เมื่อเอดส์เกิดมากับลูกน้อย

เมื่อเอดส์เกิดมากับลูกน้อย

รศ.พญ. กุลกัญญา  โชคไพบูลย์กิจ
 ภาวิชากุมารเวชศาสตร์

      Faculty of Medicine Siriraj Hospital
 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

         โรคเอดส์เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีปัจจุบันทั่วโลกมีเด็กติดเชื้อเอชไอวีเกิดขึ้นใหม่ประมาณ  7  แสนคนต่อปี  สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยเด็กประมาณ  30,000 คน เสียชีวิตไปแล้วประมาณ  10,000  คน  ปัญหาที่สำคัญ  คือ  เด็กเหล่านี้มักกำพร้าพ่อ-แม่ตั้งแต่อายุยังน้อย ในส่วนของเด็กที่ไม่ติดเชื้อแต่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อก็มีปัญหาเช่นกัน  นับว่าเอดส์ทำให้เกิดปัญหาเด็กกำพร้าขึ้นประมาณ  150,000  ครอบครัวแล้ว... ปัจจุบันมีการใช้ยาต้านไวรัสป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก   ทำให้มีอัตราเด็กติดเชื้อเกิดใหม่ลดลงมาก  จากที่เคยมีสูงถึง  2,000  คนต่อปี  เหลือประมาณ  300 คนต่อปี 
        โดยส่วนใหญ่เด็กจะติดเชื้อเอชไอวีขณะอยู่ในครรภ์  หรือในระหว่างคลอด  และอาจได้รับเชื้อจากนมมารดา  หากทารกกินนมมารดาที่ติดเชื้อด้วยส่วนการติดเชื้อโดยวิธีอื่น เช่น การได้รับเลือด  มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากในระยะหลังเพราะมีการตรวจคัดกรองเลือดที่มาบริจาคอย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าพ่อและแม่เป็นเอดส์  ลูกจะต้องเป็นด้วยเสมอไปหรือไม่ ?
        การติดเชื้อในเด็ก  เกิดในช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดา  หรือระหว่างคลอด สำหรับประเทศไทยไม่แนะนำให้ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อกินนมแม่  จึงไม่พบการติดเชื้อภายหลังการคลอด  ส่วนการติดเชื้อในบิดาจะไม่มีการติดต่อมายังบุตร
        หากมารดาไม่ได้รับยาต้านไวรัสใด ๆ  แต่ทารกไม่ได้กินนมมารดา  ทารกจะมีโอกาสติดเชื้อจากมารดาประมาณ  1  ใน  4  หรือ  25 %  แต่ถ้ามารดาได้รับยาต้านไวรัส  Zidovudine (AZT)  เพียงตัวเดียวในช่วงไม่นานก่อนคลอด  และทารกได้รับยา  AZT  ด้วย  พบว่าจะลดการติดเชื้อเหลือประมาณ  7 - 8 %  แต่หากมารดาได้รับยา  2  ตัวเช่น  zidovudine  ( AZT)+ lamivudine  (3TC) หรือได้รับ  AZT  ตั้งแต่ครรภ์  28  สัปดาห์  ร่วมกับ  Nepirapine (NVP) 1 ครั้งตอนคลอด  และทารกได้อีก  1  ครั้ง  จะลดการติดเชื้อเหลือเพียงไม่เกิน  3 %  และถ้าหากมารดาได้รับยา  3  ขนาน นานกว่า  4  สัปดาห์ก่อนคลอด  ทารกจะติดเชื้อประมาณ  1 - 2 % เท่านั้น  นอกจากนี้การคลอดโดยการผ่าตัดทางหน้าท้อง  (Caesaren  section)  ก่อนจะเจ็บครรภ์หรือมีน้ำเดิน  จะช่วยลดอันตรายการเกิดเชื้อในทารกลงไปได้อีก  
        สถานพยาบาลปัจจุบัน  จะเน้นการดูแลรักษามารดาระหว่างตั้งครรภ์เป็นอย่างมากเพื่อป้องกันการติดเชื้อในทารก  ซึ่งหากทำได้ดี  จะมีผู้ป่วยเด็กรายใหม่เกิดน้อยมาก  ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรยาต้านไวรัส   สำหรับหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศ  เป็นยา  AZT  และ  NVP นอกจากนี้ยังให้นมผงแก่ทารกนาน  1  ปี  อย่างเพียงพอทั่วประเทศ  จึงทำให้ประเทศได้รับการยกย่องเป็นตัวอย่างประเทศที่มีการให้ระบบบริการเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การตรวจเลือดเพื่อค้นหาการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์  จึงเป็นที่แนะนำให้ทำทุกราย  คาดว่าในอนาคตจะมีเด็กติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นน้อย  ทำให้จำนวนผู้ป่วยไม่เพิ่มขึ้น  จะทำให้มีทรัพยากรเหลือมาดูแลรักษาเด็กที่ติดเชื้อไปแล้วได้ดีมากยิ่งขึ้น
การดูแลรักษาเด็กที่ติดเชื้อในปัจจุบัน  มีวิทยาการก้าวหน้าเพียงใด ?
        ปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง  ซึ่งเมื่อนำมาใช้หลายตัวรวมกันจะเป็นสูตรที่มีประสิทธิภาพดีมาก  ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงใกล้เคียงกับเด็กปกติ  ยาสูตรพื้นฐานสูตรแรกคือ  ยากลุ่ม  nucleoside  reverse  transcriptase  2 ตัว ร่วมกัน  ยากลุ่ม  non- nucleoside reverse  transcriptase  อีก  1  ตัว ยาที่ใช้ ได้แก่  zidovudine  (หรือ stavudine)  ร่วมกับ lamivudine  ร่วมกับ  nevirapine  มีการผลิตแบบรวมในเม็ดเดียวกัน ซึ่งสามารถผลิตได้เองโดยองค์การเภสัชกรรม  มีราคาถูกลงมาก  ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง 
      อย่างไรก็ดี  ยาต้านไวรัส  ต้องกินตลอดไป  และมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาขึ้นได้  โดยเฉพาะหากกินไม่สม่ำเสมอตรงเวลา  จะมีการดื้อยาเกิดง่ายขึ้นจำเป็นต้องใช้ยาสูตรใหม่  เช่น  กลุ่ม protease  inhibitor  ซึ่งมักเป็นยาที่มีราคาแพง  เพราะยังไม่สามารถผลิตเองได้  และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้มากขึ้น  แต่ก็มียาดี ๆ  ทีมีประสิทธิภาพสูง  พัฒนาออกมาใหม่เรื่อยๆ  ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสมีชีวิตยืนยาวใกล้เคียงคนที่ไม่ติดเชื้อ  แต่การใช้ยาใหม่ๆ ในผู้ป่วยเด็กมักจะทำได้จำกัดกว่าผู้ใหญ่
การดูแลเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี  มีหลักปฏิบัติอย่างไรบ้าง ?
        เด็กที่ติดเชื้อต้องดูแลสุขภาพทั่วไปให้มีสุขอนามัยที่ดี  เพื่อลดความเสี่ยงต่อ การเจ็บป่วยซ้ำเติม  เพราะภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย  อาจจะไม่ปกติในบางช่วงได้ สุขอนามัยควรเริ่มปฏิบัติตั้งแต่วัยทารก  ให้อาหารที่สะอาดเพียงพอ ครบทุกหมู่  ระวังอาหารหวาน  และการคานมขวดจนหลับ  เพราะมักเป็นสาเหตุของภาวะฟันผุอย่างแรงได้ การรักษาสุขอนามัยทั่วไป  เช่น  อาบน้ำ  แปรงฟัน  ตัดเล็บ  ล้างมือ  ต้องเน้นย้ำมากกว่าปกติ  แนะนำให้ดื่มน้ำสุกเสมอ  และไม่ให้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่ต้องมีการสัมผัส  เช่น  สุนัข  แมว  ควรส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกาย  และมีกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย ไปโรงเรียนตามปกติ  โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้โรงเรียนทราบว่าเป็นโรคนี้  แต่ต้องหลีกเลี่ยงภาวะที่ต้องมีการกระทบกระแทกมีเลือดออก  เด็กเหล่านี้สามารถเล่นกีฬาได้ แต่ไม่ควรเล่นกีฬาที่อาจมีการกระทบกระแทกร่างกายได้
       การฝึกระเบียบวินัยเป็นเรื่องสำคัญ  เพราะต้องกินยาอย่างเคร่งครัด  ตรงเวลาตลอดชีวิต  การเลี้ยงดูแบบเอาอกเอาใจเกินไป  หรือแบบไม่สนใจ  จะทำให้เด็กมีปัญหาในการดูแลตนเองต่อไป  เด็กที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสม  สามารถปรับตัวเองในการกินยาได้ดี  ในเด็กเล็กคำอธิบายที่เหมาะสมกับวัยให้เข้าใจว่าทำไมต้องกินยาโดยยังไม่ต้องบอกชื่อโรค  จะช่วยให้เด็กร่วมมือดีขึ้น  ความรักความอบอุ่นในครอบครัว  จะลดปัญหาการต่อต้านได้  บางครั้งยาที่ใช้ต้องเป็นยาเม็ด  ต้องมีการตัดแบ่งหรือบด  จำเป็นต้องมีการฝึกสอนให้ผู้ปกครองทำได้อย่างถูกต้อง   การกินยาให้ถูกต้องจะลดโอกาสที่เกิดเชื้อดื้อยาได้มาก 
เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจะมีโอกาสใช้ชีวิตแบบเด็กปกติได้หรือไม่ ?
      แนวทางการดูแลเด็กเหล่านี้  คือ ทำให้เด็กมีชีวิตใกล้เคียงกับเด็กปกติมากที่สุด  แม้ยาต้านไวรัสทำให้เด็กมีชีวิตยืนยาวจนโตได้
 แม้ว่าเด็กที่ติดเชื้อบางคนยังมีความเจ็บป่วย  ผ่ายผอม  และมีสภาพร่างกายที่ไม่ปกติ  แต่เด็กจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มที่เกิดมาในช่วงที่มียาต้านไวรัสใช้  จะดูภายนอกเหมือนเด็กปกติทุกประการ  สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ  แต่ต้องกินอย่างเคร่งครัดและมาติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ 
           มีเด็กจำนวนมากหนึ่งกำลังเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น  และอาจจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์  จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้เด็กรู้ว่าตนเองเป็นโรคอะไร  และสอนให้เด็กเกิดความรู้ความเข้าใจก่อนจะเข้าสู่วัยรุ่น  ในต่างประเทศมีเด็กติดเชื้อตั้งแต่เกิดจำนวนหนึ่ง  เติบโตเป็นผู้ใหญ่และตั้งครรภ์ มีบุตร โดยที่ไม่มีทารกคนใดติดเชื้อ  เพราะมีการให้ยาป้องกันการติดเชื้อในทารกอย่างเต็มที่
         เด็กที่ติดเชื้อมักจะเกิดในครอบครัวที่มีปัญหาและความวุ่นวาย  เด็กจึงอาจมีปัญหาทางสุขภาพกายและใจ  การเลี้ยงดูให้เด็กมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีนับเป็นเรื่องสำคัญ  การดูแลเด็กติดเชื้อเอชไอวี  ที่กำลังโตเข้าสู่วัยรุ่น  เป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย  เพราะวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยง  และต่อต้าน  การทำงานเป็นทีมกับผู้เชียวชาญหลายฝ่าย  จะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างราบรื่น 

        โรคติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ในเด็กเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สำหรับเด็กที่ติดเชื้อไปแล้ว  ยังไม่มีการรักษาให้หายขาด  แต่ยาต้านไวรัสทำให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง  มีคุณภาพชีวิตที่ดี  และอายุยืนยาว ถือได้ว่าเป็นโรคเรื้อรังโรคหนึ่งที่ต้องการการดูแลรักษายาวนานตลอดชีวิต  ความใส่ใจ  ความรัก  และความอบอุ่นในครอบครัวจึงเป็นอีกหนึ่งยาขนานเอก  ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเด็กมีสุขภาพใจ และสุขภาพกายแข็งแรงไปอีกนาน ๆ  ค่ะ

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด