ใครว่า! เป็นโรคหัวใจแล้วออกกำลังกายไม่ได้

ใครว่า! เป็นโรคหัวใจแล้วออกกำลังกายไม่ได้

อ.นพ.วิทยา ไชยธีระพันธ์
สำนักงานศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

          เป็นที่ทราบกันดีว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์ทั้งสุขภาพกายใจ แถมป้องกันโรคหัวใจและช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น  จากผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่า สำหรับคนทั่วไปต้องออกกำลังกายในระดับปานกลาง หรือสูง อย่างน้อย 30 - 45 นาที ต่อวัน  3-5 วันต่อสัปดาห์ จึงจะได้ผล
 
          สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจแล้ว  การออกกำลังกายก็ยังมีประโยชน์อย่างมาก โดยมีจุดมุ่งหมายใหญ่ ๆ  2 ข้อ คือ
          1.  เพื่อลดการดำเนินโรคและยืดอายุผู้ป่วย  
          2.  เพื่อรักษาให้สุขภาพกลับไปแข็งแรงใกล้เคียงหรือเท่าๆ กับก่อนจะเป็นโรคหัวใจ
 
          ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายเรื่องที่ยืนยันว่า การออกกำลังกายจะให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง   และหัวใจล้มเหลวเรื้อรังได้เป็นอย่างดี แต่ในกลุ่มโรคหัวใจอื่น ๆ เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือความพิการทางหัวใจแต่กำเนิด ก็เชื่อว่าน่าจะได้ประโยชน์เช่นกัน เพียงแต่ยังไม่มีหลักฐานและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

ออกกำลังกายแค่ไหนถึงพอเหมาะ
          โดยพื้นฐานก็คล้าย ๆ กับในคนปกติ เพียงแต่ควรจะเน้นไปที่การออกกำลังกายในระดับปานกลาง   เช่น เต้นแอโรบิค    เดินเร็ว    ขี่จักรยาน   วิ่งเหยาะๆ   และว่ายน้ำ ส่วนกีฬาที่แนะนำ ได้แก่ ปิงปอง เทนนิสคู่ กอล์ฟ เป็นต้น
 
          ก่อนออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาใด ๆ ผู้ป่วยทุกคนควรปรึกษาแพทย์และควรออกกำลังแต่พอเหมาะ  ช่วงที่เริ่มออกกําลังกายระยะแรก  ควรซ้อมเบาๆ ค่อยเป็นค่อยไป  ไม่รีบร้อน และหยุดพักเมื่อเริ่มเหนื่อยหรือแน่นหน้าอก หลังจากที่เริ่มเคยชินก็ค่อยๆ เพิ่มเวลาของการออกกำลังกาย จนสามารถทําได้อย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป และทําเป็นประจําทุกวัน ที่สำคัญต้องไม่ลืมเตรียมร่างกาย (Warming up and down) ก่อนและหลังการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากและควรทำทุกครั้ง

          สำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เพิ่งฟื้นตัวจากภาวะเฉียบพลันทางหัวใจหรือเพิ่งรับการผ่าตัดมา ไม่ว่าจะด้วยการใส่สายสวนหัวใจ หรือผ่าตัดหัวใจ แพทย์จะต้องทำการทดสอบสมรรถภาพหัวใจ เช่น การเดินสายพาน เพื่อประเมินผลการรักษา และสมรรถนะร่างกายผู้ป่วย จากนั้นจึงสามารถให้คำแนะนำการออกกำลังกายทั้งประเภท ระดับ และระยะเวลา  ตลอดจนกำกับการฟื้นฟูร่างกายให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย (Cardiac rehabilitation program)

 จะมีผลข้างเคียงหรืออันตรายหรือไม่ 
          ความผิดปกติทางหัวใจที่อาจเกิดขณะออกกำลังกาย ขึ้นกับประเภทและความรุนแรงของผู้ป่วยโรคหัวใจ ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย โอกาสเกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายมีน้อยมาก ส่วนในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบมาก การออกกําลังเกินขนาด อาจทําให้มีอาการเจ็บ แน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่วนโรคหัวใจล้มเหลวและหัวใจประเภทอื่นๆ นั้น อาจจะมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้นผิดปกติจากภาวะเลือดคั่งในปอด   ซึ่งเป็นอาการเริ่มของภาวะหัวใจล้มเหลว จึงต้องเน้นย้ำว่าก่อนเริ่มการออกกำลังกายหลังเป็นโรคหัวใจผู้ป่วยควรได้รับผ่านการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสมอ

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่ออาการกำเริบ
          จะต้องหยุดการออกกำลังกายทันที นั่งพักในที่ที่อากาศถ่ายเทดี ในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบและแน่นหน้าอก การใช้ยากลุ่มไนโตรกลีเซอรีนแบบพกพา  อมหรือพ่นใต้ลิ้น ก็มักจะได้ผลอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยที่เหนื่อยหอบมากขึ้นผิดปกติจากภาวะเลือดคั่งในปอด ยาขับปัสสาวะก็จะสามารถบรรเทาอาการได้ ที่สำคัญควรมีการเตรียมผู้ป่วยเพื่อส่งโรงพยาบาลหากอาการรุนแรงระหว่างที่ให้การรักษาไปด้วย

ข้อควรระวัง
          ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความเสี่ยงปานกลางขึ้นไป ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ใช้กำลังมากและมีการแข่งขัน เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ยกน้ำหนัก เพราะจะเพิ่มภาระต่อระบบหัวใจและปอดมาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน   หรือหัวใจวายเฉียบพลัน
 

           แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นสิ่งที่ดีต่อหัวใจและสุขภาพโดยรวม แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้างในผู้ป่วยโรคหัวใจ  ฉะนั้นหลังจากผ่านการประเมินจากแพทย์แล้วการออกกำลังกายควรทำด้วยความระมัดระวัง ค่อยเป็นค่อยไป และรู้จักประเมินสมรรถภาพของตัวผู้ป่วยเองด้วย ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายให้แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้นแม้จะมีโรคหัวใจก็ตาม

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด