เจ็บคอเรื้อรัง

เจ็บคอเรื้อรัง

รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            อาการเจ็บคอเรื้อรัง เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย อาการนี้เป็นที่น่ารำคาญแก่ผู้ป่วย และอาจทำให้ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์หลายคนบ่อย ๆ เนื่องจากไม่หายเสียที ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ หลายชนิดเป็นระยะเวลานาน สิ่งสำคัญในการรักษา คือต้องหาสาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรังให้พบ และรักษาตามสาเหตุ อาการผู้ป่วยถึงจะหาย และมีโอกาสน้อยที่จะกลับมาเป็นอีก การวินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรัง จำเป็นต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการตรวจจมูก ไซนัส ช่องคออย่างละเอียด ส่วนใหญ่แพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจจมูก ไซนัส ช่องคอ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรังที่ถูกต้อง

สาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรัง 
      1.โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ 
        โรคนี้เกิดจากเยื่อบุจมูกไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นทำให้เยื่อบุจมูกบวม ทำให้คัดจมูกเรื้อรัง ต้องอ้าปากหายใจ ทำให้เยื่อบุลำคอแห้ง มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ นอกจากนี้โรคนี้ยังทำให้มีน้ำมูกไหลลงคอ ระคายคอตลอดเวลา ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้เช่นกัน

      2.โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง
        โรคนี้จะทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูกเรื้อรัง ทำให้เยื่อบุจมูกบวม มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ทำให้ต้องหายใจทางปากตลอด เกิดเยื่อบุลำคอแห้ง มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ นอกจากนั้นสารคัดหลั่งจากไซนัสและจมูกที่อักเสบที่ไหลลงคอ จะทำให้มีอาการอักเสบ ระคายเคืองของผนังคอ ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้เช่นกัน

      3.การติดเชื้อของลำคอ และ/หรือต่อมทอนซิลเรื้อรัง  
        เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งดื้อต่อยาต้านจุลชีพที่รับประทาน หรือเกิดจากผู้ป่วยรับประทานยาต้านจุลชีพไม่ครบตามระยะเวลาที่ควรจะเป็น หรือมีแหล่งของเชื้อโรคอยู่ในช่องปาก เช่น มีฟันผุ หรือโรคเหงือก นอกจากนั้นการติดเชื้อบางชนิดอาจทำให้เจ็บคอเรื้อรังได้ เช่น การติดเชื้อราบางชนิด,เชื้อวัณโรค,เชื้อโรคเรื้อน หรือเชื้อซิฟิลิส อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อดังกล่าวนี้พบได้น้อย

      4.โรคผนังช่องคอ และ/หรือสายเสียงอักเสบเรื้อรัง
         จากการระคายเคืองจากการสัมผัสกับฝุ่น ควันบุหรี่ อาหารรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด หรือเกิดจากการใช้เสียงผิดวิธี หรือเกิดจากการไอเรื้อรัง ทำให้มีการกระแทกกันของสายเสียง และมีการใช้กล้ามเนื้อของผนังคอมากเกินไป

       5.โรคกรดไหลย้อน 
         ซึ่งกรดอาจไหลย้อนขึ้นมาที่ผนังคอ ทำให้เยื่อบุและกล้ามเนื้อของผนังคอมีการอักเสบ ทำให้มีอาการเจ็บคอเป็น ๆ หาย ๆได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการเสียงแหบ กลืนติด กลืนลำบาก มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลาร่วมด้วย

       6.โรคเนื้องอกของคอและกล่องเสียง
         เนื้องอกอาจไปกดเบียดเส้นประสาท ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยมักมีอาการ กลืนลำบาก น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาจมีเสมหะปนเลือด หรือปวดร้าวไปที่หูได้

       7.โรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณคอ (neuralgia) 
         เช่น เส้นประสาทสมองคู่ที่ 9(glossopharyngeal nerve)ซึ่งอาจมีการกระตุ้น หรือการระคายเคืองของเส้นประสาทดังกล่าว ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆได้อาการปวดมักจะเริ่มจากผนังคอ แล้วร้าวไปยังหู คอ และศีรษะนานเป็นวินาที มักกระตุ้นโดยการกลืน การหาวนอน การเคี้ยว และการไอ

       8.สิ่งแปลกปลอม 
         เช่น ก้างปลา กระดูกชิ้นเล็กที่คาอยู่ในผนังลำคอ ต่อมทอนซิล หรือโคนลิ้น เป็นระยะเวลานาน จะทำให้บริเวณดังกล่าวอักเสบเกิดการติดเชื้อ ทำให้เจ็บคอเรื้อรังได้ อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้พบได้น้อย

การรักษาอาการเจ็บคอเรื้อรัง 
       รักษาตามสาเหตุ ควรปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและเหมาะสม เช่น ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊กหรือข้าวต้มที่ไม่ร้อนจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสจัด หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้เสียงชั่วคราว ควรพยายามทำความสะอาดคอบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ด้วยการแปรงฟัน หรือกลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปาก,น้ำเกลืออุ่น ๆ หรือน้ำเปล่าหลังอาหารทุกมื้อ เนื่องจากการที่ไม่รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี อาจมีเศษอาหารตกค้างในช่องปากและลำคอ ทำให้เจ็บคอมากขึ้นได้   
 
       จะเห็นได้ว่าอาการเจ็บคอเรื้อรัง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นโรคของจมูก ไซนัส ลำคอ กล่องเสียง หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร และพยาธิสภาพ เป็นได้ตั้งแต่โรคธรรมดาที่ไม่อันตราย เช่น โรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง จนถึงโรคที่อันตราย เช่น เนื้องอกของคอและกล่องเสียง ดังนั้น อย่านิ่งดูดาย ถ้ามีอาการเจ็บคอเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก เพื่อหาสาเหตุของอาการดังกล่าว.

 

 

 

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด