“พังผืดใต้ลิ้น” ปัญหาที่ถูกซ่อนเร้นของลูกน้อย

“พังผืดใต้ลิ้น” ปัญหาที่ถูกซ่อนเร้นของลูกน้อย

ผศ.นพ.มงคล เลาหเพ็ญแสง
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
     คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


          เมื่อลูกน้อยเกิดมา อาหารที่สำคัญที่สุดก็คือ “น้ำนมจากมารดา” ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารครบถ้วน ทารกที่ได้รับน้ำนมจากมารดาจะมีร่างกายแข็งแรงและยังมีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ และในการที่จะดูดนมมารดาได้เป็นอย่างดีนั้นจะต้องอาศัย “ลิ้น” ช่วยในการดูดด้วย แต่ปัญหามีอยู่ว่ายังมีทารกจำนวนหนึ่งที่มีพังผืดใต้ลิ้นผิดปกติจนเกิดอุปสรรคในการดูดนม ดังนั้นเราไปรู้ถึงปัญหาที่เหมือนจะเล็กแต่ไม่เล็กของเจ้าตัวเล็กกันเลยครับ


          พังผืดใต้ลิ้น คือ เยื่อบางๆ บริเวณโคนลิ้นที่เกิดขึ้นในทารกทุกคนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ทารกบางรายอาจมีพังผืดติดมากกว่าปกติมาถึงบริเวณปลายลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการขยับปลายลิ้นหรือการเคลื่อนไหวของลิ้นไม่ดีเท่าที่ควร


          ปกติแล้วลิ้นมีหน้าที่ที่สำคัญอยู่หลายประการ แต่สำหรับทารกแรกเกิดนั้น ลิ้นมีหน้าที่ในการช่วยดูดนมจากเต้านมของมารดา โดยทารกจะแลบลิ้นไปที่ลานหัวนมและรีดน้ำนมเข้าช่องปาก ถ้าในกรณีทารกมีพังผืดติดใต้ลิ้นมากเกินไป ก็จะทำให้ปลายลิ้นขยับออกมา เลียลานหัวนมไม่ได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาเมื่อต้องดูดนมมารดา บางรายจะใช้เหงือกในการช่วยดูดนม ซึ่งจะทำให้มารดาเกิดความเจ็บปวดหัวนมแตกและเป็นอุปสรรคต่อการให้นมบุตรต่อไป


ความผิดปกติที่คุณแม่สังเกตได้
          ลูกคุณจะงับหัวนมไม่ค่อยติดเมื่อดูดนม  ดูดเบา ดูดบ่อย น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นตามกำหนด มีอาการตัวเหลือง สำหรับมารดาก็จะมีอาการเจ็บขณะที่ทารกดูดนม อาจมีหัวนมแตกเป็นแผลและส่งผลแทรกซ้อนถึงเต้านมอักเสบได้


         
จำเป็นต้องรักษาหรือไม่

          ในอดีตเราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดามากนัก ในกรณีที่เด็กทารกไม่สามารถดูดนมมารดาได้ก็จะแก้ไขด้วยการเลี้ยงด้วยนมขวด ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงทารกด้วยนมมารดามากขึ้นเนื่องจากพิสูจน์ได้แล้วถึงคุณค่าที่ดีกว่า จึงทำให้มารดาส่วนใหญ่ต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้


          จากเหตุผลดังกล่าวทำให้มารดาสังเกตความผิดปกติเรื่องของการดูดนมของเด็กทารกและทราบว่าเด็กทารกเหล่านี้มีปัญหาเรื่องของการติดยึดของพังพืดใต้ลิ้นจึงมารับการรักษาภาวะนี้กันมากขึ้น


ความก้าวหน้าในการรักษา
          การรักษาภาวะพังผืดใต้ลิ้นในเด็กทารกเป็นสิ่งที่ทางการแพทย์ให้ความสำคัญและมีการพัฒนามากขึ้น ในอดีตศิริราชใช้การดมยาสลบในการผ่าตัดทุกราย ทำให้สร้างความวิตกแก่พ่อแม่ของเด็กอย่างมาก แม้ทางการแพทย์จะมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยต่อเด็กทารกก็ตาม แต่ก็อาจจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ และเด็กทารกจะต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลต่ออีกอย่างน้อย 2-3 วัน


          ปัจจุบันคณะผู้ทำการรักษาได้ประยุกต์วิธีการผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่มาใช้ ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าทำการรักษาได้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับการรักษาโดยการดมยาสลบ และที่สำคัญที่สุด คือเด็กสามารถดูดนมและกลับบ้านได้ทันทีหลังจากได้รับผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย


ปัญหาอื่นของภาวะลิ้นติดนอกจากการดูดนมมารดา
          เนื่องจากลิ้นเป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งในการพูด โดยเฉพาะปลายลิ้นที่ต้องช่วยในขณะออกเสียงควบกล้ำ ดังนั้นในเด็กโตที่มีพังผืดยึดมาถึงบริเวณปลายลิ้นอาจพูดไม่ได้  พูดช้าและมีปมด้อยได้ แต่เนื่องจากพังพืดเกิดในทารกแรกเกิดมีแนวโน้มที่จะยืดออกเองได้ จึงยังไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนในการรักษา ขณะที่เป็นทารกแรกเกิด หากยังไม่มีปัญหาเรื่องการดูดนมมารดาแพทย์ก็จะทำการนัดมาตรวจเป็นระยะๆ หากพังพืดยืดออกได้เองก็ไม่ต้องทำการรักษา หากไม่ยืดออกก็จะพิจารณารักษาต่อไป

อุปสรรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูดนมของทารก
          นอกจากนี้ปลายลิ้นยังมีส่วนช่วยในการทำความสะอาดซอกฟัน จึงมีรายงานจากทางทันตแพทย์ว่า ภาวะลิ้นติดมากๆ อาจส่งผลถึงสุขภาพปากและฟันได้ด้วย


          ลูกน้อยเป็นดวงใจของพ่อแม่ การดูแลและสังเกตอาการของเขาด้วยความใกล้ชิดเป็นเรื่องไม่ยาก ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรละเลยอาการที่ผิดปกติการปรึกษาแพทย์และทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้ลูกน้อยของคุณปลอดภัยจากการเริ่มต้นภาวะการณ์ต่างๆ ที่จะตามมานะครับ
  
 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด