ฉลากยาน่ารู้ ดูให้ดีก่อนซื้อ

ฉลากยาน่ารู้  ดูให้ดีก่อนซื้อ

ภญ.ฐนิตา  ทวีธรรมเจริญ
ฝ่ายเภสัชกรรม 
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


            สาระน่ารู้เกี่ยวกับการอ่านฉลากยา  และวิธีการรับประทานยา  เป็นสิ่งที่เราหลาย ๆ คนอาจลืมนึกถึงแต่ไม่เป็นไรค่ะวันนี้เรามาทำความรู้จักกับฉลากยากันดีกว่า เพราะในปัจจุบันแม้วิทยาการการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าไปมากและมีจำนวนแพทย์เพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อถึงยามเจ็บไข้ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังคงช่วยเหลือตนเองโดยการซื้อยาจากร้านขายยามารับประทานก่อนในเบื้องต้น  ทั้งนี้ในการใช้ยาทุกครั้งสิ่งที่สำคัญคือ ต้องใช้ให้ถูกต้อง และสิ่งที่จะทำให้เราใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ก็คือการอ่านฉลากและเอกสารกำกับยา เพราะจะทำให้รู้ว่า เป็นยาอะไร ใช้อย่างไร มีสรรพคุณอะไรและมีคำเตือนอย่างไรบ้างเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาดังจะได้กล่าวต่อไป
การอ่านฉลากยาและเอกสารกำกับยา
       
            ตามความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันต้องจัดให้มีฉลากตามที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ โดยจะต้องปิดไว้ที่ภาชนะและหีบห่อบรรจุยาหรือฉลากและเอกสารกำกับยา โดยแสดงรายละเอียดดังนี้
          1. ชื่อยา   มีทั้งชื่อการค้า (หรือยี่ห้อซึ่งเป็นชื่อที่ทางบริษัทผู้ผลิตแต่ละบริษัทเป็นคนตั้งชื่อ) และชื่อสามัญทางยา  โดยปกติแล้วประชาชนส่วนใหญ่มักจำชื่อการค้ากันซึ่งอาจเป็นเพราะความคุ้นเคยจากโฆษณาหรือเพราะตัวอักษรที่แสดงบนฉลากยาชื่อการค้าจะตัวโตกว่าชื่อสามัญ  แต่เพื่อความปลอดภัยอยากเชิญชวนให้พวกเราจำชื่อสามัญทางยาจะดีกว่าเพราะเป็นการป้องกันการใช้ยาซ้ำซ้อนได้ และชื่อสามัญโดยปกติแล้วจะมีเพียงชื่อเดียวไม่ได้มีหลายชื่อเช่นชื่อการค้า
            2. เลขทะเบียนตำรับยา  เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ายานั้นได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ว่ามีผลในการรักษาจริง  และมักจะมีคำว่า Reg.No หรือเลขทะเบียนที่ หรือทะเบียนยา

ถ้าเป็นยาที่มีตัวยาออกฤทธิ์เพียงตัวเดียวจะมีการแสดงดังนี้
               -1A....กรณีที่เป็นยาผลิตในประเทศ
               -1B....กรณีที่เป็นยานำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศแล้วนำมาทำการแบ่งบรรจุในประเทศ
               -1C....กรณีที่เป็นยานำหรือสั่งมาจากต่างประเทศ ส่วนเลขที่แสดงต่อท้ายอักษรภาษาอังกฤษ คือ เลขลำดับที่ที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยา
               และทับเลขท้ายของปี พ.ศ. ที่ได้ รับการขึ้นทะเบียน
                      เช่น 1A 12/45, 1B 3/49, 1C 30/49 เป็นต้น
               สำหรับตำรับยาที่มีตัวยาสำคัญตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป เลขทะเบียนตำรับยาจะขึ้นต้นด้วย 2A......,
               2B......., 2C............. แล้วตามด้วยลำดับที่และเลขท้ายของปี พ.ศ.ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 
          3. ปริมาณหรือขนาดบรรจุของยา เช่น ยาน้ำจะแจ้งขนาดบรรจุว่าขวดนั้นบรรจุกี่ซีซียาเม็ด จะต้องแจ้งขนาดบรรจุไว้ในฉลากด้วยว่า ยานั้นบรรจุกี่เม็ด       
          4. เลขที่
หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ ซึ่งมักใช้คำย่อเป็นเช่น Lot No., Cont.No., Batch No. หรือ L , C , L/C , B/C แล้วตามด้วยเลขแสดงครั้งที่ผลิต เช่น Batch No. 495  คือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตครั้งที่ 495  ซึ่งปกติแล้วตัวเลขที่แสดงจะเป็นสื่อที่แต่ละบริษัทจะกำหนดเพื่อเป็นความหมายที่สื่อให้กับเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้ผลิตเอง  เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ในการผลิต  เช่น เมื่อผลิตภัณฑ์มีปัญหาหากบอกเลขที่นี้จะทำให้สะดวกในการสืบค้นข้อมูลการผลิตต่อไป  
          5. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต
ยาที่ผลิตในประเทศต้องมีชื่อผู้ผลิตจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยาด้วย ในกรณีเป็นยาที่ผลิตในต่างประเทศ นำหรือสั่งเข้ามาต้องมีชื่อเมืองและประเทศที่ตั้งสถานที่ผลิตยา พร้อมทั้งชื่อของผู้นำหรือสั่งเข้ามา และจังหวัดที่ตั้งสถานที่นำ/สั่งยานั้น ๆ      
          6. วันเดือนปีที่ผลิตยา
มักมีคำย่อภาษาอังกฤษ Mfd. หรือ Mfg date. เช่น Mfd. 14/JAN/06 (ผลิต 14 ม.ค.2549)   และสำหรับวันหมดอายุ  มักมีคำย่อว่า Exp.Date หรือ Expiration Date หรือ บางครั้งอาจเขียนเป็นภาษาไทยว่า ยาสิ้นอายุ เช่น Exp.Date 14/JAN/08 (หมดอายุ 14  ม.ค.2551)  
          7. คำว่า  ยาอันตราย  , ยาควบคุมพิเศษ , ยาใช้เฉพาะที่ หรือ ยาใช้ภายนอก
  โดยส่วนมากจะแสดงด้วยอักษรสีแดง  ซึ่งเป็นการแสดงข้อมูลว่ายาดังกล่าวมีระดับข้อควรระวังในการใช้ยามากน้อยแค่ไหน  หรือควรใช้ยานี้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร    
          8. วิธีใช้
   ซึ่งในบางครั้งอาจมีวิธีรับประทานหลายแบบแล้วแต่ภาวะของอาการหรือโรคที่เป็น  หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร 
           9. ฤทธิ์ข้างเคียงของยา และคำเตือน   ในเอกสารกำกับยาอาจระบุข้อควรระวังจากการใช้ยาเช่น รับประทานยานี้แล้วอาจทำให้ง่วงนอนไม่ควรใช้เครื่องจักรหรือขับขี่ยานพาหนะ  ยานี้จะระคายเคืองกระเพาะอาหาร ถ้ารับประทานขณะ ท้องว่างอาจจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ เป็นต้น  
           10. ข้อมูลเกี่ยวกับการแพ้ยา เช่น อาจมีลมพิษคัน บวมเฉพาะที่ มีอาการปวดร้อน คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ หรืออาจมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หอบ  แน่นในคอ เสียงแหบ ความดันต่ำ คลำชีพจรไม่ได้ ซึ่งแล้วแต่บุคคลที่แพ้และชนิดของยา  อย่างไรก็ตามไม่ควรกลัวจนไม่กล้ารับประทานยาที่แพทย์สั่ง  เพราะข้อมูลที่แสดงนั้นเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นทุกครั้งหรือทุกคนที่ใช้ยา  
       
            ถึงตอนนี้ทุกท่านคงจะทราบกันแล้วว่า ฉลากและเอกสารกำกับยานั้น มีความสำคัญอย่างไร และให้ประโยชน์กับเรามากน้อย แค่ไหน   อย่าลืมนะคะ  อ่านสักนิดก่อนจะซื้อ ดูให้ดีก่อนจะใช้ เพื่อความปลอดภัย ของตัวท่านเอง

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด