ลมหนาว...วายร้ายของเจ้าตัวน้อย (1)

ลมหนาว...วายร้ายของเจ้าตัวน้อย

ผศ.พญ.เกษวดี  ลาภพระ

กุมารแพทย์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

หน้าหนาวนี้  ทารกทั้งหลายมักเจอสารพันปัญหาสุขภาพ  เนื่องจากธรรมชาติของเจ้าตัวน้อยมีผิวอันแสนบอบบาง   มีช่องทางเดินหายใจขนาดเล็ก  มีปริมาณน้ำในร่างกายน้อยกว่าในเด็กโต  ทั้งความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรคก็ยังน้อยอยู่   เหตุนี้จึงต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ   มาดูกันเลยค่ะว่ามีอะไรบ้าง

 

ผิวนุ่มๆ ถูกรังแก

            ฤดูหนาว  เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นทั้งความชื้นในอากาศยังลดลง ทำให้น้ำระเหยจากผิวหนังจนเสียความชุ่มชื้นง่าย โดยเฉพาะเด็กทารกและเด็กเล็กมีผิวที่บอบบาง ไวต่ออากาศที่เปลี่ยนแปลง ผิวมักแห้งเกิดผื่นคันได้ง่าย ช่วงนี้จึงไม่ควรให้เด็กอาบน้ำร้อนเกินไปหรือแช่น้ำนานๆ และไม่ควรใช้สบู่มากไป เพราะจะทำให้ไขมันตามธรรมชาติที่เคลือบผิวหนังอยู่หลุดออกไป ถ้าผิวแห้งมาก หลังอาบน้ำแล้วให้ทามอยส์เจอไรเซอร์หรือครีมบำรุงผิวที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ ก็จะช่วยเคลือบผิวไม่ให้น้ำที่ผิวหนังระเหยไปง่าย ๆ ทำให้ผิวชุ่มชื้นขึ้น

 

            นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังอาจป่วยจากโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถทนต่อความเย็นและแพร่ขยายพันธุ์ได้เร็วในฤดูหนาว เช่น ไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ โรคสุกใส  โรคหัด  โรคเหล่านี้ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยเข้าไป  รวมทั้งโรคสุกใสยังอาจติดต่อโดยการสัมผัสตุ่มน้ำที่ผิวหนังของผู้ป่วยได้

 

ฮัดชิ้ว!  ไข้หวัดมาเยือน

                ในเด็กทารก อาการเริ่มของไข้หวัด มักจะมีอาการไข้นำมาก่อน ส่วนเด็กเล็ก ๆ หรือเด็กโตกว่าอาจจะไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำ ๆ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม อาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ส่วนไข้หวัดใหญ่มักจะมีไข้สูง และปวดกล้ามเนื้อ

 

               โดยทั่วไปอาการของไข้หวัดใหญ่จะรุนแรง ยาวนาน และมีภาวะปอดอักเสบแทรกซ้อนได้บ่อยกว่าไข้หวัดธรรมดา  การป้องกันที่ดีที่สุด คือ จะต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง   รับประทานอาหารที่มีประโยชน์  พักผ่อนให้เพียงพอ  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  รักษาร่างกายให้อบอุ่น ยิ่งผู้ปกครองไม่ควรสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในห้องที่มีเด็กอยู่  ถ้ามีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดอยู่ในบ้านก็ไม่ควรให้คนที่ป่วยเลี้ยงดูหรืออยู่ใกล้ชิดเด็ก และควรใช้ผ้าปิดปากเวลาไอหรือจาม จัดที่อยู่ให้สะอาด  หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด

 

การรักษาไข้หวัดนั้น แพทย์จะแนะนำผู้ปกครองให้ดูแลเด็กตามอาการ เช่น ให้นอนพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมากขึ้น   อาจเป็นน้ำผลไม้ หรือน้ำแกงจืดก็ได้  ถ้ามีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว   และให้ยาลดไข้พาราเซตามอลในปริมาณที่เหมาะสมตามแพทย์สั่ง  หรือตามที่ระบุไว้ในฉลากยา  และอย่าให้ซ้ำเกินกว่าทุก 4 ชั่วโมง เพราะยาอาจสะสมทำให้เป็นพิษต่อตับได้ นอกจากนี้ หากเกิดอาการคัดจมูกหรือแน่นจมูกมาก ให้ใช้น้ำเกลือหยอดจมูกในเด็กเล็ก ๆ และช่วยดูดน้ำมูกออก จะช่วยให้เด็กสบายขึ้น

จะว่าไปแล้ว โดยทั่วไปเด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัด มักจะหายเองภายใน 1 สัปดาห์ ถ้ายังไม่หายควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบได้

 

จุด จุด จุด อุ๊ยนั่น “โรคสุกใส”

เด็กที่ป่วยจะเริ่มมีไข้ต่ำ ๆ ต่อมามีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัว โดยเริ่มเป็นผื่นแดง ตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ(ตุ่มใส) ในวันที่ 2-3 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้ หลังจากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง (ตุ่มสุก) แล้วเริ่มแห้งตกสะเก็ด เนื่องจากมีทั้งตุ่มสุกและตุ่มใส จึงเรียกว่า อีสุกอีใส หรือ โรคสุกใส โดยทั่วไปโรคนี้มักหายได้เองเป็นปกติ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนทางสมอง และปอดอักเสบได้  

 

การรักษา ส่วนใหญ่รักษาตามอาการ  โดยให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อน เช็ดตัวในช่วงที่มีไข้สูง  ไม่ควรเกาผิวหนังบริเวณที่มีตุ่มน้ำ เพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เป็นฝีหนองที่ผิวหนังได้ ควรรักษาความสะอาดของร่างกายและตัดเล็บให้สั้น   แพทย์อาจให้ยารับประทานหรือยาทาเพื่อบรรเทาอาการคัน ในเด็กโตที่ป่วยเป็นโรคสุกใส  มักจะมีอาการมากกว่าเด็กเล็ก ๆ แพทย์อาจจะสั่งยาที่ลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสสุกใสให้ผู้ป่วยรับประทาน ซึ่งจะลดปริมาณตุ่มที่ขึ้นตามผิวหนังได้  แต่ต้องรับประทานยาตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เริ่มมีอาการ  เด็กที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำและป่วยเป็นโรคสุกใสต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษา  สำหรับเด็กนักเรียนควรให้หยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อพักรักษาตัวและป้องกันการแพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆ ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด