ใช้ยาอย่างไรให้ถูกวิธี ตอนที่ 1

ใช้ยาอย่างไรให้ถูกวิธี ตอนที่ 1

เภสัชกรมนตรี  สุวณิชย์
ฝ่ายเภสัชกรรม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

         ปัจจุบันแม้วิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าไปมากและมีจำนวนแพทย์เพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อถึงยามเจ็บป่วย นอกจากแพทย์แล้ว ยาเป็นปัจจัยสำคัญที่เราใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งซื้อมากินเอง หรือไปพบแพทย์ แต่การใช้ยาทุกครั้งต้องใช้ให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยและหายขาดจากโรค เรามีคำตอบรออยู่จากใครหลายคนที่ถามเข้ามา

การใช้ยาที่ถูกต้องมีความจำเป็นอย่างไรบ้าง
          ถ้าใช้ยาให้ถูกต้องกับโรค จะเป็นประโยชน์  แต่ถ้าใช้ยาผิด  นอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้วอาจเกิดอันตรายอีกด้วย

ข้อแนะนำในการใช้ยาที่ถูกต้อง 
          หน้าซองที่จ่ายให้ผู้ป่วยจะมีกำหนดไว้ เมื่อผู้ป่วยได้รับยาไป ควรอ่านวิธีใช้ที่หน้าซองหรือขวดให้เข้าใจก่อนกลับบ้าน หรือให้ผู้ป่วยถามเภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ห้องยาอ่านให้ฟังให้เข้าใจเสียก่อน เพราะหากกลับบ้านไปแล้ว อ่านไม่เข้าใจต้องกลับมาโรงพยาบาล หรือบางทีไปกินยาผิด ก็อาจเป็นอันตรายได้

ยกตัวอย่างข้อความที่ผู้ป่วยมักใช้สับสนเสมอๆ
 
          ที่พบเสมอ เช่น 1 เม็ดก่อนนอน หมายความว่าใช้ก่อนนอนเท่านั้น หรือการกินยาแก้ปวด แก้ไข้ จะเขียนไว้หน้าซองว่ากินทุก 4 ชั่วโมง หลัง  4 ชั่วโมงแรกแล้ว ถึงกินซ้ำอีกครั้ง และกินเวลาปวดเท่านั้น เมื่อหายแล้วไม่ต้องกิน หรือว่าเวลามีไข้ถึงจะกิน 
          ถ้าเป็นยาปฏิชีวนะจะต้องกินยาให้หมด ถ้าเขียนที่หน้าซองว่า 1 เม็ด เวลา หลังอาหาร และก่อนนอนมี 20 เม็ด ก็ต้องกินตามหน้าซอง และกินติดต่อกันทุกวันจนครบ 20 เม็ด  เพราะถ้าเรากินไม่หมด พอค่อยยังชั่วก็หยุดยา ไม่กินให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ในภายหลัง

กรณีที่เป็นหวัดได้กินยาปฏิชีวนะแล้วหาย พอเป็นหวัดอีกจะไปซื้อยาอย่างเดิมมากินได้หรือไม่
 
          ไม่ควร เพราะเราไปซื้อมา อาจซื้อได้ไม่ครบตามจำนวน หรือไม่เพียงพอที่จะทำให้โรคหายขาด

มียาบางอย่างเขียนว่า  ให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ เพราะเหตุใด
          ยาที่ดื่มน้ำตามมากๆ คือ ยาประเภทซัลฟา โดยทั่วไปจะทำให้เกิดการตกตะกอนของยาในไต การดื่มน้ำตามมากๆ จะเป็นการช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้น ทำให้ไม่เกิดการตกตะกอนในไต
ยาผงมีวิธีการใช้อย่างไร 
          ยาจะเป็นรูปแบบยาที่ใช้ทันทีไม่ได้ ซึ่งยาผงมักจะสลายตัวง่าย ดังนั้น จะนำมาละลายเมื่อต้องการใช้ ซึ่งถ้าเป็นยาฉีดจะเป็นหน้าที่ของพยาบาล แต่ถ้าเป็นยาผงชนิดกินจะต้องละลายน้ำก่อนกิน โดยใช้น้ำสะอาดเป็นตัวทำละลาย ถ้าได้ยา 2 ขวด ทางโรงพยาบาลอาจจะผสมน้ำให้ 1 ขวด แต่อีกขวดจะให้ผู้ป่วยหรือญาติผสมเองเมื่อขวดแรกหมด ไม่ควรผสมไว้ล่วงหน้า เพราะยาจะเสื่อมคุณภาพ

ยาที่ละลายแล้วควรเก็บรักษาอย่างไร
 
          ควรเก็บไว้ในตู้เย็น 7 วัน วิธีการละลายยาก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะในบางครั้งยาที่เป็นผงบรรจุมาจากโรงงาน ทิ้งไว้นาน ๆ อาจเกาะกันอยู่ก้นขวด ก่อนที่ละลายยา ควรเขย่าขวดให้ผงยากระจายตัวเสียก่อนแล้วเติมน้ำ  อย่าเติมทีเดียวหมด ให้เติมเศษสามส่วนสี่ก่อนแล้วเขย่า สังเกตดูว่าฟองที่เกิดยุบตัวหมด ค่อยเติมน้ำอีกครั้งให้ถึงระดับที่ต้องการ เขย่าอีกครั้งให้ยาละลาย

ยาที่เกิดตกตะกอน แยกตัวเป็นชั้นยังใช้ได้หรือไม่ 
          ยาที่ตกตะกอน ถ้าเราเขย่าแล้วยากระจายตัวได้ดี ไม่แข็ง นอนอยู่ก้นขวดก็ใช้ได้ แต่จะมียาผสมบางชนิดซึ่งตกตะกอนเร็วมาก ก่อนใช้ยาจะต้องเขย่าขวดก่อน 

คำแนะนำในการกินยาแขวนตะกอน 
          เขย่าขวดก่อนกินเสมอถ้าเป็นยาที่มีตะกอนหรือแขวนตะกอน

การกินยาก่อน - หลังอาหาร
          ถ้าเป็นยาที่กินก่อนอาหาร ควรกินก่อนอาหารครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง แต่จำพวกยาย่อยอาหาร เราต้องกินพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที หรือยาบางพวกที่รบกวนกระเพาะอาหาร  ได้แก่ ยาแก้ปวดต่าง ๆ  ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ต้องกินช่วงท้องไม่ว่าง เช่น หลังอาหาร แต่บางครั้งผู้ป่วยกินอาหารไม่ได้ ก็ให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ หรืออาจดื่มน้ำข้าวต้ม  นมก่อนกินยาพวกนี้ เพื่อป้องกันการระคายเคืองที่กระเพาะอาหาร  ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง การที่เราดื่มนม หรือน้ำข้าวต้ม จะช่วยลดอาการระคายเคืองของกระเพาะได้ (เฉพาะสำหรับยาที่กินกับนมได้)

ยาแก้หวัด หรือแก้แพ้ มีข้อควรระวังในการรับประทานอย่างไร 
          ยาแก้หวัด แก้แพ้ มีฤทธิ์ข้างเคียง คือทำให้ง่วง ไม่ควรขับรถ หรือทำงานที่ เกี่ยวกับเครื่องจักรอาจทำให้เกิดอันตรายได้

นอกจากยาแก้หวัด แก้แพ้ มียาใดที่ต้องระวังในการกินอีกหรือ ไม่ 
          มียาจำพวกระงับประสาท หรือยานอนหลับ ซึ่งมีข้อควรระวังคือ ในบางครั้งผู้ป่วยกินยานี้ดึกเกินไป บางทีตื่นขึ้นมา  ฤทธิ์ยายังไม่หมดทำให้เกิดอาการมึนงง  อาจมีความง่วงเหลืออยู่  เวลาที่ขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรจึงต้องระวัง  มีข้อควรระวังอีกคือ ยาทุกชนิดไม่ควรกินพร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะไปเสริมฤทธิ์ของยาทำให้เป็นอันตรายได้ 

การใช้ยาภายนอกมีข้อควรปฏิบัติอย่างไร 
          การใช้ยาภายนอก ประการแรกคือ ยาผิวหนัง อาจเป็นน้ำ ครีม ผง ขี้ผึ้งก่อนใช้ต้องให้บริเวณผิวหนังที่ใช้สะอาด แล้วจึงทาหรือโรยยาลงไป ขี้ผึ้งให้ทาบางๆ การที่ทาหนาๆ ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ เป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์

  - มีต่อตอนที่ 2-

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด