มีโรคอะไรบ้างนะที่ต้องระวังเมื่อลูกน้อยปวดท้อง

มีโรคอะไรบ้างนะที่ต้องระวังเมื่อลูกน้อยปวดท้อง

รศ. นพ. รวิศ เรืองตระกูล 
สาขาวิชากุมารศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

           สำหรับเด็กตัวเล็กๆ กับเรื่องสุขภาพ ความเจ็บป่วยนั้น ต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาเอาเองได้ว่า ลูกเป็นอะไร เพราะสิ่งเดียวที่เด็กวัยเบบี๋แสดงออกให้รู้ ก็คือเสียงร้อง แต่ก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้บ้าง เพราะหนึ่งในหลายๆ สาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยวัยเบบี๋ ร้องไห้โยเย หรือบางครั้งก็ร้องกรีด เสียงสูงขึ้นมานั้น ก็อาจเกิดจากลำไส้ของลูกมีปัญหา  เพราะลำไส้ เป็นอวัยวะสำคัญภายในร่างกาย ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้จัก เข้าใจ และสังเกตการของแต่ละโรค ที่อาจพบได้บ่อยในเด็กเล็ก

โรคลำไส้กลืนกัน
           ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคลำไส้กลืนกัน แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้จากการเหนี่ยวนำบางอย่าง เช่นต่อมน้ำเหลืองในลำไส้ที่โตขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากไข้หวัด หรือลำไส้อักเสบเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดภาวะที่ส่วนของลำไส้เล็กที่อยู่ต้นกว่า ค่อยๆ เคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในลำไส้ส่วนที่อยู่ปลายกว่า ในลักษณะที่เรียกว่ากลืนกันนั่นเอง ทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตันภายใน โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ และมักจะพบได้บ่อยในเด็กเล็กช่วงอายุ 4-8 เดือน และมักจะเกิดขึ้นในเด็กที่อ้วนท้วน ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรงดี
 
 อาการ
      - เด็กจะร้องกรี๊ด จากอาการปวดท้อง เมื่อลำไส้เกิดการบีบตัว
      -  ตัวซีด มือ-เท้าเกร็ง เหงื่อออกตามร่างกาย และอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
      - อาการปวดท้องจะค่อยๆ ลดลงเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นชั่วขณะ จนกระทั่งเด็กปวดท้องอีกครั้งพร้อมกับอาเจียนซึ่งอาจจะมีสีเขียวของน้ำดีปนมาด้วย
      - เมื่อลำไส้กลืนกันมากขึ้น เด็กจะถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมีลักษณะเป็นเลือดสีคล้ำปนออกมากับมูก หรืออาจจะออกมาเป็นเลือดสดก็ได้
      - เด็กจะมีไข้ต่ำและซึมลง

 การวินิจฉัยโรค
           เนื่องจากอาการของโรคเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เด็กอาจอยู่ในภาวะขาดน้ำจากการอาเจียน จำเป็นต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ พร้อมกับการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ และผ่านกระบวนการวินิจฉัยโรค โดยการซักประวัติ การตรวจร่างกายเพื่อคลำหาก้อนเนื้อที่เกิดจากลำไส้กลืนกัน การตรวจด้วยอัลตร้าซาวน์จะสามารถตรวจพบลำไส้กลืนกันได้

 การรักษา
       - ดันลำไส้ส่วนที่เคลื่อนตัวเข้าไป ให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่โดยการใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก โดยการสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบแสง หรือใช้แรงกดอากาศจากกาซเป็นตัวดัน หากสามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกได้ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด  เด็กสามารถกินนมแม่หรืออาหารเสริมได้ตามปกติภายในเวลา 12 ชั่วโมง หลังจากการดัน และกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน
       - ในกรณีที่ลำไส้มีการกลืนกันเป็นระยะเวลานาน จนเกิดการเน่าของลำไส้ หรือไม่สามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกมาได้ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกันคลายตัวออกจากกัน และถ้าลำไส้มีการเน่าตายแล้วก็จำเป็นต้องผ่าตัดตัดต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน การดูแลหลังการผ่าตัดนั้น อาจใช้เวลานานกว่าการใช้วิธีดันลำไส้ เด็กสามารถกินอาหารได้ตามปกติหลังจากนั้น 3-5 วัน  
 
  สิ่งที่ต้องระวัง
           สำหรับพ่อแม่ที่ไม่รู้ว่าลูกน้อยป่วยเป็นโรคลำไส้กลืนกัน เมื่อเห็นว่าเด็กมีอาการปวดท้อง อาเจียน มีไข้ อาจนึกไปว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อหรือเป็นโรคบิด ซื้อยามารับประทานเอง กระทั่งลำไส้เริ่มมีการขาดเลือด จนลูกถ่ายอุจจาระเป็นเลือดปนมูกจึงไปแพทย์ ทำให้ได้รับการรักษาที่ช้าเกินไป  แม้ว่าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคลำไส้กลืนกันมีไม่มากนัก แต่ก็ยังเป็นโรคที่มีความรุนแรง อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงไม่ควรนิ่งนอนใจกับอาการปวดท้องที่เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างเร่งด่วน


โรคไส้ติ่งอักเสบ
           จะว่าไปแล้วโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กเหมือนกัน อย่างเช่นโรคไส้ติ่งอักเสบ แต่ในเด็กเล็กๆ อาจทำการวินิจฉัยโรคค่อนข้างลำบาก เพราะอาการต่างๆ  ดูได้ไม่ชัดเจนอย่างผู้ใหญ่
           ไส้ติ่งอยู่บริเวณด้านขวาของช่องท้องตรงใกล้รอยต่อของลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ มีปลายข้างหนึ่งตัน แต่ก็จะมีช่องเล็กๆ ทางปลายอีกด้านที่ต่อกับลำไส้ เมื่อเกิดการอุดตัน ก็อาจเป็นเหตุให้เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโต จนเกิดอาการบวมและอักเสบได้
           ส่วนสาเหตุของการเกิดโรค พบว่า 80 % เกิดจากต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ส่วนโคนลำไส้บวมขึ้นมา ทำให้รูดังกล่าวอุดตัน และอีก 20 % เกิดจากเศษอุจจาระที่แข็งตัวไปอุดรูเปิด เมื่อมีการอุดตันที่ตัวไส้ติ่ง ก็จะเกิดการอักเสบเนื่องจากเชื้อโรคที่เจริญเติบโตได้ดี ทำให้เกิดการขาดเลือด จนเกิดการอักเสบบริเวณไส้ติ่งที่อยู่ส่วนต้นของลำไส้ใหญ่

 อาการ
      - ร้องไห้จากอาการปวดท้อง
      - ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้
      - อาจมีไข้และอาเจียนตามมา
           ในรายที่มีอาการชัดเจนจะเริ่มด้วย อาการปวดท้อง ซึ่งมักจะเป็นรอบสะดือ และหลายชั่วโมงต่อมาอาการปวดท้องจะชัดเจนมากขึ้น และจะย้ายตำแหน่งที่ปวดมาปวดบริเวณหน้าท้องด้านขวาตอนล่าง (ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด) แต่ก็อาจจะปวดในตำแหน่งอื่นๆ แล้วแต่ตำแหน่งของปลายไส้ติ่ง 

 การรักษา
           เข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด 
สิ่งที่ต้องระวัง
           โรคไส้ติ่งอักเสบดูเหมือนไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากเกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยโรคหรือทำการรักษาช้าเกินไป จนไส้ติ่งเน่าและแตก ทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ก็อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ดังนั้น ถ้าลูกมีอาการปวดท้อง แม้ว่าอาการจะยังไม่ชัดเจน เป็นเพียงแค่สงสัย ก็ควรจะนำลูกไปพบแพทย์

โรคไส้เลื่อน
           โดยปกติภายในช่องท้อง จะมีผนังหน้าท้องที่แข็งแรงป้องกันอยู่โดยรอบ แต่ส่วนที่ทำให้เกิดปัญหา คือบริเวณขาหนีบ ซึ่งมักจะพบว่ามีส่วนถุงเยื่อบุช่องท้องยื่นออกมาตรงขาหนีบ ซึ่งโดยปกติแล้วส่วนถุงนี้มักจะปิดได้เองโดยธรรมชาติ แต่บางครั้งก็ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ (ไม่ปิด) ทำให้ลำไส้อาจเคลื่อนตามออกมาด้วย ส่วนใหญ่ยังพบอีกว่า มักเป็นกับเด็กผู้ชาย ส่วนที่ว่าทำไมเหรอครับ ก็เพราะถุงเยื่อบุช่องท้องมักจะเปิดอยู่ อันเป็นผลจากการเคลื่อนตัวของอัณฑะซึ่งเดินทางจากภายในช่องท้องลงมาที่ถุงอัณฑะ  เด็กผู้หญิงก็มีไส้เลื่อนด้วยเช่นกัน แต่การเคลื่อนที่ของไส้เลื่อนจะลงมาได้ถึงแค่บริเวณหัวหน่าวเท่านั้น เด็กทารกที่เกิดก่อนกำหนดจะมีภาวะความเสี่ยงของโรคไส้เลื่อนมากกว่าเด็กปรกติทั่วไป

 อาการ
      - อาจพบก้อนเนื้อผิดปกติปูดขึ้นบริเวณขาหนีบหรือที่ถุงอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง ขณะที่เด็กร้องเบ่งเสียง
      - ก้อนเนื้อที่ปูดขึ้นมาอาจผลุบๆ โผล่ๆ ให้เห็น เวลาที่เด็กยืนหรือเดินนานๆ และอาจจะยุบหายไปในขณะที่เด็กนอนหลับ  ผู้ปกครองอาจจะสังเกตเห็นไส้เลื่อนในขณะที่อาบน้ำก็ได้

 การรักษา
           เข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด ปิดผนังช่องท้อง

 สิ่งที่ต้องระวัง  
           บางครั้งลำไส้อาจเคลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้อง และไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่ถ้าลำไส้เคลื่อนออกมาแล้วกลับเข้าไปไม่ได้ ถูกปล่อยทิ้งไว้นาน ลำไส้ก็จะขาดเลือดทำให้ลำไส้เน่า โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ อายุน้อยกว่าหนึ่งปี  สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือ เมื่อสงสัยว่าลูกมีอาการของโรคไส้เลื่อน ควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา

โรคลำไส้อักเสบ 
           โรคลำไส้อักเสบเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัส พยาธิ แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นพวกไวรัสซึ่งทำให้เกิดอุจจาระร่วงแบบเฉียบพลัน นอกจากนี้อาจจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบที่ลำไส้โดยตรง หรืออาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ
 
 อาการ
      - อาเจียน คลื่นไส้
      - อุจาระร่วง
      - ปวดท้อง
      - เป็นไข้
 
 การรักษา
           หลักๆ คือให้กินน้ำเกลือแร่ หรือผงเกลือแร่ละลายน้ำ และให้อาหารที่เหมาะสมในช่วงที่เด็กมีปัญหาท้องเสีย อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาในรายที่มีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดหรือสงสัยว่าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย
 - รายที่อาการรุนแรงอาจเปลี่ยนนมเป็นชนิดไม่มีน้ำตาลแลคโตสชั่วคราว 

สิ่งที่ต้องระวัง
           คือเรื่องความสะอาด  ความสุก สด ของอาหาร และสุขอนามัยที่ถูกสุขลักษณะของลูก
 นอกจากโรคที่กล่าวมา โรคที่เกี่ยวกับลำไส้ยังมีอีกหลาหลายโรค แต่ก็อาจพบได้ไม่บ่อยนัก และอย่างที่บอกว่า อาการบางอย่าง ก็ไม่สามารถสรุปฟันธงได้ว่าเป็นโรคอะไร เป็นเพียงแค่สันนิฐานในเบื้องต้น ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่สำคัญ ไม่ควรซื้อยาใดๆ ให้ลูกกินเอง เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงกับลูกได้

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด