โรคต้อหิน

โรคต้อหิน

อ.พญ. ดารินทร์ สากิยลักษณ์
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

           โรคต้อหินเป็นโรคของดวงตาที่พบบ่อย และมีอันตรายอย่างมากถึงขั้นตาบอดสนิท ถ้าไม่รักษา หรือรักษาไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ลานสายตาหรือความกว้างของการมองเห็นแคบเข้า จนกระทั่งสูญเสียการมองเห็นไปทั้งหมดได้ ซึ่งการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินนั้น เป็นการสูญเสียถาวรไม่สามารถจะแก้ไขให้คืนมาได้

ลักษณะของต้อหินเป็นอย่างไร
           ต้อหินเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคต้อตามที่ประชาชนเรียกกันโดยทั่ว ๆไป ที่พบบ่อย ๆ มีต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อลม และต้อหิน แต่ต้อหินเป็นต้อเพียงชนิดที่ไม่มีตัวต้อให้เห็น เพราะต้อหินจริงๆแล้วเป็นกลุ่มโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงถูกทำลายของขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นตัวนำกระแสการมองเห็นไปสู่สมอง ซึ่งเมื่อขั้วประสาทตาถูกทำลายจะมีผลทำให้สูญเสียลานสายตา เมื่อเป็นมาก ๆ ก็สูญเสียการมองเห็นในที่สุด เป็นการสูญเสียถาวรรักษาให้กลับคืนมามองเห็นไม่ได้ โดยอาการที่พบสำคัญมีแทบในทุกรายก็คือ มีความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้ขั้วประสาทตาถูกทำลายได้ง่าย

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน
           สาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากการเสื่อมของร่างกายเอง โรคต้อหินเป็นกลุ่มโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงทำลายของขั้วประสาทตา ไม่มีสาเหตุปัจจัยภายนอก หรือพบร่วมกับโรคทางตาอื่น ๆ ที่แทรกซ้อนมาจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดรักษาโรคอื่น ๆ ในดวงตา หรือแม้แต่เกี่ยวพันกับโรคทางกายอื่น ๆ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด และเป็นปัจจัยอย่างเดียวที่ควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ ความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากความเสื่อมข้างในลูกตาหรือเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากยาที่ใช้ อุบัติเหตุหรือการผ่าตัด

กลุ่มผู้ป่วยใดที่พบมากที่สุด
           พบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ แต่กลุ่มที่พบมากที่สุด คือกลุ่มผู้สูงอายุ โดยผู้มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีญาติใกล้ชิด เช่น พี่น้องบิดามารดาเป็นต้อหิน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินมากกว่าบุคคลอื่นๆ คนที่มีระดับความดันตาปกติค่อนข้างสูงโดยเฉพาะสูงมากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ซึ่งในอนาคตมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหินมากกว่าคนที่มีความดันตาปกติค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ยังพบในคนไข้ที่เป็นเบาหวานได้ ค่อนข้างมาก อาจจะมากกว่าคนปกติโดยทั่วไป หรือพบในคนไข้ที่มีโรคการไหลเวียนเลือดไม่ดีทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ขั้วประสาทตาไม่ดี คนที่สายตาสั้น หรือยาวมากๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินแตกต่างชนิดกันไป

ระยะเวลาของการเกิดโรคต้อหิน
           การดำเนินของโรคจากเริ่มเป็นจนถึงการสูญเสียการมองเห็น ใช้เวลานานเป็นปี ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้อหินที่เกิดจากความเสื่อม ซึ่งไม่มีอาการใด ๆ จนกระทั่งสูญเสียการมองเห็น ซึ่งใช้เวลา 5 - 10 ปี จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าจะตรวจพบต้อหินระยะใด เช่น พบตั้งแต่ระยะเพิ่งเริ่มเป็นจะสามารถคุมไว้ได้ และอาจจะไม่สูญเสียการมองเห็น แต่ถ้าตรวจพบต้อหินระยะที่เป็นมากแล้วหรือระยะท้ายๆ คนกลุ่มนี้อาจสูญเสียการมองเห็นได้ในเวลาอันรวดเร็วอาจจะเป็นเดือนก็ตาบอด
           อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปจะไม่ทราบว่าตัวเองนั้นเริ่มเป็นต้อหิน ยกเว้นต้องมาให้จักษุแพทย์ตรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มต้อหินที่เป็นระยะเรื้อรังจากความเสื่อมที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่จะมีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ต้อหินเฉียบพลัน ซึ่งจะมีอาการปวดตา ตาแดงทันทีทันใด ปวดมากจนคลื่นไส้อาเจียนต้องมาโรงพยาบาล ซึ่งพบได้ไม่น้อย

ขั้นตอนการตรวจหาต้อหิน
           เริ่มแรกจะต้องวัดการมองเห็นก่อนว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ที่เน้นสำหรับการตรวจต้อหิน คือการวัดความดันลูกตา ซึ่งเป็นการตรวจที่สำคัญมากของการตรวจต้อหินเพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวที่ควบคุมได้ นอกจากนั้นยังตรวจการทำงานและรูปร่างลักษณะของขั้วประสาทตาซึ่งเป็นอวัยวะที่กระทบกระเทือนโดยตรงจากต้อหิน

ลักษณะการสูญเสียของต้อหิน
           การมองในทางตรงจะยังมองเห็นอยู่ โดยที่การมองเห็นนั้นจะค่อย ๆ แคบเข้า ที่เรียกว่า ลานสายตาผิดปกติ คือโดยปกติคนเรามองตรงไปข้างจะมองเห็น ด้านข้างก็จะพอมองเห็นถึงแม้จะไม่ชัดเหมือนจุดที่เรามองตรง แต่ในกลุ่มคนที่เป็นต้อหินนั้น การมองเห็นด้านข้างจะค่อย ๆ แคบเข้า ๆ ช้า ๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ทราบและจะบอกไม่ได้เพราะจะใช้สองตาช่วยดูกันอยู่เพราะไม่ได้เปิดตาเดินทีละข้าง และทดสอบตัวเองเป็นประจำ และยังทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติจนกระทั่งการสูญเสียลานสายตานั้นเข้ามาถึงบริเวณตรงกลางแล้ว ทำให้ภาพที่เรามองนั้นไม่ชัดจึงมาพบแพทย์ ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นระยะท้าย ๆ แล้ว

วิธีการรักษาโรคต้อหิน
           หลักการรักษา ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือลดความดันตา เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวที่ควบคุมได้ การลดความดันในลูกตานั้นมี 3 วิธีหลัก ๆ คือ ใช้ยา ใช้เลเซอร์ผ่าตัด โดยทั่วไปการรักษาต้อหินนั้น จะมีบางกลุ่มมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้เลเซอร์ แต่โดยทั่วไปนั้นต้องพยายามควบคุมด้วยยาให้ได้ก่อน เพราะถ้าควบคุมด้วยยาหรือเลเซอร์ไม่ได้ แล้วจึงผ่าตัดรักษา ความก้าวหน้าของการรักษา แต่เดิมมีเพียงยาหยอด 5-6 ชนิด ปัจจุบันมียาหยอดรักษาต้อหิน 14 ชนิด นอกจากจะมียาหยอดตาแล้ว ยังมียากิน ยาเม็ด ยาน้ำที่ช่วยลดความดันตาได้ ส่วนการรักษาทางด้านเลเซอร์มีข้อบ่งชี้เฉพาะของต้อหินแต่ละอย่างไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก สำหรับการผ่าตัดต้อหินเพื่อลดความดันลูกตา แพทย์จะต้องมีการเจาะรูที่ผนังลูกตาให้น้ำข้างในออกมาอยู่ที่ใต้เยื่อบุตาเพื่อลดความดันข้างในลูกตา การผ่าตัดต้อหินคงจะเป็นการผ่าตัดเดียวที่ไม่ต้องการให้แผลหาย เพราะต้องการให้น้ำระบายออกมา นอกจากนี้ ยังมีการใช้สารเคมีบำบัดหรือยาที่ใช้รักษามะเร็งมาช่วยเสริมการผ่าตัดไม่ให้ร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมาปิดรูนั้น เพื่อจะได้ระบายน้ำออกจากรูนั้นได้นานขึ้นหรือตลอดชีวิต ถ้าผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวแล้วยังไม่เห็นผลร่างกายยังสร้างพังผืดมาปิดแผลหมด ยังได้คิดค้นสร้างท่อระบายฝังท่อเข้าไปในลูกตา แล้วระบายน้ำออกไปใต้เยื่อบุตาทางด้านหลังลูกตา ซึ่งโอกาสจะเกิดพังผืดขึ้นมาปิดดวงตานั้นน้อยกว่าการผ่าตัดโดยทั่ว ๆ ไป หลังจากช่วงการผ่าตัดระยะแรกจะมีการอักเสบบ้าง อาจจะมองไม่ค่อยชัดในช่วงแรก เมื่อสู่สภาพปกติประมาณ 4-6 สัปดาห์ไปแล้ว ก็จะกลับมามองเห็นเหมือนก่อนการผ่าตัดไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลงไปจากเดิม ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดแล้ว ก็ยังจะต้องมีการควบคุมไปตลอดชีวิต จึงต้องหมั่นมาหาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
           ต้อหินเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตาบอดชนิดถาวร โดยประมาณมีประชากรโลกคนตาบอดร้อยละ 10 จากต้อหิน โรคนี้เมื่อมีการสูญเสียการมองเห็นแล้ว จะไม่กลับคืนมาเป็นปกติได้ ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ทำได้มากที่สุดก็คือ ควบคมไม่ให้มันลุกลามมากขึ้นจากวันที่ตรวจพบ สิ่งที่สำคัญคือ ถ้าเราตรวจพบยิ่งเร็วก็จะสามารถรักษาการมองเห็นไว้กับเราได้นานขึ้น ถ้าตรวจพบช้า มีการสูญเสียการมองเห็นไปมากแล้ว ไม่สามารถจะนำกลับมาเป็นเหมือนได้ ถ้าพบว่าเป็นต้อหิน ก็จะต้องได้รับการตรวจ รักษาควบคุมสม่ำเสมอ

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด