เท้าแบน...ทำไงดี

เท้าแบน...ทำไงดี

อ.พญ.กุลภา  ศรีสวัสดิ์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 เท้าแบน เป็นปัญหาของเท้าที่พบบ่อยปัญหาหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นภาวะปกติหรือผิดปกติ และอาจแสดงหรือไม่แสดงอาการใด ๆ ลักษณะของภาวะเท้าแบน พบในผู้ที่มีอุ้งเท้าเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย โดยอาจเป็นอยู่เดิมหรือเกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากที่กระดูกมีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
พัฒนาการของอุ้งเท้า
            การเจริญเติบโตของโครงสร้างเท้าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 7 - 8 ขวบปีแรก โดยเมื่อเด็กเริ่มตั้งไข่และเดิน เท้าของเด็กจะมีลักษณะ 3F คือ fat, flat และ floppy การเดินจะไม่มีการถ่ายน้ำหนักจากส้นเท้าไปสู่ปลายเท้าเหมือนในผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการยืนและเดิน โครงสร้างของเท้าและอุ้งเท้าจะมีลักษณะเหมือนผู้ใหญ่เมื่ออายุประมาณ 7 - 8 ปี ส่วนการเดินในลักษณะถ่ายน้ำหนักจากส้นเท้าไปสู่ปลายเท้าจะเริ่มเมื่ออายุ 3 - 4 ปี
ปัญหาเท้าแบนที่พบบ่อยในเด็ก
            ส่วนใหญ่เป็นภาวะเท้าแบนชนิดไม่ติดแข็งที่คงอยู่ต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็กเล็ก อุ้งเท้าไม่สูงขึ้นแม้กระดูกจะมีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้วก็ตาม มักจะพบทั้งสองข้าง  าเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม ผู้ป่วยมักรู้สึกว่าเท้าหรือขาอ่อนล้าง่าย ร่วมกับปวดบริเวณอุ้งเท้า ส้นเท้าและเท้าด้านนอก โดยอาการเป็นมากขึ้นเมื่อมีการลงน้ำหนัก ขณะยืนลงน้ำหนักจะพบส้นเท้าบิดออกมากกว่าปกติ ส่วนใหญ่มักจะมีกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวายตึงร่วมด้วย หากมีส้นเท้าบิดมากๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้ข้อเสื่อม และเคลื่อนไหวได้น้อยลง เท้าแบนชนิดนี้ไม่ถือว่าเป็นโรค ดังนั้นหากไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใดๆ เพียงติดตามความเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ
 
            การรักษา มุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้มีการผิดรูปเกิดขึ้น ควบคุมน้ำหนัก  ปรับกิจกรรม  ใช้อุปกรณ์เสริมในรองเท้า และปรับรองเท้า อาจรับประทานยาหรือทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง ส่วนการผ่าตัดจะพิจารณาเมื่อการรักษาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล
ปัญหาเท้าแบนที่พบบ่อยในผู้ใหญ่
            ส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบหรือสูญเสียหน้าที่ของเอ็นประคองอุ้งเท้า มักเป็นเพียงข้างเดียว พบบ่อยในเพศหญิง อายุ 45 - 65 ปี ซึ่งไม่มีประวัติอุบัติเหตุนำมาก่อน อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อใช้งานหนัก เช่น ยืนนาน ๆ หรือเดินมาก จะรู้สึกปวดบริเวณอุ้งเท้า ส้นเท้าและข้อเท้าด้านใน หากเป็นมากขึ้นอาจยืนเขย่งปลายเท้าไม่ได้ เท้าผิดรูปจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ข้อติดแข็ง

การรักษา
            คล้ายกับการรักษาเด็ก โดยกาควบคุมน้ำหนัก การใช้อุปกรณ์เสริมในรองเท้า และการปรับรองเท้า อาจรับประทานยาหรือทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง ส่วนการผ่าตัดจะพิจารณาเมื่อการรักษาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล
 
การใช้อุปกรณ์เสริมและการปรับรองเท้า (Pedorthic Management)
            Pedorthics เป็นศาสตร์ของการดูแลรักษาและป้องกันปัญหาต่าง ๆ ของเท้า โดยการออกแบบและผลิตอุปกรณ์เสริมภายในรองเท้า (foot orthoses) รวมทั้งการผลิตหรือปรับรองเท้า (shoe modification) อย่างเหมาะสม โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมและสอบระดับมาตรฐานทาง Pedorthics เรียกว่า Certified Pedorthist (C.Ped.) 
            การใช้อุปกรณ์เสริมภายในรองเท้ามีเป้าหมายเพื่อปรับรูปเท้าให้อยู่ในลักษณะปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้ และป้องกันไม่ให้อุ้งเท้าแบนจนเอียงล้มมากขึ้น อาจทำได้โดยใช้อุปกรณ์เสริมชนิดสำเร็จรูป หรือใช้อุปกรณ์เสริมชนิดหล่อพิเศษเฉพาะราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของปัญหาเท้าแบน อย่างไรก็ตามอุปกรณ์เสริมนั้นจะใช้ได้ประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อใช้กับรองเท้าที่เหมาะสมเท่านั้น
            รองเท้าที่เหมาะสำหรับผู้ที่เท้าแบน ควรเป็นรองเท้าชนิดหุ้มส้น เช่น รองเท้าคัทชูส์หรือรองเท้ากีฬา และควรมีความกว้างส่วนหน้าเท้าพอสมควร ควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าแตะ หรือรองเท้าชนิดที่มีสายรัดส้นเท้า นอกจากนี้พื้นรองเท้าภายในควรจะมีเนินช่วยประคองบริเวณอุ้งเท้าอีกด้วย
            การสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสมร่วมกับการใช้อุปกรณ์เสริมภายในรองเท้า จะช่วยให้ผู้ที่เท้าแบนสามารถใช้เท้าทำงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด