ทอนซิลอักเสบ

ทอนซิลอักเสบ

ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            ต่อมทอนซิล (tonsils) เป็นกลุ่มของเนื้อเยื่อ ประเภทต่อมน้ำเหลือง มีหน้าที่ เกี่ยวข้องกับ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ภายในต่อม มีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด    ต่อมทอนซิลยังพบได้หลายตำแหน่ง  ต่อมที่เราเห็น จะอยู่ด้านข้างของช่องปาก มีชื่อเรียกว่า พาลาทีนทอนซิล (palatine tonsil) นอกจากนี้ ต่อมทอนซิลยังพบได้บริเวณโคนลิ้น (lingual tonsil) และช่องหลังโพรงจมูก (adenoid tonsil) 
            ทอนซิลอักเสบ เป็นภาวะอักเสบของต่อมทอนซิล  ผู้ป่วยที่มีทอนซิลอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการไข้  หนาวสั่น เจ็บคอ โดยเฉพาะ เวลากลืนอาหาร จะเจ็บมาก  โรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย   โรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน ในเด็กก่อนวัยเรียน มักจะเกิดจากเชื้อไวรัส และติดต่อกันได้ง่าย เพราะไม่รู้จัก การป้องกัน  ส่วนโรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน ในเด็กโตและผู้ใหญ่ มักจะเกิดจาก การติดเชื้อแบคทีเรีย
            การรักษาทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน: ปกติแพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ยาลดน้ำมูก หรือลดไข้   ให้ยาต้านจุลชีพ หรือยาแก้อักเสบ เพื่อกำจัดเชื้อต้นเหตุ  ถ้าการอักเสบนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  ในรายที่มีอาการมากๆ เช่น เจ็บคอมาก จนรับประทาน อาหาร ไม่ได้ และมีไข้สูง  แพทย์จะแนะนำให้ นอนพักรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ และยาต้านจุลชีพ ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะทำให้อาการทุเลา ดีขึ้น เร็วกว่า การให้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน  หากแพทย์พิจารณาว่า สาเหตุมาจากไวรัส ก็จะ ให้ยาตามอาการเท่านั้น เพราะยาต้านจุลชีพ ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน การอักเสบของต่อมทอนซิล อาจจะกระจายกว้างออกไป จนเกิดเป็นหนอง บริเวณรอบต่อมทอนซิล แล้วอาจลุกลาม ผ่านช่องคอ เข้าสู่ช่องปอด และหัวใจได้  นอกจากนั้น เชื้อแบคทีเรีย อาจเข้ากระแสเลือด แล้วกระจายไปทั่วร่างกาย ซึ่งนับเป็นภาวะที่เป็นอันตรายอย่างมาก เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
            หากเป็นต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันบ่อยๆ ต่อมทอนซิลจะโตขึ้น แล้วเปลี่ยนสภาพ เป็นแบบเรื้อรัง และอาจมีการอักเสบอย่างเฉียบพลันได้  การที่ต่อมทอนซิลโต จะทำให้เกิดร่อง หรือซอก ซึ่งเศษอาหารอาจเข้าไปตกค้างอยู่ได้ อาจทำให้เกิดการอักเสบ ยืดเยื้อออกไป
โดยทั่วไป แพทย์จะพิจารณาตัดต่อมทอนซิลก็ต่อเมื่อ
            1. เป็นภาวะต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือเกิดการอักเสบ ปีละหลาย ครั้ง หลายปีติดต่อกัน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เช่นต้องขาดงาน หรือขาดเรียนบ่อย
            2. เมื่อต่อมทอนซิลโตมากๆ ทำให้เกิดอาการนอนกรน และ/ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 
            3. ผู้ป่วยที่มีต่อมทอนซิลโต และแพทย์สงสัยว่า อาจเป็นมะเร็งของต่อมทอนซิลโดยตรง หรือมีมะเร็ง ที่ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ แล้วหาตำแหน่งมะเร็งต้นเหตุไม่เจอ แต่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งที่มาจากต่อมทอนซิล 

การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออก ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือของช่องปากลดลงแต่อย่างใด

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด