อาการผิดปกติของหูจากท่อยูสเตเชี่ยนทำงานผิดปกติ
อาการผิดปกติของหูจากท่อยูสเตเชี่ยนทำงานผิดปกติ
รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โดยปกติร่างกายเรามีท่อยูสเตเชี่ยน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก ทำหน้าที่ช่วยปรับความดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก เมื่อใดที่ท่อนี้ทำงานผิดปกติไปจะทำให้เกิดอาการหูอื้อ,ปวดหู,มีเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ ตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่เราพบได้บ่อยคือเวลาขึ้นหรือลงลิฟต์เร็ว ๆ,เครื่องบินขึ้นหรือลงเร็ว ๆ เวลาดำน้ำ เวลาเป็นหวัด ไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้กำเริบ มักจะมีอาการหูอื้อ,ปวดหู,มีเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนจากท่อยูสเตเชี่ยนที่ทำงานผิดปกติ
สาเหตุ
1.การเปลี่ยนแปลงระดับความกดดันบรรยากาศอย่างรวดเร็ว หรือในระยะเวลาอันสั้น เช่น ขึ้นหรือลงลิฟต์เร็ว ๆ,เครื่องบินขึ้นหรือลงเร็ว,ดำน้ำโดยลดระดับเร็วเกินไป
2.การอักเสบของจมูก ไซนัส โพรงหลังจมูก เนื่องจากเยื่อบุจมูก ไซนัส โพรงหลังจมูกต่อกับเยื่อบุรอบท่อยูสเตเชี่ยน ซึ่งอยู่ที่โพรงหลังจมูก เมื่อผู้ป่วยเป็นหวัด,ไซนัสอักเสบ,มีอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้,มีการอักเสบของต่อมอดีนอยด์(ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อหรือต่อมน้ำเหลืองอยู่ที่โพรงหลังจมูก)การอักเสบของโพรงหลังจมูกจากการฉายแสง,โรคกรดไหลย้อน จะทำให้เยื่อบุรอบท่อยูสเตเชี่ยนบวม ทำงานผิดปกติได้
3.มีก้อนไปอุดรูเปิดของท่อยูสเตเชี่ยนทำให้ท่อยูสเตเชี่ยนทำงานผิดปกติ เกิดความดันเป็นลบในหูชั้นกลาง เช่น ต่อมอดีนอยด์ที่มีขนาดโตจนไปอุดรูเปิดของท่อยูสเตเชี่ยน,มะเร็งของโพรงหลังจมูกที่ลามไปที่ท่อยูสเตเชี่ยน ทำให้ท่อนี้ทำงานผิดปกติไป
การตรวจหู โดยแพทย์อาจพบลักษณะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.เยื่อบุแก้วหูทึบเห็นเป็นสีน้ำเงิน สีแดง สีเหลือง และมีของเหลวหรือลิ่มเลือดอยู่ภายในหูชั้นกลาง
2.เยื่อบุแก้วหูถูกดึงรั้งเข้าไปในหูชั้นกลาง เนื่องจากมีความดันในหูชั้นกลางที่เป็นลบ
3.อาจพบเลือดออกบนเยื่อแก้วหูเป็นหย่อม ๆ กระจายทั่วไปได้
4.เยื่อบุแก้วหูบางส่วนอาจบวม แดง เนื่องจากมีเลือดคั่งมากกว่าปกติได้
5.ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเห็นเยื่อบุแก้วหูฉีกขาดได้
ดังนั้นจะทำอย่างไรดี..เมื่อท่อยูสเตเชี่ยนทำงานผิดปกติ
1.ไม่ว่าจะมีอาการทางจมูก เช่น คัน,จาม,คัดจมูก,น้ำมูกไหล หรือไม่มีก็ตามควรใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการอักเสบทางจมูก เช่น รับประทานยาแก้แพ้(ยาต้านฮิสตะมีน),ยาหดหลอดเลือด เช่น pseudoephedrine พ่นจมูกด้วยยาหดหลอดเลือด เช่น ephedrine, oxymetazoline อาจร่วมกับการล้างจมูก,การสูดไอน้ำร้อน,การพ่นยาสเตียรอยด์ในจมูก เพื่อทำให้การอักเสบภายในจมูกลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงท่อยูสเตเชี่ยนลดน้อยลง เยื่อบุรอบรูเปิดท่อยูสเตเชี่ยนยุบบวมลง ทำให้ของเหลวที่คั่งอยู่ในหูชั้นกลาง สามารถระบายไหลผ่านท่อยูสเตเชี่ยนได้ดีขึ้น และท่อยูสเตเชี่ยนกลับมาทำงานปกติได้เร็วขึ้น
2.นอกจากนั้นควรทำให้ท่อยูสเตเชี่ยนทำงานเปิด-ปิดอยู่ตลอด เช่น
เคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อให้มีการกลืนน้ำลายบ่อย ๆ ซึ่งขณะกลืนน้ำลายจะมีการเปิดของท่อยูสเตเชี่ยน
ทำ Toynbee maneuver คือบีบจมูก 2 ข้าง และกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง(ท่อยูสเตเชี่ยนจะเปิด และเกิดความดันที่เป็นลบในหูชั้นกลาง)เอามือที่บีบจมูกออก และกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง(ท่อยูสเตเชี่ยนจะเปิด ทำให้ความดันที่เป็นลบในหูชั้นกลางหายไป)หรือ
ทำ Valsalva maneuver ซึ่งทำได้โดยให้ผู้ป่วยสูดหายใจเข้าเต็มที่ปิดจมูก(เอามือบีบจมูกไว้)และปาก เบ่งลมให้อากาศผ่านทางจมูกที่ปิด อากาศจะผ่านไปที่ท่อยูสเตเชี่ยนเข้าสู่หูชั้นกลาง(ท่อยูสเตเซียนจะเปิด เกิดความดันที่เป็นบวกในหูชั้นกลาง)เอามือที่บีบจมูกออก และกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง(ท่อยูสเตเซียนจะเปิด ทำให้ความดันที่เป็นบวกในหูชั้นกลางหายไป)ขณะที่เป็นหวัด หรือไซนัสอักเสบซึ่งมีการติดเชื้อในจมูก ไม่ควรทำวิธีนี้เพราะจะทำให้เชื้อโรคในจมูกหรือไซนัสเข้าไปสู่หูชั้นกลางได้
3.ถ้าทำ 2 วิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้นอาจรักษาโดยวิธีผ่าตัด คือการเจาะเยื่อบุแก้วหู(myringotomy)เพื่อปรับความดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก และระบายของเหลวภายในหูชั้นกลาง(ถ้ามี)ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องใส่ท่อ(myringotomy tube)คาไว้ที่เยื่อบุแก้วหู
4.ควรป้องกันตนเองไม่ให้เป็นหวัด โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เช่น เครียด,นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ,การสัมผัสอากาศที่เย็นมากเกินไป เช่น ขณะนอนเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อ ไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือสัมผัสอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากร้อนเป็นเย็น จากเย็นเป็นร้อน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายแพร่เชื้อให้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกหรือไซนัสอักเสบเรื้อรัง ควรป้องกันไม่ให้อาการทางจมูกหรือไซนัสกำเริบ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ความเครียด,การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ,อารมณ์เศร้า,วิตก,กังวล,ของฉุน,ฝุ่น,ควัน,อากาศที่เปลี่ยนแปลง และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือหวัด เนื่องจากถ้ามีการอักเสบในโพรงจมูก และ/หรือไซนัสจะส่งผลถึงรูเปิดของท่อยูสเตเชี่ยน ซึ่งอยู่ที่โพรงหลังจมูกทำให้ท่อยูสเตเชี่ยนทำงานผิดปกติไปเกิดปัญหาของหูดังกล่าว
การป้องกัน
1.หลีกเลี่ยงการขึ้นเครื่องบิน หรือการขึ้น/ลงที่สูง การดำน้ำขณะที่เป็นหวัด,ไซนัสอักเสบ หรือมีอาการภูมิแพ้กำเริบ
2.หลีกเลี่ยงการหลับขณะเครื่องบินขึ้นหรือลง และขณะที่เครื่องบินเปลี่ยนระดับ (เพิ่มหรือลดเพดานบิน)ควรนั่งอยู่ในท่าตรงเพราะขณะกำลังหลับท่อยูสเตเชี่ยนจะปิดตลอดเวลา และถ้าอยู่ในท่านอนท่อยูสเตเชี่ยนจะเปิดได้ยากกว่าท่านั่ง
3.ใช้ยาพ่นจมูกหดหลอดเลือด(topical decongestant เช่น ephedrine,oxymetazoline)ก่อนการขึ้น/ลงเครื่องบิน,การขึ้น/ลงที่สูง หรือการดำน้ำ ประมาณ 5 นาที รับประทานยาหดหลอดเลือด(oral decongestant เช่น pseudoephedrine)ก่อนการขึ้น/ลงเครื่องบิน การขึ้น/ลงที่สูง หรือการดำน้ำ ประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดการบวมของท่อยูสเตเชี่ยนได้
4.ควรทำให้ท่อยูสเตเชี่ยนทำงานเปิด-ปิดอยู่ตลอด (เคี้ยวหมากฝรั่ง กลืนน้ำลายบ่อย ๆ)ขณะขึ้น/ลงเครื่องบิน,ขึ้น/ลงที่สูง หรือดำน้ำ