การตรวจระดับการได้ยิน
การตรวจระดับการได้ยิน
รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การตรวจระดับการได้ยิน เป็นการตรวจการทำงานของหู และระบบโสตประสาทเพื่อหาระดับการได้ยิน โดยปกติจะทำการทดสอบหาระดับการได้ยินผ่านสองทาง คือ การนำเสียงผ่านอากาศ และการนำเสียงผ่านกระดูก
การนำเสียงผ่านอากาศจะทดสอบโดยการครอบหูฟัง ส่วนการนำเสียงผ่านกระดูกจะทดสอบโดยการวางตัวปล่อยเสียงที่กระดูกกกหู จากนั้นจะปล่อยเสียงความถี่เดียว ที่ระดับความดังต่าง ๆ แล้วลดระดับลงเรื่อย ๆ จนถึงระดับความดังที่เบาที่สุดที่ผู้ถูกทดสอบได้ยิน
โดยปกติแล้วระดับการได้ยินปกติจะอยู่ระหว่าง-10จนถึง 25 เดซิเบล ผู้ที่มีระดับการได้ยินสูงกว่านี้ ถือว่ามีความผิดปกติของระดับการได้ยิน โดยแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ ดังนี้
ระดับการได้ยิน (เดซิเบล) |
ความผิดปกติ |
-10 ถึง 25 |
การได้ยินปกติ |
26 ถึง 40 |
หูตึงเล็กน้อย |
41ถึง 55 |
หูตึงปานกลาง |
56 ถึง 70 |
หูตึงมาก |
70 ถึง 90 |
หูตึงอย่างรุนแรง |
มากกว่า 90 |
หูหนวก |
นอกจากนี้ยังแบ่งประเภทการสูญเสียการได้ยินเป็น 3 ชนิด ดังนี้
1.การสูญเสียการได้ยินเฉพาะการนำเสียงผ่านอากาศ(conductive hearing loss) เป็นการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง แต่หูชั้นในและระบบประสาทการได้ยินอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยจะพบว่าระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านกระดูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านอากาศสูงกว่า 25 เดซิเบล
2.การสูญเสียการได้ยินที่โสตประสาท (sensorineural hearing loss)
เป็นการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นในหรือระบบประสาทการได้ยิน โดยจะพบว่าระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านกระดูกและการนำเสียงผ่านอากาศสูงกว่า 25 เดซิเบล โดยทั้งสองเส้นของระดับการได้ยินจะไม่ห่างกันเกิน 15 เดซิเบล
3.การสูญเสียการได้ยินแบบผสม (mixed hearing loss)เป็นการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง ร่วมกับการสูญเสียความสามารถของหูชั้นในและระบบประสาทการได้ยิน โดยจะพบว่าระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านกระดูกและการนำเสียงผ่านอากาศสูงกว่า 25เดซิเบล แต่ทั้งสองเส้นห่างกันมากกว่า 15 เดซิเบล แสดงว่าการนำเสียงผ่านอากาศแย่กว่าการนำเสียงผ่านกระดูก
ผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยิน จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยยา หรือการผ่าตัด นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น การใช้เครื่องช่วยฟัง รวมทั้งได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอีกด้วย