อาการปวดหู
อาการปวดหู
รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
อาการปวดหู เป็นอาการที่พบได้บ่อยซึ่งอาจเกิดจากโรคของหูเอง หรือเกิดจากโรคของอวัยวะอื่น ๆ
สาเหตุของอาการปวดหู
1.พยาธิสภาพที่เกิดจากโรคของหูเอง ทั้งหูชั้นนอก,หูชั้นกลาง และหูชั้นใน
หูชั้นนอก : - การบาดเจ็บของใบหู,ช่องหูชั้นนอก และเยื่อบุแก้วหู
- สิ่งแปลกปลอมในช่องหูชั้นนอก
- ขี้หูอุดตันในช่องหูชั้นนอก
- เนื้องอกของใบหู,ช่องหูชั้นนอก
- การอักเสบของกระดูกอ่อนของใบหู (perichondritis)
- หูชั้นนอกอักเสบชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรัง
- ฝีในช่องหูชั้นนอก
- เยื่อบุแก้วหูอักเสบ
หูชั้นกลาง : - การบาดเจ็บของหูชั้นกลางจากการเปลี่ยนแปลงของความดันบรรยากาศ (barotrauma)ทำให้มีเลือดออกได้
- ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดความดันเป็นลบในหูชั้นกลาง
- เนื้องอกในหูชั้นกลาง และโพรงอากาศมาสตอยด์
- หูชั้นกลางอักเสบชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรัง
- โพรงอากาศมาสตอยด์อักเสบเฉียบพลัน
- ฝีของโพรงอากาศมาสตอยด์
หูชั้นใน : - การบาดเจ็บของหูชั้นใน ทำให้มีเลือดออกในหูชั้นใน
- เนื้องอกของประสาทการทรงตัว เช่น acoustic neuroma
- หูชั้นในอักเสบ (labyrinthitis)
2.พยาธิสภาพที่เกิดจากโรคของอวัยวะอื่น ๆ แล้วมีอาการปวดร้าวมาที่หู เนื่องจากหูเป็นอวัยวะที่มีประสาทสมองคู่ที่5,7,9,10 และประสาทไขสันหลังส่วนคอช่วงบนมาเลี้ยง ดังนั้นเมื่อมีพยาธิสภาพของอวัยวะที่เลี้ยงด้วยประสาทดังกล่าว จะทำให้มีอาการปวดหูได้
จากประสาทสมองคู่ที่ 5
จมูกและไซนัส
- ผนังกั้นช่องจมูกคด และไปกดกับเยื่อบุจมูกด้านข้าง
- เนื้องอกของจมูก และ/หรือไซนัส
- การติดเชื้อ เช่น จมูกอักเสบ,ไซนัสอักเสบ
โพรงหลังจมูก
- การบาดเจ็บ เช่น การตัดต่อมอดีนอยด์
- เนื้องอกของโพรงหลังจมูก
- การติดเชื้อ (โพรงหลังจมูกอักเสบ)
เหงือก, ฟันและขากรรไกร
- การสบฟันที่ผิดปกติทำให้กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรทำงานผิดปกติ
- เนื้องอกของขากรรไกร
- ฟันผุ, รากฟันอักเสบ, เหงือกอักเสบ
- ฟันคุด, ฝีที่รากฟัน
- ข้อกระดูกขากรรไกรอักเสบ
ต่อมน้ำลาย
- นิ่วในท่อน้ำลายของต่อมน้ำลาย
- การติดเชื้อ (ต่อมน้ำลายอักเสบ)
ช่องปาก และลิ้นส่วนหน้า
- เนื้องอกของช่องปาก และลิ้นส่วนหน้า
- การอักเสบติดเชื้อในช่องปาก และลิ้นส่วนหน้า
อื่น ๆ เช่น - หลอดเลือดที่ขมับอักเสบ(temporal arteritis)
- เนื้องอกของประสาทสมองคู่ที่ 5(เช่น schwannoma)
- ประสาทมีความไวผิดปกติ(trigeminal หรือ sphenopalatine neuralgia)
จากประสาทสมองคู่ที่ 7
- การบาดเจ็บของประสาท
- เนื้องอกของประสาทสมองคู่ที่ 7(เช่น schwannoma)
- การอักเสบติดเชื้อ เช่นจากไวรัส (Ramsay-Hunt Syndrome)
- อัมพาตของประสาทแบบเบลล์ (Bells palsy)
- ประสาทมีความไวผิดปกติ (geniculate neuralgia)
จากประสาทสมองคู่ที่ 9 และ 10
คอหอยส่วนบนและลิ้นส่วนหลัง(โคนลิ้น)
- การบาดเจ็บ เช่น ก้างหรือกระดูกตำคอ ปักที่ทอนซิล หรือโคนลิ้นเกิดการอักเสบหรือเกิดแผล,การตัดต่อมทอนซิล
- เนื้องอก เช่น มะเร็งของต่อมทอนซิล,มะเร็งของโคนลิ้น
- การติดเชื้อ เช่น ผนังคอหอยอักเสบ,ต่อมทอนซิลที่ผนังคออักเสบ,หนองฝีของต่อมทอนซิล,ต่อมน้ำเหลืองที่ผนังหลังคออักเสบ
กล่องเสียง คอหอยส่วนล่าง และหลอดอาหาร
- การบาดเจ็บ เช่น ก้าง หรือกระดูก หรือสิ่งแปลกปลอม
- เนื้องอก
- การติดเชื้อ และการอักเสบ การระคายเคือง
อื่น ๆ เช่น ประสาทไวผิดปกติ (glossopharyngeal neuralgia)
จากประสาทไขสันหลังส่วนคอช่วงบน
- การบาดเจ็บ เช่น การเกิดอุบัติเหตุบริเวณคอ,มีข้ออักเสบบริเวณคอ หรือกล้ามเนื้อคออักเสบ,ประสาทอักเสบหลังการผ่าตัดบริเวณคอ,โรคหมอนรองกระดูกต้นคอ
- เนื้องอก
- การติดเชื้อ เช่น ฝี หนองของกล้ามเนื้อคอ,ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ
- อื่น ๆ เช่น กระดูกคอเสื่อม
การวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดหู แพทย์จะซักประวัติอาการของหูต่าง ๆ รวมถึง อาการที่ผิดปกติของอวัยวะอื่น ๆ โดยรอบ โดยเฉพาะอวัยวะที่เลี้ยงด้วยประสาทสมองคู่ที่ 5,7,9,10 และประสาทไขสันหลังส่วนคอช่วงบน รวมถึงการตรวจร่างกายทางหู,คอ ,จมูก อย่างละเอียด รวมทั้งช่องปาก เหงือก ฟัน ข้อต่อขากรรไกร ในบางรายอาจต้องส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องตรวจ,การถ่ายภาพรังสี โดยใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)หรือใช้คลื่นแม่เหล็ก (MRI)
การรักษา
1) การรักษาตามอาการ เช่น อาจใช้ยาระงับปวดชั่วคราว ในรายที่กำลังหาสาเหตุ หรือยังหาสาเหตุไม่พบ
2) การรักษาตามสาเหตุ
จะเห็นว่าอาการปวดหู เกิดจากหลายสาเหตุตั้งแต่การอักเสบธรรมดาของหูไปถึงเนื้องอกของอวัยวะอื่น ๆ ดังนั้นไม่ควรนิ่งนอนใจเมื่อมีอาการปวดหู ควรปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดหู.