สู้หรือถอย! เมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงิน

สู้หรือถอย! เมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงิน

รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม
ภาควิชาวิชาตจวิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบา

 สายตรงสุขภาพกับศิริราชฉบับนี้  มาพร้อมกับชื่อโรคแปลกๆ ที่ผู้อ่านไม่ค่อยรู้จักกัน “สะเก็ดเงิน” ครับ
           โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) นั้น เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง พบได้ทั้งเพศชายและหญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการของโรคเมื่ออายุ 30-40 ปี   มีผู้เป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 1-3 ของประชากรทั่วโลก สาเหตุของโรคเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐาน   มีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างกระตุ้นให้เกิดอาการแสดงทางผิวหนังและข้อ  
           อาการผื่นผิวหนังอักเสบมีหลายรูปแบบที่พบบ่อย คือ ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดง ลอกเป็นขุย เป็นๆ หายๆ คนไข้บางรายเป็นเฉียบพลัน  แล้วผื่นก็หายไป  บางรายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง  ความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบ คือ เล็บผิดรูป หรือมีอาการปวดข้อตามหลังอาการผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยน้อยรายที่มีอาการปวดข้อนำมาก่อน บางครั้งอาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กับอาการผื่นผิวหนังอักเสบ พบมากในวัยผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

ทำไมถึงเรียกสะเก็ดเงิน 
          ที่ชื่อ “โรคสะเก็ดเงิน” เพราะลักษณะของผื่นจะเป็นปื้นหรือตุ่มสีแดง ขอบเขตชัดเจน บนผิวของผื่นผิวหนังอักเสบจะมีสะเก็ดสีขาวคล้ายเงินปกคลุมอยู่ เมื่อแกะเกาสะเก็ดให้หลุดลอกออกจากผิวหนังจะเห็นจุดเลือดออกบนผิวของผื่นที่อักเสบแดง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีตุ่มหรือปื้นแดงที่มีสะเก็ดสีขาวให้เห็น  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค
          ปัจจัยที่ทำให้อาการกำเริบ
              -  ความเครียด เป็นสาเหตุสำคัญและพบบ่อยที่สุดประมาณร้อยละ 70
              -  การแกะเกา เสียดสี  ขูดขีดผิวหนัง
              -  ได้รับสารเคมีที่เป็นพิษ  เช่น การสูบบุหรี่  ดื่มสุรา และเสพยาเสพติด
              -  ติดเชื้อไข้หวัด หรือเชื้อฝีหนองอื่น ๆ

พบอาการของโรคที่อวัยวะใดบ้าง
          โรคสะเก็ดเงินจะเกิดอาการกับอวัยวะต่าง ๆ  หลายแห่งดังนี้
           1. ผิวหนังตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า
               บางรายมีตุ่มหรือปื้นผิวหนังอักเสบเฉพาะที่ศอก เข่า แขน ขา เพียง 2-3 แห่งเท่านั้น หรืออาจเป็นผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณข้อพับ  เช่น  ขาหนีบ ร่องก้น มีตุ่มหนองตามฝ่ามือฝ่าเท้าหรือเฉพาะที่ปลายนิ้วมือหรือเท้าคนไข้ที่มีอาการรุนแรง   จะมีผื่นผิวหนังอักเสบแดงทั่วทั้งตัวและลอกเป็นสะเก็ด  อันเป็นสาเหตุของการเสียโปรตีนไปกับสะเก็ดผิวหนัง นอกจากนี้ยังเสียความร้อนในร่างกายหรือน้ำทางผิวหนังมากกว่าปกติ ทำให้อ่อนเพลีย หนาวสะท้าน  เพราะเสียความร้อนออกทางผิวหนังตลอดเวลา บางรายเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เกิดตุ่มหนองกระจายทั่วตัว
           2. เล็บมือและเล็บเท้า
                เล็บของคนไข้จะมีความผิดปกติได้หลายรูปแบบ เช่น ผิวเล็บเป็นหลุมเล็กๆ จนถึงเล็บผิดรูปขรุขระทั้งเล็บ นอกจากนี้บางรายอาจมีเล็บหนา เป็นขุยขาวใต้เล็บ เล็บล่อน เป็นต้น
           3. ข้อต่อของแขนขาทุกตำแหน่ง รวมทั้งข้อกระดูกสันหลัง
                อาการข้ออักเสบมักเกิดตามหลังผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เป็นมานานนับปี หรืออาจเกิดพร้อมๆ กับผื่นผิวหนังอักเสบ ผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีอาการทางข้ออักเสบนำมาก่อน ข้อที่เกิดการอักเสบบ่อยๆ คือ ข้อนิ้วมือส่วนปลาย  ข้อมือ  ข้อศอก  ข้อเข่า  ข้อกระดูกคอ  โดยทั่วไปหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะเกิดการพิการของข้อตามมาได้

การรักษา
            ปัจจุบันได้มีการพัฒนายาใหม่ ๆ ทั้งยาทาและยารับประทานที่ได้ผลดีในการรักษาเป็นจำนวนมาก  วิธีรักษาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
            1. ผื่นเป็นน้อย ผื่นผิวหนังอักเสบไม่เกิน  ร้อยละ 10  ของพื้นที่ผิวหนัง  จะใช้ยาทาเป็นหลัก  ยาทากลุ่ม สเตียรอยด์  เป็นยาที่แพทย์ทั่วไปนิยมใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินมากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง  ได้ผลเร็ว สะดวกในการใช้   ราคาไม่แพงนัก และไม่ระคายเคือง ถ้าใช้ในระยะสั้นมักจะไม่เกิดผลเสียที่รุนแรง แต่ถ้าใช้สเตียรอยด์ชนิดแรงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลเสียได้ เช่น ผิวหนังฝ่อ หลอดเลือดขยายตัว ผิวแตก ผิวขาว และการดื้อยา นอกจากนั้นโรคยังกลับเป็นซ้ำได้  ดังนั้นการใช้ยาดังกล่าวควรจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์  ถ้าจะซื้อใช้เองต้องมีความรู้เรื่องยาสเตียรอยด์เป็นอย่างดี

            2. ผื่นเป็นมากเกิน ร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ผิวหนัง จำเป็นต้องใช้ยารับประทานและใช้แสงแดดเทียมในการรักษา ข้อจำกัดที่สำคัญของการใช้ตู้แสงแดดเทียมคือ คนไข้ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลประมาณ 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2-3 เดือนติดต่อกัน

 

 

 

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด