เวียนศีรษะ

เวียนศีรษะ

ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา  
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            อาการเวียนศีรษะ หมายถึง ความรู้สึกว่าร่างกายตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมหมุนหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ  อาจมีอาการใจสั่น ใจเต้นแรง คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกร่วมด้วย

สาเหตุของอาการเวียนศีรษะ
            เกิดจากความผิดปกติในการทำงานร่วมกันของระบบการทรงตัวในหูชั้นใน การมองเห็น การทำงานของข้อต่อ กล้ามเนื้อแขนขา เส้นประสาท และศูนย์การทรงตัวในสมอง ดังนั้นผู้ที่มีความผิดปกติของส่วนต่างๆดังกล่าว จึงอาจเกิดอาการเวียนศีรษะได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุซึ่งจะมีการเสื่อมของอวัยวะดังกล่าว ก็จะมีอาการเวียนศีรษะได้ง่าย
            อาการเวียนศีรษะอาจเกิดในภาวะที่ไม่เป็นโรคก็ได้  เช่น  เมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอ หิว การมองวัตถุที่เคลื่อนไหวไปมาเร็วๆ  หรือเมื่ออยู่ในท่าทางการเคลื่อนไหวที่ไม่คุ้นเคย
            โรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะที่พบได้บ่อยคือ โรคของหูโดยเฉพาะหูชั้นใน นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคของหูส่วนอื่นๆ เช่น โรคหูน้ำหนวก หูชั้นกลางอักเสบ เส้นประสาทการทรงตัวเสื่อมหรืออักเสบ ฯลฯ มีบางโรคที่เป็นสาเหตุส่วนน้อยของอาการเวียนศีรษะ แต่อาจเป็นอันตรายได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีคือ โรคทางสมอง ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก การติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง และเนื้องอกของเส้นประสาททรงตัว เป็นต้น

เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะหาสาเหตุและประเมินความรุนแรงของโรคโดย
          - การซักประวัติอาการเวียนศีรษะ
          - การตรวจร่างกาย
          - ตรวจพิเศษเพิ่มเติมตามความจำเป็น

การรักษา
          1. รักษาตามโรคที่เป็นสาเหตุ
          2. การให้ยาระงับอาการหรือรักษาอาการเวียนศีรษะ
          3. การฝึกปรับการทรงตัว

ข้อพึงระวัง
            ควรรีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการเวียนศีรษะติดต่อกันนานเกิน 4 สัปดาห์ เป็นซ้ำบ่อย หูอื้อ หรือมีอาการทางสมองร่วมด้วย ได้แก่ หมดสติ แขนขาอ่อนแรง เซ หรือล้ม เป็นต้น

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด