ยา PPA ตอนที่ 2

ยา PPA (Phenylpropanolamine) (ตอนที่ 2)

ภญ. วิมล  อนันต์สกุลวัฒน์
ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ผลข้างเคียง
           มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุผลข้างเคียงที่รุนแรงของยา PPA เช่น ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงวิกฤต เส้นเลือดสมองแตก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไตวายเฉียบพลัน ผิดปกติทางจิต ประสาทหลอน ชัก แต่มักเกิดกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว หรือใช้ยาที่มีการเสริมฤทธิ์กับ PPA
           พบว่าผลข้างเคียงต่อหลอดเลือดและหัวใจมักเกิดในผู้ที่มักมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น มีความดันโลหิตสูงอยู่ก่อน คนอ้วน ผู้ป่วยที่เครียด ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิด ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเรื่องการกินอาหาร เช่น ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารไม่ได้จากโรค anorexia nervosa ,Bulimia ผู้ป่วยหญิงและเด็กเพราะมักจะได้ยามากกว่าน้ำหนักตัว ส่วนผลข้างเคียงด้านจิต มักเกิดมากและรุนแรงในผู้ป่วยทางจิตอยู่แล้ว อาการอย่างน้อยที่พบ ได้แก่ วิงเวียน ซุ่มซ่าม สับสน อาการกลัวแสง

อาการที่ควรเอาใจใส่เป็นพิเศษหลังผู้ป่วยได้รับยา PPA
           - ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูงขึ้น ปัสสาวะแล้วปวดหรือปัสสาวะขัด แน่นหน้าอก วิงเวียน ปากแห้ง นอนไม่หลับ
           - อาการแสดงว่าได้รับยามากเกินไปในระยะแรก ได้แก่ ปวดท้อง หัวใจเต้นแรง หรือเร็วหรือผิดปกติ ปวดศีรษะมาก เหงื่อออกมาก คลื่นไส้อาเจียน ตื่นเต้น กระวนกระวาย
            - อาการแสดงว่าได้รับยามากเกินไปในระยะหลัง ได้แก่ สับสน ชัก หายใจเร็วแต่ตื้น ชีพจรผิดปกติ ประสาทหลอน กล้ามเนื้อสั่นกระตุก

การแก้ไขเมื่อได้รับยามากเกินไป
           ไม่มียาแก้พิษโดยตรง ให้ใช้วิธีประคับประคอง เช่น กระตุ้นให้อาเจียนหรือล้างท้อง บางทีต้องให้ยากลุ่ม barbiturate เพื่อยับยั้งฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางของ PPA ดูแลระบบหัวใจและการหายใจอย่างใกล้ชิด อาจให้ยาขับปัสสาวะ หรือทำให้ปัสสาวะเป็นกรดเพื่อให้ยาขับออกเร็วขึ้น

ข้อแนะนำพิเศษสำหรับผู้ที่ใช้ยานี้
            - ถ้าเป็นยาเม็ดที่ออกฤทธิ์เนิ่น ห้ามแบ่งครึ่งเม็ดยา ห้ามบดหรือเคี้ยว ควรดื่มน้ำตาม 1 แก้วใหญ่ และถ้ากินวันละครั้งควรกินประมาณ 10 โมงเช้า ถ้าเป็นยาเม็ดธรรมดา ควรกินห่างจากเวลาเข้านอนหลายๆชั่วโมง เพื่อป้องกันการนอนไม่หลับ
            - ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โค้ก เพราะจะยิ่งกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางมากขึ้น
            - ถ้าลืมกินยาภายใน 2 ชั่วโมงให้กินทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้มื้อถัดไปก็ให้เว้นไปได้โดยมื้อต่อไปรับประทานขนาดปกติ ห้ามเพิ่มปริมาณยาเด็ดขาด
            - ถ้าไข้หวัดไม่หายใน 7 วันควรไปพบแพทย์

ยาที่มี PPA ผสมอยู่ (เฉพาะที่เคยมีในโรงพยาบาลศิริราช)
            Dimetapp extendtab
            Dimetapp elixir
            Codepect
            Ropect
            Tiffy
            Rhinopront syrup
            Decolgen
            Minra syrup
            Expectorant No.3

ความเห็น
            แม้ว่ายา PPA ที่เป็นยาเดี่ยวและใช้เพื่อเป็นยาลดความอ้วนจะถูกถอนทะเบียนในประเทศไทยแล้ว แต่ยังมียาผสมที่มี PPA อยู่ในตลาดอยู่ถึง 492 ชื่อการค้า และคงถูกถอนทะเบียนในไม่ช้า และแม้ว่า PPA จะไม่มีใช้ในเมืองไทยอีกในอนาคต แต่ยาอื่นที่ใช้อยู่ก็อาจมีผลเสียต่อผู้ป่วยได้เช่นเดียวกับ PPA เพียงแต่ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันผลเสียของยานั้นๆอย่างเด่นชัด กรณีของ PPA นั้นมีรายงานเรื่องการทำให้เกิดความดันโลหิตสูงเฉียบพลันมานานถึงกว่า 30 ปีแล้ว แต่ก็ยังให้ใช้กันมาตลอด จึงเป็นหน้าที่ของทั้งบุคลากรและผู้ป่วยจะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลและระมัดระวังการใช้ยาทุกชนิดให้เป็นไปอย่างถูกต้องสมเหตุผล และใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นจริงๆ และถ้ามีโรคประจำตัวอยู่จะต้องยิ่งเพิ่มความระมัดระวังให้มาก เพราะยาอาจมีปฏิกิริยากับยาอื่นๆได้ รวมทั้งอาจทำให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นได้

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด