คำแนะนำในการยกเตียง เพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน
คำแนะนำในการยกเตียง เพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน
รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การยกเตียง มีความสำคัญในการรักษาโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากเวลานอนกรดจะไหลย้อนได้ง่ายกว่าเวลานั่งหรือยืน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของกรดไหลย้อน เวลากลางคืนตอนนอนหรือขณะตื่นมาตอนเช้า จึงควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น เพื่อลดการไหลย้อนของกรด โดยเฉพาะเวลานอน
1.ถ้านอนยกศีรษะสูงโดยการใช้หมอนรองศีรษะ จะทำให้ลำตัวพับงอ ความดันในช่องท้องจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้กรดไหลย้อนมากขึ้น จึงไม่ควรยกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการใช้หมอนรองศีรษะ
2.ควรยกเตียงส่วนศีรษะ หรือหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นโดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้,อิฐ โดยเริ่มประมาณ 0.5-1 นิ้ว จากพื้นราบก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ควรยกสูงมากจนร่างกาย ของผู้ป่วยไหลลงไปที่ปลายเตียง ควรยกให้สูงพอประมาณที่ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้สบาย ซึ่งจะทำให้กรดไหลย้อนน้อยลงโดยเฉพาะเวลานอน
3.ในกรณีที่ยกเตียงไม่ได้(เตียงหนักหรือเตียงติดกับพื้นหรือผนัง)ให้ใช้ไม้กระดานแข็งวางรองใต้ฟูกหรือเบาะ โดยให้มีขนาดเล็กกว่าฟูกหรือเบาะเล็กน้อย(เพื่อจะได้วางไม้บนเตียงได้) แล้วใช้ไม้หรืออิฐ ยกแผ่นไม้กระดานแข็งดังกล่าวขึ้น ตามคำแนะนำในข้อ 2
4.ถ้านอนพื้นให้ใช้ไม้กระดานแข็งวางรองใต้ฟูกหรือเบาะ โดยให้มีขนาดใหญ่กว่าฟูกหรือเบาะเล็กน้อย แล้วใช้ไม้หรืออิฐยกแผ่นไม้กระดานแข็งดังกล่าวขึ้น ตามคำแนะนำในข้อที่ 2