อันตรายจากสาร PPA ตอนที่ 2

อันตรายจากสาร PPA (ตอนที่ 2) 

ผศ.นพ.ปัญญา คุณวัฒน์
ภาควิชาเภสัชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ถาม. ppa คืออะไร
ตอบ.
ppa ย่อมาจาก phenylpropanolamine ในประเทศไทยเคยใช้เป็นส่วนผสมในยาแก้คัดจมูก มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว และทำให้ความดันเลือดเพิ่มได้ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคความดันเลือดสูง มีสูตรคล้ายกับอนุพันธ์ยาบ้าชื่อ methamphetamine กระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งเมื่อ 14 ธันวาคม 2543 ให้บริษัทยาในไทยแก้ไขทะเบียนตำรับยาที่มี ppa เป็นส่วนผสมให้เสร็จใน 180 วัน เพราะคณะกรรมการยาของกระทรวงฯ พบว่า ppa อาจเป็นเหตุให้เลือดออกในสมอง ซึ่งเป็นผลเสียที่ร้ายแรง และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่อาจแก้ไขให้คืนดีดังเดิมได้ และไม่อาจคาดได้ว่าจะเกิดกับผู้ใช้ยารายใด ในขนาดเท่าใด ผู้ได้รับยาดังกล่าวจึงอาจไม่ปลอดภัย

ถาม. ppa พบในที่ใดบ้าง
ตอบ.
ก่อนมีประกาศห้ามของกระทรวงสาธารณสุข ppa เป็นตัวยาที่เป็นส่วนประกอบของยาแก้หวัด และยาแก้ไอสูตรผสมแบบตายตัวหลายชนิดในประเทศไทย คือที่องค์การเภสัชกรรมผลิตเองมี 2 ตำรับ และที่บริษัทยาเอกชนผลิตมีถึง 447 ตำรับ และในต่างประเทศใช้เป็นยาลดความอ้วนด้วย แต่ในประเทศไทยไม่นิยมใช้เป็นยาลดความอ้วน เพราะมียาอื่นที่ได้ผลดีกว่า และปลอดภัยกว่า

ถาม. เมื่อรับประทาน ppa ออกฤทธิ์อย่างไร
ตอบ.
อาการคัดจมูกมักเกิดจากการเป็นหวัดหรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ที่มักเรียกกันผิดๆ ว่าโรคแพ้อากาศ ในจมูกที่อักเสบขณะเป็นหวัดหรือเป็นโรคภูมิแพ้นั้น หลอดเลือดที่เยื่อบุจมูกขยายตัวใหญ่ขึ้น และช่องว่างระหว่างเซลล์ของเยื่อบุหลอดเลือดกว้างขึ้น ทำให้สารน้ำในหลอดเลือดซึมผ่านออกมาอยู่ในเนื้อเยื่อนอกเซลล์ ดังนั้นเยื่อบุจมูกจึงบวมและหนาขึ้น ทำให้คัดจมูก
ยา ppa มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดในร่างกายหดตัวเล็กลง รวมทั้งหลอดเลือดที่เยี่อบุจมูกก็หดตัวด้วย เมื่อหลอดเลือดหดตัว ช่องว่างระหว่างเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดจึงแคบลง สารน้ำซึมผ่านเยื่อบุหลอดเลือดออกมาอยู่ภายนอกได้น้อยลงทำให้เยื่อบุจมูกบางลง และอาการคัดจมูกลดลง จึงทำให้จมูกโล่ง หลังรับประทาน ppa จะเริ่มออกฤทธิ์ในครึ่งชั่วโมง และมีฤทธิ์อยู่นาน 3 ชั่วโมง

ถาม. เหตุใดจึงมีข่าวว่ายา ppa มีอันตราย ทั้งที่ใช้กันมานานหลายสิบปี
ตอบ.
เมื่อปลายปีกลายมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชื่อดังของสหรัฐฯ ว่าในคนอเมริกันที่ความดันเลือดปกตินั้น การรับประทานยา ppa ทำให้เลือดออกในสมองได้ โดยพบภาวะเลือดออกในสมองเมื่อกินยานี้เพื่อลดความอ้วนในอัตราสูงกว่าผู้ที่กินยานี้เพื่อแก้หวัด และในผู้ที่กินยานี้แก้หวัดพบภาวะเลือดออกในสมองมากกว่าคนที่ไม่กินยา รายงานนี้เป็นเหตุให้องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ขอให้บริษัทยาถอน ppa ออกจากตำรับยาทุกชนิดที่มี ppa เป็นส่วนประกอบ หลังจากงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ คณะกรรมการความปลอดภัยของยาในอังกฤษได้ประกาศว่า การศึกษารายงานการวิจัยในอังกฤษพบว่ายานี้มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่เลือดจะออกในสมอง จึงไม่ได้ประกาศห้ามอย่างสหรัฐฯ และในอังกฤษขนาดยาสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้ต่ำกว่าในสหรัฐฯ จึงยังใช้ ppa ต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้ ในประเทศไทย ยังไม่มีผู้ศึกษาเรื่องเลือดออกในสมองจากการรับประทานยาสูตรผสม ppa ในคนไทย คือขาดข้อมูลที่ทำคนไทยเพื่อการตัดสินใจ ppa ก็เหมือนกับยาทุกชนิดที่มีทั้งคุณและโทษ นอกจากบรรเทาอาการคัดจมูกแล้ว ppa ยังทำให้ความดันเลือดสูงได้ เพราะทำให้หลอดเลือดทุกแห่งในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นที่เยื่อบุจมูกหรือที่ใดก็ตามหดตัว เมื่อความดันเลือดสูงมากจึงทำให้เลือดออกในสมองจากบริเวณที่มีจุดอ่อนอยู่แล้วได้ อันตรายจะเกิดได้ง่ายกับ

1) ผู้ที่ความดันเลือดสูงอยู่แล้วแต่ไม่ทราบมาก่อน เพราะความดันเลือดสูงส่วนใหญ่ไม่มีอาการ
2) ผู้ที่กินยาเกินขนาดที่กำหนดในฉลากยา

ถาม. ผลเสียจากการรับประทานยาที่มี ppa ผสมอยู่มีอะไรบ้าง
ตอบ.
การรับประทานยาที่มีส่วนผสม ppa ถ้าไม่รับประทานเกินขนาดที่ระบุไว้ในฉลาก มักไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติหากรับประทานเกินขนาด อาจทำให้ปวดศีรษะได้ เนื่องจาก ppa ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังอาจทำให้ตื่นเต้น นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียนได้

ถาม. เมื่อ ppa ถูกห้ามใช้ไปแล้ว มียาอื่นที่ใช้ทดแทน ppa ได้หรือไม่
ตอบ.
ยาที่เป็นยารับประทานซึ่งจัดเป็นตัวยาแก้คัดจมูกมีอีก 2 ชนิดคือ phenylephrine และ pseudoephedrine ซึ่งออกฤทธิ์ในแบบเดียวกับ ppa การใช้ยาเหล่านี้จะต้องแน่ใจว่ามิได้เป็นโรคความดันเลือดสูงอยู่ก่อน เพราะในโรคความดันเลือดสูงนั้นส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของแพทย์จะต้องวัดความดันเลือดก่อนจ่ายยาประเภทนี้ให้กับผู้ป่วย ส่วนในการซื้อยาแก้หวัดรับประทานเองนั้น ถ้าท่านสงสัยในความปลอดภัยให้สอบถามจากเภสัชกรประจำร้าน

ถาม. ข้อควรระวังเมื่อต้องรับประทานยา จะสังเกตได้อย่างไรว่ายาที่รับประทานไม่มีส่วนผสม ppa
ตอบ.
ต้องอ่านฉลากดูก่อนรับประทาน เพราะการรีบร้อนรับประทานยาโดยไม่อ่านให้ดีก่อนทำให้หยิบยาผิดได้ โดยเฉพาะยาที่ชื่อ รูปเม็ด หรือแค็ปซูลคล้ายกัน แล้วสังเกตุที่ส่วนผสมดูว่าไม่มี phenylpropanolamine อยู่ในส่วนผสม ถ้าท่านอ่านได้ไม่คล่องให้หาผู้ที่อ่านได้คล่องอ่านให้ฟัง

ถาม. ข้อแนะนำในการใช้ยา
ตอบ.
- ยาเป็นสิ่งที่มีทั้งคุณและโทษ ไม่มียาชนิดใดเลยที่ไม่มีโทษ
          - เก็บยาในที่สูง พ้นมือเด็กเล็ก ควรเก็บยาไว้ในตู้ยามิดชิดมีฝาปิด ในตำแหน่งไกลห้องน้ำ
          - ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และแน่ใจว่าใช้แล้วได้ประโยชน์
          - ยาไม่ใช่อาหารอย่านำมารับประทานเล่น
          - แจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าว่าตนเองแพ้ยาใดบ้าง
          - ดูวันที่ที่ระบุกำกับให้แน่ใจว่ายานั้นยังไม่หมดอายุ แผงยาอยู่ในสภาพเรียบร้อย เม็ดยาไม่ชื้น หรือเปลี่ยนสี
          - อ่านขนาด และวิธีใช้ให้เข้าใจ แล้วทำตามนั้น การใช้เกินขนาดทำให้เกิดพิษ และใช้น้อยไปก็ไม่ได้ผล
          - ดื่มน้ำตามให้มากพอหลังรับประทานยา จะช่วยให้ยาละลายได้เร็ว และเริ่มออกฤทธิ์เร็วขึ้น
          - หลังรับประทานยา หากมีอาการผิดปกติ เช่น ผื่นคัน หายใจไม่สะดวก รีบไปปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรใกล้-บ้านหลังได้รับการแก้ไข สืบดูให้แน่ชัดว่าท่านแพ้ยาใด ยานั้นมีส่วนผสมอะไรบ้าง จดลงกระดาษติดตัวไว้
          - หากมีข้อสงสัยเรื่องการใช้ยา ควรโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน จะลดความผิดพลาดได้มาก

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด