เป็นสิว...ไม่ธรรมดา

เป็นสิว...ไม่ธรรมดา

รศ.พญ.ปภาพิต ตู้จินดา
ผศ.พญ.สุเพ็ญญา วโรทัย
แพทย์ด้านผิวหนัง
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

           ธรรมดาคนเป็นสิวมักเกิดความกังวล โดยเฉพาะเมื่อผุดขึ้นบนใบหน้าอย่างหนาตา ยิ่งเป็นตุ่มหนองด้วยแล้วล่ะก็ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจลุกลามจนทั่วใบหน้าและเกิดแผลเป็นเพื่อหลีกพ้นสิว เรามีความรู้ที่ถูกต้องมาแนะนำค่ะ

รู้จักสิว
            สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยชนิดหนึ่งในวัยหนุ่มสาว ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น สิวจะค่อย ๆ ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนหายไปในที่สุด แต่บางคนยังคงมีอาการสิวเป็น ๆ หาย ๆ หลังพ้นจากวัยรุ่นไปแล้ว เนื่องจากสิวเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมัน(sebaceous)ทำให้เรามักจะพบสิวในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า หน้าอก หลังส่วนบน คอ ไหล่ หรือต้นแขน โดยจะพบสิวได้หลายระยะทั้งสิวอุดตัน เช่น สิวหัวเปิดสีดำ หรือสิวหัวปิด ซึ่งจะเห็นเป็นหัวขาว ๆ อยู่ใต้ผิวหนัง ต่อมาอาจจะกลายเป็นสิวอักเสบเห็นเป็นตุ่มแดง(papulonodular)ได้ บางคนถ้าการอักเสบมาก อาจพบเป็นตุ่มหนอง(pustule)หรือเป็นสิวอักเสบขนาดใหญ่ที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนังที่เรียกว่าสิวหัวช้าง(nodulocystic)ได้ด้วย

สาเหตุการเกิดสิว
            การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง โดยระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน จะมีระดับสูงในช่วงวัยรุ่นโดยเฉพาะเพศชาย ทำให้เราพบสิวในช่วงอายุนี้มากกว่าช่วงอื่น ฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการสร้างไขมันออกมามากขึ้น และในขณะที่น้ำมันเดินทางจากต่อมไขมันสู่ปากรูขุมขน เกิดไปผสมเข้ากับแบคทีเรียและเซลล์ผิวที่ตายแล้วซึ่งอยู่ในรูขุมขน ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนกลายเป็นสิวอุดตัน ระหว่างนั้นเม็ดเลือดขาวในร่างกายจะออกมากำจัดแบคทีเรีย ทำให้สิวอักเสบ เกิดเป็นตุ่มแดง บวม เจ็บ และเป็นหัวหนองในที่สุด

            ผู้หญิงบางคน อาจมีสิวเห่อมากขึ้นในระยะก่อนมีประจำเดือนได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการบวมของรูขุมขนและการคั่งของน้ำในร่างกาย นอกจากนี้การหลุดลอกของผิวหนังที่ผิดปกติ ทำให้มีการหนาตัวของผิวหนังบริเวณปากรูขุมขนและแบคทีเรียที่สำคัญคือ Propionibacterium acne ก็เป็นปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิดสิวได้ด้วย  
            เดิมเชื่อว่าอาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต หรืออาหารมัน ๆ ทำให้เกิดสิว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังไม่มีการศึกษาใด ๆ ที่บ่งชี้ว่าอาหารเป็นสาเหตุของการเกิดสิว แต่ถ้าสังเกตว่าอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ทำให้อาการสิวอักเสบแย่ลง อาจลองหลีกเลี่ยงหรือหยุดรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ แล้วสังเกตว่าอาการสิวอักเสบดีขึ้นหรือไม่

            นอกจากนี้การใช้เครื่องสำอางก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดสิวอุดตันและเกิดเป็นสิวอักเสบตามมา ดังนั้นในคนที่มีโอกาสเป็นสิวง่าย แนะนำให้พยายามใช้เครื่องสำอางให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำมัน(oil-free)และควรจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าไม่ทำให้เกิดสิวอุดตันหรือสิวอักเสบ(noncomedogenic และ non-acnegenic)ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดสิวหัวเปิดหรือสิวหัวปิด นอกจากนี้การใช้สเปรย์หรือเจลบำรุงเส้นผม ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณใบหน้า 

            และสุดท้ายสาเหตุจากกรรมพันธุ์ พบว่าถ้าบุคคลในครอบครัวเป็นสิวและมีสภาพผิวมัน จะมีโอกาสเป็นสิวได้มากกว่าผิวชนิดอื่น ๆ โดยทั่วไปผู้ที่ผิวมันจะมีรูขุมขนกว้าง ผิวหยาบ รวมทั้งหน้ามันเยิ้ม ทำให้สกปรกง่ายต่อการเกิดสิว 

การรักษา
            การรักษาสิวโดยทั่วไปคือ การป้องกันการเกิดสิวใหม่ และลดการอักเสบของรอยโรคเดิมลง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา ปัจจุบันการรักษาสิวมีทั้งยาทาเฉพาะที่และยารับประทาน โดยจะเลือกใช้วิธีรักษาแบบใด ขึ้นกับความรุนแรงของสิวในขณะนั้น

            ยาทาเฉพาะที่ที่ใช้ในการรักษาสิวมีหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว แต่เนื่องจากถ้าใช้แต่เพียงตัวเดียว อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ จึงควรใช้ร่วมกับยาทาในกลุ่มอื่นๆ เช่น ยากลุ่ม benzoyl peroxideโดยทาทิ้งไว้ 5-10 นาที จะช่วยลดสิวอุดตันและลดการอักเสบของสิวได้ และยาในกลุ่มวิตามินเอ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดสิวอุดตันและช่วยทำให้สิวอุดตันที่เกิดขึ้นแล้วหลุดลอกออกไปได้โดยง่าย ยาทาเฉพาะที่ส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง อาจทำให้เกิดรอยแดง แห้งหรือลอกได้ ดังนั้นจึงควรทาบาง ๆ และเริ่มใช้ในปริมาณน้อย ๆ ก่อน ถ้ามีอาการระคายเคืองให้หยุดยาดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีอาการแสบหรือแดงก็สามารถทายาปริมาณมากขึ้น หรือทายาแล้วทิ้งเอาไว้นานขึ้นก่อนจะล้างออกได้

            ในกรณีที่สิวอักเสบเป็นรุนแรง การใช้ยาทาแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย ซึ่งมีทั้งยาปฏิชีวนะและยาในกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ สำหรับยาในกลุ่มอนุพันธ์นี้มักจะได้ผลดีในการรักษาสิว แต่ราคาค่อนข้างสูงและมีผลข้างเคียงคือ ทำให้ริมฝีปากแห้ง ผิวแห้ง ตาแห้ง ซึ่งต้องระมัดระวังในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ผลข้างเคียงอื่นที่พบคือ อาจทำให้ระดับไขมันในร่างกายหรือการทำงานของตับผิดปกติ นอกจากนี้ยาดังกล่าวยังห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์เนื่องจากจะทำให้ทารกในครรภ์พิการ จึงควรใช้ยาประเภทนี้อย่างระมัดระวังและอยู่ในการดูแลของแพทย์ นอกจากนี้การใช้ฮอร์โมนในรูปของยาคุมกำเนิดบางชนิด อาจทำให้สิวอักเสบในผู้ป่วยบางรายดีขึ้นได้โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีสิวสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน

            สำหรับการรักษาด้วยการกดสิว ควรทำโดยแพทย์ผู้รักษาเพื่อขจัดสิวอุดตัน แต่ไม่ควรบีบหรือแกะสิวเอง เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำลงไปบริเวณนั้นและทำให้เกิดรอยดำหรือแผลเป็นตามมาได้ ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบมาก แพทย์อาจพิจารณาฉีดยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าไปในตำแหน่งที่เกิดสิวอักเสบนั้น ก็จะช่วยให้สิวยุบลงได้ ดังนั้นการรักษาสิวจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดตามมา 

ห่างไกลสิว
            1.ทำความสะอาดร่างกายและใบหน้าทุกวัน แต่ระวังไม่ควรล้างหน้าบ่อยหรือขัดถูผิวหน้ามากเกินไป เพราะจะทำให้ผิวหนังเสียสมดุล การล้างหน้าควรล้างเพียงวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ยกเว้นช่วงที่เสียเหงื่อจากการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือช่วงที่คิดว่าผิวหนังสกปรก 
            2.รับประทานผักผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด 
            3.ออกกำลังกาย 
            4.พักผ่อนให้เพียงพอ  
            5.ทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ อย่าเครียด ซึ่งความเครียดเป็นสาเหตุของการเกิดสิว 

                          เท่านี้ก็ไร้สิวแล้ว ต้องทำถึงเห็นผลค่ะ

 
 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด