การปฏิบัติตนในการรักษาฝ้า กระ หรือรอยดำ

การปฏิบัติตนในการรักษาฝ้า   กระ  หรือรอยดำ

                            

รศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน

ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

1.   กระ หรือฝ้า  คือรอยดำในชั้นผิวหนัง  ซึ่งเกิดจากเซลล์ที่สร้างเม็ดสี ทำงานมากผิดปกติ  ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ  เช่น    พันธุกรรม  ฮอร์โมน  (เช่น  ฮอร์โมนเอสโตรเจน  ในเพศหญิง  อาจทำให้เกิดฝ้า  กระได้ระหว่างตั้งครรภ์  หรือผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด  อาจมีฝ้าหรือกระได้), ความเครียด  การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ  แสงอุลตร้าไวโอเลต  (Ultraviolet)  ในแสงแดด    ส่วนรอยดำบนผิวหนังอาจเกิดจาก  รอยสิว  การอักเสบหรือการระคายเคืองบนใบหน้า

 

2.    ถ้าพยายามป้องกันสาเหตุดังกล่าว  ( ถ้าสาเหตุนั้นป้องกันได้ ) ก็จะไม่ทำให้   ฝ้า  กระ  หรือรอยดำเข้มขึ้น  เช่น  ใช้ยาฉีดหรือวิธีอื่นในการคุมกำเนิด  ( หลีกเลี่ยงยารับประทานในการคุมกำเนิด  หรือเลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีผลต่อฝ้า  กระ น้อยที่สุด )  หลีกเลี่ยงความเครียด  และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ  ทาครีมกันแดดให้ถูกต้อง

 

3.   หลักในการทาครีมกันแดด  มีดังต่อไปนี้

    3.1) เลือกใช้ครีมกันแดดที่ถูกต้อง  คือป้องกันได้ทั้งแสงอุลตร้าไวโอเลต  ชนิด A  และ B (  UVA  และ  UVB )  โดยครีมกันแดดที่ดีควรมีค่า  SPF  ตั้งแต่  30  ขึ้นไป ( ถ้าต้องอยู่ กลางแจ้งนาน  เช่น  มีกิจกรรมกลางแดด  หรือต้องสัมผัสแดดตลอดเวลา  ควรเลือกใช้ค่า SPF  60   ขึ้นไป )

    3.2)  ควรทาครีมกันแดด  อย่างน้อยวันละ  2  รอบคือ  เช้า  และบ่าย   เนื่องจากครีมกันแดดที่ใช้โดยทั่วไป  มักอยู่ ปกป้องผิวหน้าได้เพียง  4-5  ชั่วโมง  ต่อการทา 1 ครั้ง  ดังนั้น การทาครีมกันแดดตอนเช้าเพียงครั้งเดียว  ไม่สามารถป้องกันแดดได้ตลอดวัน  ในช่วงบ่าย  ถ้าเป็นไปได้  ควรทาอีกรอบหลังล้างหน้า  แสงอุลตร้าไวโอเลต  มักจะแรงในช่วงตั้งแต่ 10 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น

    3.3)  ถึงแม้ว่าจะทาครีมกันแดดแล้ว  เวลาออกแดด  ควรใช้ร่ม  หรือหมวกร่วมด้วยเสมอ  เป็นการป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลต 2 ชั้น  และความร้อนอาจทำให้ครีมกันแดดละลาย  เปิดช่องว่างของใบหน้าต่อแสงแดดได้

 

4.    การทำให้ฝ้า  กระ  หรือ รอยดำ  จางลงมี  2  วิธีคือ

   4.1) ใช้ยาทาเพื่อให้  ฝ้า  กระ  หรือรอยดำจางลง  วิธีนี้ใช้เวลานานเป็นเดือน ๆ  แล้วแต่การตอบสนองของผิวหนังแต่ละคนซึ่งจะตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างกันไป  บางรายดีขึ้นเร็ว  บางรายอาจจะดีขึ้นช้า

   4.2)  การทำทรีทเม้นต์  ได้แก่  AHA ทรีทเม้นต์,  Iontophoresis,  การลอกหน้าด้วยกรดผลไม้, การกรอขัดผิว (Microdermabrasion),  Mesotherapy  ซึ่งถ้าทำทรีทเม้มต์ร่วมกับการใช้ยาทาจะทำให้รอยดำ  ฝ้า  กระ  จางลงเร็วขึ้น   หน้าใสมากขึ้น­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­

 

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด