7 อาการป่วนตอนท้อง ตอนที่ 1

7 อาการป่วนตอนท้อง ตอนที่ 1

รศ.นพ.วิทยา  ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

            เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น คุณแม่ส่วนมากจะมีอาการผิดแปลกไปจากเดิมได้มากมายหลายประการ บางคนก็มีอาการมาก บางคนก็มีอาการน้อยเอาแน่ไม่ได้ ถ้าเป็นคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาก่อนก็อาจจะไม่รู้สึกตกอกตกใจอะไรมากมายนัก แต่ถ้าเป็นคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งจะตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกแล้วละก็ ส่วนมากจะกังวลไปหมดว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ ผมมีโอกาสรับฟังคำถามเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เพราะฉะนั้นเอาเป็นว่าผมเล่าให้ฟังเลยก็แล้วกันว่าบรรดาอาการที่มาป่วนตอนท้องเหล่านี้ มีอาการอะไรบ้างที่พบได้บ่อยๆ และจะมีวิธีแก้ไขหรือบรรเทากันอย่างไร

แพ้ท้อง

          1. คุณหมอคะ หนูตั้งท้องได้ 2 เดือนแล้ว ตอนนี้รู้สึกผะอืดผะอม และแน่นท้องบ่อยๆ จะทำอย่างไรดีคะ
          2. หนูตั้งครรภ์ 3 เดือนแล้วคะ ช่วงตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน รู้สึกคลื่นไส้เล็กน้อย แต่ตอนนี้อาการหนักกว่าเดิมอีกคะ เพราะรู้สึกว่าตัวเองจุกที่ลิ้นปี่และเรอบ่อยจังเลยคะ เป็นอันตรายไหมคะ
          3. คุณหมอครับ ภรรยาของผมตั้งท้อง 2 เดือนเศษแล้ว แกแพ้ท้องมากกินอะไรไม่ได้และ อาเจียนทั้งวันมาซักอาทิตย์นึงแล้วครับ ตอนนี้ผมรู้สึกว่าภรรยาของผมดูโทรมมาก ตาลึกเลยครับ เพิ่งชั่งน้ำหนักเมื่อวานนี้ น้ำหนักลดจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนตั้ง 3 กิโลกรัม ภรรยาและลูกในท้องจะเป็นอันตรายไหมครับ

ไขข้อข้องใจ   
          คำถามดังกล่าวข้างต้นคือคำถามเกี่ยวกับอาการแพ้ท้องที่ผมประสบพบเจอเป็นประจำครับ อาการแพ้ท้องเป็นอาการที่คุณแม่ส่วนมากคุ้นเคยกันดี  สมัยก่อนเวลาจะดูว่าผู้หญิงคนไหนท้องหรือเปล่า ก็ให้สังเกตว่าอยู่ๆก็มีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือไม่ ถ้ามีให้สงสัยไว้ก่อนว่าน่าจะท้อง
       
ทำไมถึงเป็น
          ทำไมคนเราถึงแพ้ท้องตอบยากครับ แต่วงการแพทย์มีการศึกษากันไม่น้อย และเชื่อกันว่าน่าจะมีสาเหตุได้ 2 ประการครับ
          ประการแรก การแพ้ท้องน่าจะเป็นกลไกของร่างกายคุณแม่ที่จะปฎิเสธสิ่งที่คุณแม่จะกินเข้าไปทุกชนิดเพราะกลัวว่าจะไปทำอันตรายต่อตัวลูกน้อยในท้อง เหตุที่เชื่อเช่นนั้นก็เพราะพบว่าส่วนมากแล้วช่วงเวลาที่คุณแม่แพ้ท้องมักจะเป็นช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลูกกำลังมีการสร้างอวัยวะต่างๆ มากมาย ภายหลัง 3 เดือนไปแล้ว การสร้างอวัยวะต่างๆจะเสร็จสิ้นเกือบหมดแล้ว การแพ้ท้องก็มักจะหายตามไปด้วย
          ประการที่ 2 น่าจะเกี่ยวข้องกับปริมาณของฮอร์โมนที่สร้างมาจากรกที่ชื่อว่า Human Chorionic Gonadotrophin หรือเรียกย่อๆว่า HCG  ยิ่งมีเนื้อรกมากก็จะยิ่งสร้างฮอร์โมน HCG ได้มาก อาการแพ้ท้องก็จะยิ่งมากตามไปด้วย  การที่เชื่อเช่นนี้เพราะพบว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดซึ่งรกมักมีขนาดใหญ่ หรือเป็นโรคครรภ์ไข่ปลาอุก (การตั้งครรภ์ผิดปกติที่ไม่มีตัวเด็กมีแต่รกที่มีการเจริญเติบโตมากผิดปกติ) ซึ่งภาวะทั้ง 2 นี้มีการสร้างฮอร์โมน HCG มากทั้งคู่
        
ความรุนแรง
          คุณแม่แต่ละคน เวลาแพ้ท้องจะมีอาการรุนแรงไม่เท่ากันครับ บางคนก็แค่ผะอืดผะอม บางคนก็อาเจียนออกมาเป็นบางครั้ง ในขณะที่บางคนแพ้รุนแรงมาก ทานอะไรไม่ได้เลย จนดูโทรม ตาลึกโบ๋ ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยและสีเหลืองเข้ม กรณีหลังต้องรีบไปหาหมอแล้วละครับ
          
แก้ไขอย่างไร
          ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย
          สามารถแก้ไขหรือบรรเทาอาการได้โดยเปลี่ยนวิธีรับประทานอาหาร โดยควรรับประทานอาหารที่มีลักษณะดังนี้
          1. ย่อยง่าย มีสารอาหารที่มีคุณค่า อาจเป็นน้ำผลไม้สด กับขนมปังกรอบหรือน้ำขิง
          2. เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
          ถ้ามีอาการปานกลาง
          นอกจากปรับวิธีรับประทานอาหารแล้ว ควรรับประทานยาบางชนิดช่วย เช่น
          1. ยาแก้หรือบรรเทาอาการอาเจียน
          2. ยาช่วยย่อย ยาขับลม
          ถ้ามีอาการรุนแรง
          ไปนอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือเถอะครับ  มิฉะนั้นอาจย่ำแย่จากการขาดน้ำได้นะครับ


เส้นเลือดขอด
          1. คุณหมอคะ  หนูเพิ่งตั้งครรภ์ครั้งแรก สังเกตว่าที่บริเวณต้นขา และน่องมีเส้นเลือดสีเขียวเส้นเล็กขึ้นมาเต็มไปหมดเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยเป็นเลย แต่ก็ไม่เจ็บปวดอะไร เป็นอันตรายไหมคะ
          2. ดิฉันตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 แล้วคะ  รู้สึกว่าที่ต้นขามีเส้นเลือดปูดออกมาคล้ายกับตัวหนอนเลย  ดิฉันต้องยืนวันละนานๆ เพราะมีอาชีพเสริมสวยคะ บางครั้งก็รู้สึกปวดที่บริเวณเส้นเลือดที่ขา จะทำอย่างไรดีคะ ต้องผ่าตัดไหมคะ กลัวจังเลยคะ

ไขข้อข้องใจ 
          ทำไมถึงเป็น ความดันในหลอดเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดเล็กๆบริเวณโคนขา น่อง เท้า ฯลฯ โป่งพองขึ้น โดยปกติภาวะนี้ไม่มีอันตรายอะไรหรอกครับ และจะหายได้เองภายหลังคลอด จะมีคุณแม่เพียงบางรายเท่านั้น ที่อาจมีเส้นเลือดขอดมาตั้งแต่ก่อนท้อง เมื่อมีการตั้งท้องขึ้นเลยทำให้อาการของเส้นเลือดขอดรุนแรงขึ้น บางคนแลเห็นเส้นเลือดปูดออกมาสีเขียวๆ เหมือนตัวหนอนดูน่ากลัวก็มีครับ
        
ป้องกันและแก้ไข
          คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการยืน นั่ง และนอน ดังนี้ครับ
          1. หลีกเลี่ยงการเดิน ยืน หรือนั่งห้อยเท้านานๆ  ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ผ้าพันแผลชนิดยืดพันรอบจากเท้ามาถึงใต้หัวเข่าหรือโคนขา จะช่วยป้องกันไม่ให้เส้นเลือดขอดเป็นมากขึ้น
          2. เวลานอนควรหาหมอนหนุนเท้าให้สูงกว่าปกติ เลือดจะได้ไม่ไหลไปกองที่เท้า อาการของเส้นเลือดขอดก็จะลดลง

          - มีต่อตอนที่ 2 -

  

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด