โรคปริทันต์
โรคปริทันต์ ถ้ารู้เท่าทันเราก็ไม่เป็น
ทันตแพทย์หญิงฉัตรแก้ว บริบูรณ์หิรัญสาร
งานทันตกรรม
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
แน่ใจมั้ยว่าแปรงฟันสะอาดทุกวัน ?... เรื่องนี้ละเลยไม่ได้เลยนะคะ เพราะเรากำลัง
กล่าวถึง โรคปริทันต์ (Periodontal Disease) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า รำมะนาด ซึ่งเป็นวายร้ายที่ค่อย ๆ ย่องระรานสุขภาพ เหงือกและฟันของเราอย่างเงียบ ๆ
โดยทั่วไป เรามักจะคิดว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอาการของโรคเหงือกเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว การอักเสบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่เหงือก แต่เกิดขึ้นกับอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ฟัน ไม่ว่าจะเป็น กระดูกเบ้าฟัน เอ็นยึดปริทันต์ และผิวรากฟัน ซึ่งทำหน้าที่ยึดและพยุงฟัน ทำให้ฟันสามารถฝังอยู่ในขากรรไกรได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคปริทันต์มากจะมี ฟันโยก จนทำให้สูญเสียฟันได้
สาเหตุของโรคปริทันต์
เชื้อแบคทีเรีย คือตัวการ และสาเหตุก็ เริ่มต้นจากการที่เราทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ คราบอาหารตกค้างทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรีย ที่เราเรียกกันว่า แผ่นคราบจุลินทรีย์ (Plaque) เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะเกิดการตกตะกอนของแร่ธาตุจาก น้ำลาย และน้ำที่อยู่ในร่องเหงือก จนกลายเป็น หินน้ำลาย หรือ หินปูน เจ้าเชื้อแบคทีเรีย จะสวมบทผู้ร้ายเป็นตัว กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ ผลคือทำให้ เหงือกอักเสบ บวมแดง มีเลือดออก และหากเป็นมาก อาจทำให้เกิดการทำลายอวัยวะปริทันต์ได้
สัญญาณอันตราย เมื่อโรคปริทันต์มาเยือน
1. มีเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน
2. เหงือกบวมแดง
3. มีกลิ่นปาก
4. เหงือกร่น
5. ฟันโยก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการไม่ว่าจะอย่างใด อย่างหนึ่งข้างต้น ควรมาพบทันตแพทย์ทันทีเพื่อรับการ ตรวจรักษา หากทิ้งไว้นานอาจมีปัญหาฟันโยกถึงขั้น ต้องสูญเสียฟันได้
ขั้นตอนการรักษาโรคเหงือก
การรักษาจะเริ่มต้นด้วยการขูดหินปูน และเกลารากฟัน (root planing) คือการทำให้ผิวรากฟัน เรียบ เป็นการกำจัดคราบจุลินทรีย์ และหินปูนที่เกาะบนผิวรากฟันให้สะอาด ขั้นตอนนี้จะใช้เวลานาน เนื่องจากต้องกำจัดหินปูน และคราบจุลินทรีย์ให้หมด โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ร่องเหงือกลึก ๆ และฟันหลัง ที่มีหลายราก ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะต้องทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
ภายหลังจากรักษาเสร็จแล้วประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะนัดกลับมาดูอาการอีกครั้ง ว่าหายดีหรือไม่ และถ้ายังมีร่องลึกปริทันต์เหลืออยู่เนื่องจากมีการละลายของกระดูกไปมาก อาจจำเป็นต้อง ได้รับการผ่าตัด (ศัลยปริทันต์ : Periodontal Surgery) ร่วมด้วย ซึ่งจะทำได้ในผู้ป่วยที่ดูแลความสะอาด ได้ดีแล้วเท่านั้น
การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความพิการของกระดูกเบ้าฟันที่ถูกทำลายไปนั้น
ในบางกรณี สามารถที่จะปลูกกระดูกทดแทนได้ แต่ในบางครั้งก็ไม่อาจทำได้ การผ่าตัดเหงือกจะเป็นการเข้าไปทำความ สะอาดในตำแหน่งที่ลึกและเครื่องมือลงไปทำความสะอาดได้ไม่ถึง
เมื่อผ่าตัดแล้ว จะหายขาดหรือไม่
ผู้ป่วยโรคปริทันต์ ควรได้รับการตรวจติดตามผลการรักษา และให้ทันตแพทย์ขูดหินน้ำลายเพื่อ ทำความสะอาดฟันเป็นประจำทุก ๆ 3 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้โรคปริทันต์กลับมาอีก ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด คือ การใส่ใจดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากการแปรงฟันที่ถูกวิธี และใช้ไหมขัดฟัน เป็นประจำทุกวัน แต่อย่าเพิ่งกังวลไปนะคะ เพราะโรคปริทันต์ สามารถป้องกันได้ เพียงหันมาใส่ใจและให้ ความสำคัญกับการทำความสะอาดฟันและช่องปาก เลิกสูบบุหรี่ ส่วนผู้ที่เป็นโรคนี้ก็อย่าเพิ่งวิตกจนเกินไป เพราะหากได้รับการดูแลรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำจากทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด ท่านก็จะมีสุขภาพ เหงือกและฟันดีขึ้น และในบางครั้งผู้ป่วยที่มาพบคุณหมอในครั้งแรก แม้จะยังไม่ได้รับการรักษา เพียงแค่ พูดคุยทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามคำแนะนำในเรื่องการทำความสะอาดฟัน รับรองได้ว่าจะมีสุขภาพ เหงือกที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนเชียวค่ะ