ที่มีความคิดอยากตายหรือฆ่าตัวตาย ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้น

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด