กระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรคร้ายที่รักษาได้ (ตอนที่ 2 )

กระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรคร้ายที่รักษาได้ (ตอนที่ 2)

 

อ.ประจักษ์  ศรีรพีพัฒน์

ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

                                            

            2.กลุ่มที่มีการแตกของกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพองและมีเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง อะแร็คนอยด์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดศีรษะและต้นคออย่างมาก บางรายอาจมีระดับความรู้สึกตัวที่ลดลง ซึมหลับแพทย์จะส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ของสมองเพื่อยืนยันภาวะเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมองอะแร็คนอยด์เมื่อพบแล้ว แพทย์จะส่งตรวจเพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือดสมองโดยใช้การฉีดสารทึบรังสีหรืออาจใช้เทคนิคการตรวจหลอดเลือดสมองโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRA)หรือใช้เทคนิคการตรวจหลอดเลือดสมองโดยใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์(CTA)ก็ได้ เมื่อพบความผิดปกติแล้ว ประสาทศัลยแพทย์จะให้การรักษาโดยรีบด่วน เพื่อป้องกันการแตกช้ำของกระเปาะหลอดเลือดนั้นซึ่งโอกาสแตกช้ำในช่วงระยะแรกที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลนี้สูงมากและโอกาสเสียชีวิตจากาการแตกช้ำสูงถึง 60-90% การรักษาที่เป็นมาตรฐาน ได้แก่การผ่าตัดเพื่อหนีบกระเปาะหลอดเลือดสมองที่โป่งพอง  ในปัจจุบันให้ผลการรักษาที่ดีมากผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่จะหายขาดและใช้ชีวิตได้ตามปกติมีเพียงน้อยรายที่จะมีภาวะทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะขึ้นอยู่กับภาวะความเสียหายของสมองและระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วยก่อนทำการผ่าตัดรักษา จากการศึกษาผลการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราชพบว่าการผ่าตัดรักษาโดยรีบด่วนให้ผลการรักษาดีและดีมาก รวมกันประมาณ90% ของผู้ป่วย  ในปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพองที่แตกโดยใช้วิธีใส่ขดลวดสปริงเพื่อทำให้กระเปาะหลอดเลือดนั้นตีบตันเป็นวิธีที่เริ่มใช้กันมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยลักษณะทางกายภาพของกระเปาะหลอดเลือดสมองที่โป่งพองนั้นและการตัดสินใจของทีมแพทย์ผู้ร่วมทำการรักษา ผลการรักษาดีขึ้นตามลำดับ

 

3.กลุ่มที่มีอาการจากการกดทับสมองหรือเส้นประสาทสมองหรือจากการที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันจากกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพองขนาดใหญ่  ประสาทศัลยแพทย์จะทำการส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง,คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองและตรวจหลอดเลือดสมองโดยใช้สารทึบรังสีเพื่อประเมินลักษณะทางกายภาพของกระเปาะหลอดเลือดนั้น และยังต้องประเมินระดับความเพียงพอของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกรณีที่ต้องทำการผ่าตัดตัดต่อหลอดเลือดสมองหรือหนีบหลอดเลือดสมองถาวร  การรักษาพยาธิสภาพขนาดใหญ่นี้มีหลายวิธี เช่นการหนีบกระเปาะหลอดเลือดสมองที่โป่งพองนั้นโดยตรง,การตัดต่อหลอดเลือดสมองกรณีที่ต้องหนีบหลอดเลือดเดิมทิ้ง เป็นต้น ผลการผ่าตัดรักษาของผู้ป่วยกลุ่มนี้ในโรงพยาบาลศิริราช ได้ผลดีมากอัตราเสียชีวิตต่ำ และมีอาการแทรกซ้อนน้อย  ในผู้ป่วยบางรายทีมแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการใส่ขดลวดสปริง(Coiling)เข้าไปภายในกระเปาะหลอดเลือดนั้น เพื่อทำให้เกิดการตีบตันขึ้นโดยการพิจารณาวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทีมแพทย์หลายสาขาวิชาร่วมกัน  จากข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอจะพบว่าผลการรักษาผู้ป่วยโรคกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพองนั้นดีขึ้นมากในปัจจุบันแม้ในรายที่มีอาการรุนแรงจากการแตกของกระเปาะหลอดเลือดผู้ป่วยก็สามารถหายกลับบ้านได้ และใช้ชีวิตได้ตามปกติเป็นส่วนใหญ่ และโดยเฉพาะผู้ป่วยที่พบพยาธิสภาพในขณะที่ยังไม่เกิดการแตกของกระเปาะหลอดเลือดสมองโป่งพองจะมีผลการรักษาที่ดีมากเกือบทั้งหมดเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการตรวจรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญความเข้าใจในภาวะเหล่านี้ของผู้ป่วย และญาติ ซึ่งจะทำให้ภาวะหรือโรคที่เคยเป็นโรคอันตรายร้ายแรง หมดหวังในอดีตกลายเป็นโรคที่รักษาได้ และได้ผลดี

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด