เสต็มเซลล์….เซลล์เพื่อประกันชีวิตอนาคตลูก

เสต็มเซลล์...เซลล์เพื่อประกันชีวิตอนาคตลูก

รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
รศ.พญ.สายฝน ชวาลไพบูลย์
ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

          ถ้าคุณผู้อ่านได้มีโอกาสติดตามข่าวสารทางการแพทย์ในช่วงระยะไม่นานคงจะได้ยินหรือได้อ่านจากสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเรื่อง เสต็มเซลล์ ในแง่มุมต่างๆ มากมาย เช่น การรักษาโรคโดยใช้เสต็มเซลล์ การเก็บเสต็มเซลล์ไว้เพื่อใช้ในอนาคต เป็นต้น คนไข้ของผมหลายคนมีเพื่อนมาชวนให้เก็บเสต็มเซลล์ของลูกฝากไว้กับบริษัทเอกชนเผื่อเอาไว้ใช้รักษาโรคของลูกที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็สนใจ แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่าไอ้เจ้าเสต็มเซลล์ที่ว่านี่มันคืออะไรกัน

เสต็มเซลล์คืออะไร ?
          ผมคิดว่าคุณแม่ทุกคนคงพอทราบแล้วว่า กำเนิดของคนเราเริ่มจากการที่เชื้ออสุจิจากฝ่ายชายเพียง 1 ตัวผสมกับไข่จากฝ่ายหญิง 1 ใบ ซึ่งภายหลังผสมและรวมตัวกันแล้วจะได้เซลล์ 1 เซลล์ หลังจากนั้นเซลล์ที่ว่าก็จะมีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นจาก 1 เซลล์เป็น 2 เซลล์ 4 เซลล์ 8 เซลล์และเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ กลายเป็นกลุ่มเซลล์ซึ่งมีรูปร่างรวมกันคล้ายลูกน้อยหน่า ต่อจากนั้นก็จะมีการเปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อยๆ กลายเป็นตัวอ่อนที่ยังมีอวัยวะต่างๆไม่ชัดเจน และเมื่อเวลาผ่านไปเซลล์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ที่แยกกันอย่างชัดเจน เช่น เป็นกล้ามเนื้อ สมอง หัวใจ กระดูก เป็นต้น เซลล์ที่อยู่ในระยะที่ยังไม่เปลี่ยนเป็นเซลล์ของอวัยวะใดที่แน่ชัดเราเรียกว่า เสต็มเซลล์ (Stem cell)
          ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังพบเพิ่มเติมว่า อวัยวะบางอวัยวะที่มีการพัฒนาจนเป็นอวัยวะที่ชัดเจนแล้ว ก็ยังมีการสร้างเสต็มเซลล์อยู่ อวัยวะดังกล่าว เช่น ไขกระดูก เนื่องจากไขกระดูกมีหน้าที่หลักในการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ และเม็ดเลือดเหล่านี้มีอายุจำกัด ตัวอย่างเช่น เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 120 วันก็จะตายและถูกทำลายไป ไขกระดูกเลยต้องสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ขึ้นมาแทนเรื่อยๆ เซลล์ที่เป็นต้นกำเนิดของเม็ดเลือดแดงในไขกระดูกจัดเป็นเสต็มเซลล์ชนิดหนึ่งเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจึงพอที่จะแบ่งเสต็มเซลล์ออกได้เป็น 2 ชนิด คือ เสต็มเซลล์จากตัวอ่อน (embryonic stem cell) และเสต็มเซลล์จากร่างกายของคนเราที่พัฒนาเป็นตัวคนเต็มที่แล้ว (Adult stem cell) โดยอาจจะเป็นเซลล์ของทารกแรกเกิด หรือของผู้ใหญ่ก็ได้
          จากการศึกษาทางการแพทย์ทั้งในคนและในสัตว์ทดลองพบว่า การเปลี่ยนแปลงจากเสต็มเซลล์ไปเป็นเซลล์ของอวัยวะต่างๆ มีขบวนการมากมายและต้องใช้สารเคมีมาทั้งกระตุ้นและยับยั้งมากมายหลายชนิดและหลายขั้นตอนจนน่าปวดหัว ซึ่งคุณแม่ไม่จำเป็นต้องทราบก็ได้ครับ

เราใช้ประโยชน์จากเสต็มเซลล์อย่างไร ?
          ในปัจจุบันเราสามารถดูดเอาเสต็มเซลล์ของตัวอ่อนออกมาได้และยังสามารถใช้สารเคมีต่างๆมากระตุ้นให้เสต็มเซลล์นั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ของอวัยวะต่างๆที่ต้องการได้ เช่น ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเราก็สามารถนำเอาเสต็มเซลล์ที่เก็บไว้มากระตุ้นให้กลายเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจใหม่ แล้วฉีดเข้าไปในหัวใจเพื่อสร้างเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจใหม่ คล้ายกับการเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์ซึ่งจะทำให้หายจากโรคหัวใจได้เลย ไม่ต้องรักษาแบบที่ทำกันในปัจจุบันที่ทำได้แค่ให้ยาหรือผ่าตัดเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจที่เหลือ ทำงานได้ดีขึ้นหรืออย่างน้อยก็ไม่เลวลง แต่กล้ามเนื้อหัวใจที่เสียไปแล้วก็ไม่สามารถทำให้กลับมาดีได้เหมือนเดิมเหมือนกับการใช้เสต็มเซลล์รักษา

ปัญหาของเการใช้เสต็มเซลล์
          ฟังที่ผมเล่ามาคุณแม่หลายคนอาจคิดว่าถ้ามีประโยชน์อย่างที่ว่าจริง ก็น่าจะเก็บเสต็มเซลล์กันไว้ทุกคนเลยจะดีไหม ผมขอเรียนให้ทราบว่าไม่ง่ายอย่างที่คิดครับเพราะมีปัญหาที่ต้องพิจารณาอีกคือ การดูดเอาเสต็มเซลล์จากเซลล์ของตัวอ่อน (embryonic stem cell) มาเก็บไว้ เท่ากับการทำร้ายตัวอ่อนโดยตรง ตัวอ่อนที่ถูกดูดเอาเสต็มเซลล์บางส่วนออกไป มักจะตายหรือต้องถูกทำลายทิ้ง การกระทำนี้จึงเหมือนกับการการทำลายชีวิตของคนเราตั้งแต่ระยะแรกๆ ซึ่งในบางประเทศไม่ยอมให้ทำเพราะถือว่าผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม ในขณะที่บางประเทศก็ยอมให้ทำแต่มีเงื่อนไขจำกัดบางอย่าง เช่นให้ทำได้เฉพาะสำหรับการวิจัยเท่านั้น เป็นต้น
วิธีการที่ทำกันปัจจุบันคือการนำเสต็มเซลล์ของผู้ใหญ่ (adult stem cell) เช่นเสต็มเซลล์จากเลือดในสายสะดือ หรือเสต็มเซลล์จากไขกระดูก มาใช้แทน ซึ่งถ้าเราดูดมาใช้ก็ไม่ได้ทำอันตรายต่อผู้เป็นเจ้าของไขกระดูกแต่อย่างใด ทำให้ไม่มีปัญหาทางกฎหมายและศีลธรรม

ตัวอย่างการรักษาโรคด้วยเสต็มเซลล์
          ในปัจจุบันมีการใช้เสต็มเซลล์มารักษาโรคบางอย่างจนหายขาดได้แล้ว เช่น ในประเทศฝรั่งเศสสามารถรักษาโรคโลหิตจาง และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิดได้หายขาดแล้ว ในประเทศไทยมีการใช้เสต็มเซลล์จากไขกระดูกมารักษาโรคเลือดจางทาลัสซีเมียมานานแล้วและได้ผลเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง ซึ่งยังมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ

ความหวังของเสต็มเซลล์ในอนาคต
          ในปัจจุบันมีรายงานทางการแพทย์ออกมาเรื่อยๆถึงความสำเร็จของการรักษาโรคต่างๆด้วยเสต็มเซลล์ จึงเชื่อกันว่าในอนาคต โรคที่รักษาหายยากหรือไม่หายขาด เช่น โรคตับ โรคเบาหวานแต่กำเนิด โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ อาจจะรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้เสต็มเซลล์ ซึ่งคงต้องรอเวลากันต่อไปอีกระยะหนึ่ง

เก็บเสต็มเซลล์ไว้ใช้ในอนาคต?
          ถ้าเราเอาเสต็มเซลล์มาแช่แข็งไว้ พบว่ามันสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานเป็นสิบๆปีเลยทีเดียว จากความรู้ดังกล่าวจึงเกิดแนวคิดที่จะเก็บเสต็มเซลล์แช่แข็งไว้เพื่อเอาไว้ใช้ในอนาคตถ้าจำเป็น ในต่างประเทศเริ่มมีการเก็บ เสต็มเซลล์แช่แข็งกันหลายประเทศแล้ว ซึ่งมักจะเก็บจากเลือดในสายสะดือของทารกแรกเกิด แล้วเก็บรักษาไว้เหมือนกับการประกันชีวิตให้ลูกตั้งแต่แรกเกิดว่าถ้าต่อไปในอนาคตเกิดเป็นโรคอะไรขึ้นมา ก็จะได้เอาเสต็มเซลล์ที่เก็บไว้มาใช้รักษาได้
          ในประเทศไทยเริ่มมีบริษัทเอกชนที่เสนอให้บริการเก็บรักษาเสต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือ เพื่อเก็บไว้ให้ลูกน้อยซึ่งอาจต้องนำมาใช้รักษาโรคที่อาจจะมีเกิดขึ้นในอนาคต คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการเก็บเสต็มเซลล์ไว้ให้ลูกใช้ในอนาคตต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมและการเก็บรักษาเซลล์ค่อนข้างสูง ในระยะแรกนี้ผู้ที่จะทำได้จึงมักจะต้องเป็นผู้มีความรู้และมีฐานะดีเป็นส่วนมาก เชื่อว่าถ้าการบริการนี้มีผู้ใช้มากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็น่าจะลดลง แต่คงใช้เวลาอีกนาน ยกเว้นแต่ว่าหน่วยงานของรัฐจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย

ขั้นตอนในการเก็บเสต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือ
          คุณแม่ที่สนใจจะเก็บเสต็มเซลล์ให้ลูกจะต้องทำสัญญากับทางบริษัทก่อน หลังจากนั้นทางบริษัทจะมอบชุดอุปกรณ์ในการจัดเก็บเสต็มเซลล์ให้กับคุณแม่ และจะต้องนำไปโรงพยาบาลด้วยเมื่อมีอาการการเจ็บครรภ์คลอด โดยคุณหมอผู้ทำคลอดจะทำการเก็บเลือดจากสายสะดือของทารกที่ถูกตัดเรียบร้อยแล้วไว้ในถุงเลือดที่มีสารกันเลือดแข็งตัวประมาณ 150-200 มิลลิลิตร แล้วนำไปตรวจคัดกรองว่ามีเชื้อโรคต่างๆ อยู่ด้วยหรือไม่ ถ้ามีก็จะเก็บไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีก็จะนำไปเข้าขบวนการคัดกรองเอาเสต็มเซลล์ออกมาแล้วนำไปแช่เย็นไว้ในถังไฮโดรเจนที่ออกแบบมาให้เก็บเสต็มเซลล์ไว้ได้นานนับสิบปี

ปัญหาที่อาจเกิดจากการเก็บเสต็มเซลล์
          ในขณะนี้การเก็บเสต็มเซลล์จะทำได้เฉพาะในคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีเท่านั้น จึงน่ากังวลว่าการกระทำดังกล่าวจะมีผลให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นในลักษณะของการแบ่งชนชั้นคนหรือไม่ นอกจากนี้อาจมีปัญหาการซื้อขายเสต็มเซลล์ หรือการแอบลักขโมยเสต็มเซลล์ของคนอื่นหรือไม่
ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างแน่ชัด ซึ่งคงจะต้องรอดูกันต่อไปอีกระยะหนึ่งครับ

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด