รองเท้ากีฬา ความเหมือนที่แตกต่าง

รองเท้ากีฬา ความเหมือนที่แตกต่าง

อ.พญ.กุลภา  ศรีสวัสดิ์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

          “เท้า” อวัยวะที่เป็นรากฐานของมนุษย์ คนเราใช้เท้าทุกวันในการนั่ง เดิน ยืน วิ่ง กระโดด หากดูจากลักษณะภายนอกอาจเห็นว่าเท้าเป็นเพียงอวัยวะเล็กๆ แต่ที่จริงแล้วประกอบด้วยกระดูกข้างละ 26 ชิ้น และกล้ามเนื้อและเอ็นอีก 32 มัด เมื่อนับรวมจำนวนกระดูกเท้าทั้งสองข้างจะพบว่าเป็นจำนวนถึง 1 ใน 4 ของจำนวนกระดูกทั่วร่างกาย กระดูกเล็กๆ เหล่านี้ทำงานประสานกันอย่างน่าทึ่งในแต่ละก้าวเดิน จากการวิเคราะห์วงจรการเดินและการวิ่งพบว่าจังหวะและการรับน้ำหนักของเท้านั้นแตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกรองเท้ากีฬาให้เหมาะสมกับชนิดกีฬาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามนะคะ

ชนิดของรองเท้ากีฬา แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ              
          1. รองเท้าวิ่ง (Running Shoes) มีการศึกษาพบว่าร้อยละ 50 - 70 ของนักวิ่งได้รับบาดเจ็บจากการวิ่ง เพราะในขณะวิ่ง จะมีน้ำหนัก 2 - 3 เท่าของน้ำหนักตัวกดลงบริเวณส้นเท้า (หรือปลายเท้าในนักวิ่งเร็วระยะสั้น) ดังนั้นรองเท้าวิ่งจึงควรมีลักษณะ ดังนี้
          - ช่วยรับและกระจายน้ำหนัก วัสดุที่ใช้โดยเฉพาะบริเวณส้นเท้าจะมีคุณสมบัติพิเศษในการกระจายแรงกระแทกไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งช่วยถ่ายเทน้ำหนักลงสู่พื้น
ส่วนพื้นรองเท้าชั้นนอกจะมีลักษณะบานกว้างออก เพื่อเพิ่มความมั่งคงในการก้าววิ่ง
          - ช่วยเพิ่มสมรรถนะในการวิ่ง ลดปริมาณการใช้งานของกล้ามเนื้อน่องและขา
          2. รองเท้ากีฬาประเภทคอร์ท (Court Shoes) กีฬาประเภทคอร์ท เช่น แบดมินตัน เทนนิส สควอช จะมีลักษณะการเคลื่อนไหวเฉพาะตัวที่แตกต่างจากกีฬาประเภทอื่น ได้แก่ ลักษณะการยืนในท่าเตรียมพร้อมโดยน้ำหนักกดลงบริเวณปลายเท้า มีการเคลื่อนไหวทั้งในแนวหน้าหลังและด้านข้าง เป็นไปอย่างรวดเร็วและหยุดกะทันหัน และนอกจากการเคลื่อนไหวในแนวระนาบแล้วยังมีการกระโดดอีกด้วย ดังนั้นรองเท้าที่ใช้จึงต้องมีลักษณะและบทบาทเฉพาะตัว คือ
          - ช่วยรับและกระจายน้ำหนัก วัสดุที่ใช้โดยเฉพาะบริเวณฝ่าเท้าส่วนหน้าและส้นเท้าจะมีคุณสมบัติในการรับและถ่ายเทแรงที่มาจากทิศทางต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และช่วยลดปริมาณการใช้งานของกล้ามเนื้อ ป้องกันการเกิดการบาดเจ็บ เพราะวัสดุที่ใช้มีความแข็งแรงทนทาน กระชับบริเวณฝ่าเท้าและส้นเท้าเพื่อรองรับการเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ และช่วยประคองข้อเท้าสำหรับรองเท้าชนิดหุ้มข้อลวดลายรูปแบบของพื้นด้านนอก จะมีลักษณะพิเศษซึ่งจะมีผลต่อความยืดหยุ่น ความลื่น และเป็นจุดหมุนของรองเท้า
ขอบพื้นรองเท้าชั้นนอกจะหนา เพื่อป้องกันการสึกของขอบพื้นรองเท้าจากการเคลื่อนไหวและการลากเท้าในทิศทางต่าง ๆ
          3. รองเท้ากีฬาประเภทสนาม (Field Shoes) ต้องรองรับการเคลื่อนไหวในทุกทิศทางอย่างรวดเร็วและหยุดกะทันหัน รวมทั้งมีการกระโดด และอาจมีการใช้เท้าเตะบอล ดังนั้นบทบาทสำคัญของรองเท้าประเภทนี้  คือ
          - กระชับกับรูปเท้าและยืดหยุ่นดี เพื่อให้ผู้เล่นสามารถรู้สึกถึงสัมผัสในขณะสัมผัสลูกบอล ในขณะเดียวกันวัสดุที่ใช้ต้องสามารถป้องกันการเกิดอาการเท้าบาดเจ็บได้ด้วย
บริเวณพื้นรองเท้าจะมีปุ่มเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะกับพื้นสนาม และป้องกันการลื่นล้ม (สำหรับรองเท้ากอล์ฟที่มีคุณภาพดี จะช่วยในการถ่ายน้ำหนักซ้ายขวา ตามวงสวิงของผู้เล่นด้วย)  เห็นมั้ยคะ รองเท้ากีฬาทั้ง 3 ประเภท ต่างมีจุดเด่นแตกต่างกันไป แต่ไม่ว่ารองเท้าจะดีแค่ไหน ก็ไม่ควรลืมสวมถุงเท้า เพราะนอกจากจะช่วยลดการเสียดสีระหว่างเท้ากับรองเท้าแล้ว ยังช่วยดูดซับและระบายความชื้น แถมช่วยในการรับและส่งผ่านแรงกระแทก ที่สำคัญ ยังช่วยควบคุมอาการบวมที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่นกีฬา ส่วนอุปกรณ์อีกหนึ่งชิ้นที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ แผ่นเสริมรองฝ่าเท้าชั้นใน มีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเท้า หรือใส่รองเท้าไม่พอดี หากมีปัญหาเพียงเล็กน้อยก็สามารถหาซื้อแผ่นเสริมรองฝ่าเท้าชั้นในซึ่งมีขายทั่วไปในท้องตลาดได้ แต่หากมีปัญหามากควรไปพบแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อตรวจประเมินปัญหา และอาจต้องทำแผ่นเสริมรองฝ่าเท้าชั้นในซึ่งทำขึ้นเฉพาะสำหรับแก้ปัญหานั้นๆ 

ข้อคิด 10 ประการก่อนเลือกซื้อรองเท้า
          1. ไม่มีมาตรฐานของขนาดรองเท้า รองเท้าต่างยี่ห้อเบอร์เดียวกันอาจไม่เท่ากันก็ได้ หรือแม้แต่รองเท้ายี่ห้อเดียวกันแต่คนละรุ่นเบอร์เดียวกันก็อาจจะไม่เท่ากันได้
          2. วัดขนาดของเท้าทั้งสองข้างก่อนเลือกซื้อรองเท้าเสมอ เพราะส่วนใหญ่เท้าทั้งสองข้างมีขนาดไม่เท่ากัน
          3. เลือกรองเท้าที่เหมาะกับรูปเท้า เช่น หากหน้าเท้ากว้างก็ควรเลือกรองเท้าที่มีลักษณะหน้าเท้ากว้าง ควรคิดไว้เสมอว่ารองเท้ามีไว้เพื่อป้องกันเท้า มิใช่ทำให้เท้าเจ็บ
          4. ลองรองเท้าในแบบ ขนาด และรูปทรงต่างๆ ก่อนตัดสินใจ เพื่อให้ได้รองเท้าที่เหมาะสมกับเท้าของเรามากที่สุด
          5. ความยาวที่เหมาะสม คือ ควรจะมีพื้นที่เหลือระหว่างปลายนิ้วเท้าที่ยาวที่สุดกับขอบในรองเท้าประมาณ 3/8  ถึง 1/2 นิ้วฟุต
          6. ความกว้างที่เหมาะสม คือ ส่วนที่กว้างที่สุดของเท้าอยู่ตรงกับส่วนที่กว้างที่สุดของรองเท้า
          7. ส้นเท้าพอดี ไม่หลวมและไม่หลุดในขณะเดินหรือวิ่ง
          8. หากเท้ามีปัญหา จำเป็นต้องใช้วัสดุเสริม ควรนำวัสดุเสริมไปลองใส่กับรองเท้าด้วย
          9. ควรเลือกซื้อรองเท้าให้เหมาะสมกับชนิดของกิจกรรม และเลือกซื้อในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับเวลาที่จะใช้รองเท้านั้น เช่น หากจะวิ่งออกกำลังในช่วงเย็น ก็ควรไปเลือกซื้อรองเท้าในช่วงเย็น เนื่องจากเท้าเปลี่ยนขนาดตามกิจกรรมและช่วงของวัน
        10. ลองสวมรองเท้าทั้งสองข้างเดินทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อรองเท้า

ง่ายๆ เท่านี้ คุณก็จะมีความสุขกับทุกการเคลื่อนไหวเมื่อออกกำลังกายแล้วค่ะ

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด