โรคในช่องปาก

“โรคในช่องปาก”
ศัตรูตัวฉกาจของเด็ก ๆ

ทันตแพทย์หญิงนราวัลลภ์ เชี่ยววิทย์ :
งานทันตกรรม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 


            สุขภาพช่องปากเจ้าตัวน้อย ละเลยไม่ได้เชียวนะ ! ...ลองจับเจ้าตัวเล็ก อ้าปากกว้าง ๆ ดูความผิดปกติสิคะ ใช่แล้วค่ะ เรากำลังกล่าวถึงโรคในช่องปากของ เด็ก และที่เป็นกันมากที่สุดก็คือ “โรคฟันผุ” (dental caries) แหม ! ฟังดูสุดแสนจะ ธรรมดา ใคร ๆ ก็เป็นได้ แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจไปนะคะ เพราะหลาย ๆ ท่านอาจยัง ไม่รู้จักฤทธิ์เดชของเจ้าอาการฟันผุดีพอ แถมยังเป็นสาเหตุของความผิดปกติ และ โรคต่าง ๆ ในช่องปากที่บั่นทอนสุขภาพกายและใจอย่างพอสมควร เรามาทำ ความรู้จักไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ


กว่าจะ “ฟันผุ”
            สาเหตุของโรคฟันผุเกิดจากแบคทีเรียที่เกาะบนผิวฟัน ย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแล้วมีการสร้างกรดอินทรีย์ เช่น กรดแลคติกออกมา ทำให้เกิดสภาวะความเป็นกรดในช่องปาก ซึ่งกรดดังกล่าวจะไปละลายแร่ธาตุบนผิวเคลือบฟัน
อาการเริ่มแรก
            คุณหนู ๆ จะมีจุดขาวขุ่นบนตัวฟัน แต่ผิวเคลือบฟันยังแข็งอยู่ และรอยโรคสามารถหายเป็นปกติได้ โดยการใช้ ฟลูออไรด์ หรือ
CPP – ACP แต่ถ้ายังมีการสูญเสียแร่ธาตุจากกรดอยู่ จะทำให้ผิวเคลือบฟันกลายเป็นสีน้ำตาลดำและแตกออกเป็นรู ในระยะนี้จะเริ่มมีอาการเสียวฟัน อาจปวดฟันเวลาเศษอาหารติดฟัน เนื่องจากฟันผุลุกลามเข้าไปถึงชั้นเนื้อฟัน ซึ่งควรได้รับการรักษาโดยการ อุดฟัน หรือครอบฟันในกรณีที่รอยผุมีขนาดใหญ่
ถ้าฟันผุยังลุกลามต่อไป แบคทีเรียจะลุกลามเข้าไปในโพรงประสาทฟัน ทำให้เนื้อเยื่อของโพรงประสาทฟันอักเสบติดเชื้อ เกิด(pโรคประสาทฟันอักเสบ (pulpitis) ซึ่งในระยะนี้เด็กจะมีอาการปวดฟันซึ่งมักจะปวดตอนเย็นหรือกลางคืน ทันตแพทย์จะรักษา คลองรากฟันเพื่อกำจัดการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน แต่ถ้ายังไม่ได้รักษา การติดเชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็วสู่ปลายรากฟันทำให้เกิด โรคถุงหนองปลายรากฟัน (apical abscess) ซึ่งเด็กจะปวดฟันร่วมกับเหงือกอักเสบ บวมเป็นหนอง บางรายอาจมีอาการอักเสบติดเชื้อ ลามจากรากฟันไปยังอวัยวะข้างเคียง ทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลาม และเกิดการบวมอักเสบบริเวณใบหน้า และคอได้ ...ในระยะนี้เด็กจะ ได้รับการถอนฟันที่เป็นสาเหตุ ควบคู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อควบคุมการติดเชื้อในกรณีที่มีการติดเชื้อลุกลาม รุนแรง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กที่มีฟันผุลุกลาม
            จะปวดเรื้อรัง ติดเชื้อ มีภาวะขาดสารอาหาร ขาดโรงเรียนบ่อย ความมั่นใจใน ตัวเองลดลงเนื่องจากฟันที่ผุหรือฟันที่หายไป พูดไม่ชัด ฟันแท้ซ้อนเกอันเนื่องมาจากถอนฟันน้ำนมก่อนเวลาอันควร
ภูมิคุ้มกันธรรมชาติที่หนู ๆ ต่างมีกันทุกคน
            นั่นคือ “น้ำลาย” ซึ่งเป็นตัวหลักของระบบ ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อการเกิดฟันผุ บทบาทสำคัญของ น้ำลาย คือ การชะล้างอาหาร ปรับสภาพความเป็นกรดใน ช่องปาก เป็นตัวกลางช่วยลดการยึดเกาะและการเจริญ เติบโตของแบคทีเรียบนผิวเคลือบฟัน ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับ การไหลของน้ำลาย ดังนั้นในช่วงเวลาที่เด็กหลับ ซึ่งมีการไหลของ น้ำลายลดลง และหากยังคงได้รับน้ำตาลในช่วงนั้นก็จะ ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุเพิ่มขึ้น

เราจะป้องกันฟันผุได้อย่างไร
            เพื่อให้ลูกมีโครงสร้างฟันที่สมบูรณ์ รวมถึงลดการส่งผ่านเชื้อแบคทีเรียสู่ลูก ขณะตั้งครรภ์คุณแม่ ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ รวมถึงดูแล สุขภาพเหงือกและฟันให้แข็งแรงอยู่เสมอ และไม่ควรให้นมลูกเวลานอนเมื่อ ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้น รวมถึงไม่ควรให้ดูดนมหลับคาปาก หลีกเลี่ยงนมที่มี รสหวาน และควรให้ดูดน้ำสะอาดตามหลังเมื่อดูดนมทุกครั้ง นอกจากนี้ควร
            - ให้ดื่มนมเป็นมื้อ และเลิกให้นมมื้อดึก เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน และควรเลิกดูดนม จากขวดเมื่ออายุ ประมาณ 18 เดือน
            - ควรเริ่มทำความสะอาดช่องปากอย่างช้าที่สุดเมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น โดยใช้ผ้าสะอาดเช็ด สันเหงือก ลิ้นและกระพุ้งแก้ม เมื่อฟันกรามขึ้นแล้วควรใช้แปรงสีฟันขนนุ่มที่มีขนาดเหมาะสมแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง (เช้าและก่อนนอน) เป็นอย่างน้อย และผู้ปกครองควรช่วยแปรงฟันให้จนกว่าเด็กจะสามารถแปรง เองได้เป็นอย่างดี
            - ควรพาไปรับการตรวจสุขภาพช่องปาก ภายใน 6 เดือนหลังจากฟันซี่แรกขึ้น หรืออย่างช้า อายุไม่เกิน 1 ปีครึ่ง นอกจากนั้น ควรพาเด็กกลับมาตรวจเป็นระยะทุก ๆ 6 เดือน ส่วนในเด็กที่มีความเสี่ยงสูง แนะนำให้กลับมารับการตรวจทุก ๆ 3 - 4 เดือน เด็กบางคนถูกละเลยจนเป็นโรคฟันผุเรื้อรัง อาทิ โรคประสาทฟันอักเสบ โรคถุงหนอง ปลายรากฟัน และอาจลุกลามจนเกิดเป็นฝีหนองที่เหงือก รวมถึงเกิดฝีหนองหรือถุงหนองในกระดูก ขากรรไกรได้ ...ดังนั้นถ้าสามารถยับยั้งขบวนการเกิดโรคฟันผุได้ในระยะแรก ๆ ก็สามารถหลีกเลี่ยงความ เจ็บปวดจากฟันผุ การสูญเสียความสวยงาม และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคฟันผุได้
          เมื่อได้ทราบเช่นนี้แล้ว ผู้ปกครองทั้งหลายก็อย่าลืมพาเจ้าตัวเล็กมาพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะนอกจากจะเป็นการป้องกันได้ดีที่สุดแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังและลดความตื่นกลัวเมื่อต้องมาพบทันตแพทย์ต่อไปในอนาคตค่ะ

 

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด