โรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของสาวออฟฟิศ

โรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของสาวออฟฟิศ

ผศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์
ภาควิชาอายุรศาสตร์

อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหาร
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ญาดาเป็นหญิงสาววัยทำงาน ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบสูง  ชีวิตของเธอแต่ละวันมักทุ่มเทเวลาให้กับงานเป็นส่วนใหญ่  จนบ่อยครั้งถึงกับลืมเรื่องอาหารการกินไปเลยทีเดียว  มาในระยะหลังเธอมักบ่นว่า “หมู่นี้ดาเป็นอะไรก็ไม่รู้  รู้สึกเรอเปรี้ยว ปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่...ลามมาถึงคอ” ฉันได้ยินก็อดห่วงไม่ได้กลัวว่าจะเป็นอะไรมากไปกว่านี้ จึงพาเธอไปพบแพทย์  ที่สุดญาดารู้ว่าตนเป็น “โรคกรดไหลย้อน”  คำถามแรกของเธอคือ “จะทำอย่างไรดีคะหมอ” และนี่คือคำถามที่มีคำตอบให้ในบรรทัดถัดไปค่ะ 

 

รู้จักโรคกรดไหลย้อน

“โรคกรดไหลย้อน” หรือ Gastroesophageal Reflux Disease (GERD) เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร   โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้

 “เนื่องจากโรคกรดไหลย้อนจะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้าย ๆ กับอาการของโรคกระเพาะอาหาร จึงทำให้คนส่วนใหญ่มักจะเหมารวมว่าตนเองอาจจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยาลดกรด (antacids)  ที่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาดมารับประทาน ซึ่งยาประเภทนี้มีประสิทธิภาพไม่สูงพอที่จะรักษา  ทำให้การรักษาไม่ตรงจุด โดยเฉพาะคนไทยเรามักจะชอบซื้อยามารับประทานเองและคิดว่าการไปพบแพทย์เป็นเรื่องใหญ่  ระยะหลังมานี้จึงพบโรคกรดไหลย้อนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ “

 

 

 

 

ต้นเหตุของปัญหา

โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การคลายตัวของหลอดอาหารส่วนปลายโดยที่ไม่มีการกลืน พบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีจำนวนครั้งของภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าในคนปกติ ซึ่งสาเหตุนี้ถือเป็นภาวะสำคัญของโรค นอกจากนี้ยังเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ  ได้แก่

             • ความดันของหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าในคนปกติ หรือเกิดมีการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารมากขึ้น

              • ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร

              •  เชื้อแบคทีเรียบางชนิดหรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน

โรคนี้มีความสำคัญ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการแสบยอดอกและ/หรือร่วมกับมีภาวะเรอเปรี้ยว  คือมีกรด ซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาที่คอหรือปาก  และจะเป็นมากขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก  การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย ภาวะนี้อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบหรือเป็นมากจนเกิดแผลรุนแรง ถึงกับทำให้ปลายหลอดอาหารตีบหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหารได้ บางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้   ผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยอาการทางด้านของโรคหู คอ จมูก อาทิ ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง หรือหอบหืด  เจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ หรือมีกลิ่นปาก เป็นต้น

 

พบได้ในเด็กหรือไม่

โรคนี้สามารถพบได้ตั้งแต่ทารกจนถึงเด็กโต ในเด็กเล็กอาการที่ควรนึกถึง ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย  ไอเรื้อรัง  หอบหืด  ปอดอักเสบเรื้อรัง  ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับได้

 

วินิจฉัยอย่างไร

             โดยปกติแพทย์สามารถวินิจฉัยจากอาการดังที่กล่าวมา โดยผู้ป่วยที่มีอาการทั้งแสบยอดอกและ/หรือเรอเปรี้ยว (ทั้งนี้ไม่ควรมีอาการที่บ่งบอกว่าน่าจะเป็นโรคอื่น อาทิ น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือด หรือมีไข้)  แพทย์สามารถวินิจฉัยได้เลยว่า ผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนและให้การรักษาเบื้องต้นได้ทันที  โดยจะติดตามดูอาการของผู้ป่วย ในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจค้นพิเศษเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร  กลืนแป้ง หรือตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร และตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร ซึ่งพบว่าได้ผลแม่นยำดีที่สุดในปัจจุบัน

 

จะดำเนินชีวิตอย่างไรถ้าเป็น

โดยทั่วไปเป้าหมายของการรักษา  แพทย์จะมุ่งเน้นให้อาการของผู้ป่วยดีขี้น รักษาอาการอักเสบของแผลในหลอดอาหารและป้องกันผลแทรกซ้อน  การรักษามีตั้งแต่  การเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การให้ยา การส่องกล้องรักษาและการผ่าตัด  ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ตั้งแต่

• หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา

• หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง  ช็อกโกแลต

• ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป

    •  ระวังไม่ควรรับประทานอาหารในแต่ละมื้อมากเกินไป  โดยเฉพาะมื้อเย็น    ควรรับประทาน

        อาหารและไม่ควรนอนทันทีหลังจากนั้น 3 ชั่วโมง

     •  นอนตะแคงซ้าย  เนื่องจากการนอนตะแคงซ้ายทำให้หูรูดมีจำนวนครั้งของการคลายตัว  

                 น้อยลงและนอนหนุนหัวเตียงให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว

              •  ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดเกินไป

  •  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 

ทำตัวใหม่แล้วอาการไม่ดีขึ้น  ควรทำอย่างไรต่อ

             ถ้าการดำเนินชีวิตเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย

             ปัจจุบันยาที่ได้ผลดีที่สุด  คือ ยาลดกรดในกลุ่ม Proton pump inhibitors   ยาประเภทนี้มีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันการเกิดอาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และมีประสิทธิภาพสูงมากในการสมานแผลของหลอดอาหาร โดยที่แพทย์จะให้รับประทานยาในกลุ่มนี้เป็นเวลา 6 - 8 สัปดาห์  บางรายที่เป็นมาก อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี  ซึ่งอาจจะมีการปรับการรับประทานยาเป็นแบบช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือไม่กี่วันตามอาการที่มี  หรือรับประทานติดต่อกันตลอดเป็นเวลานาน

          อย่างไรก็ตาม การใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์   ในรายที่รับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาการรักษาด้วยการส่องกล้องหรือผ่าตัด

โรคกรดไหลย้อน  แม้ว่าจะไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิต  แต่เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานลดลง ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังถูก "โรคกรดไหลย้อน" คุกคาม ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและ รักษาต่อไป เพราะหากละเลยไม่ยอมรักษานานๆ ไปอาจทำให้เรื้อรังกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้เช่นกัน

  สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถค้นหาโรคกรดไหลย้อนได้ที่ www.gerdthai.com

 

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด