สายตาผิดปกติจากโรคเบาหวานและการป้องกัน

สายตาผิดปกติจากโรคเบาหวานและการป้องกัน

รศ.นพ.อภิชาติ สิงคาลวณิช
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โนอินสุลิน หรือร่างกายสร้างอินสุลิน แต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้ ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และมีความผิดปกติในการทำงานของเซลล์ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจะมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก กินอาหารได้ แต่น้ำหนักลด การตรวจที่ทำให้ทราบว่าเป็นเบาหวาน คือ ตรวจพบมีน้ำตาลในปัสสาวะ ตรวจเลือดพบมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มีค่า 126 มิลลิกรัม / เดซิลิตร หรือมากกว่า

ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเป็นเวลานานจะมีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ
            1. จอประสาทตาผิดปกติจากโรคเบาหวาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตาบอดและสายตาพิการ
            2. โรคไตจากเบาหวาน โดยมีโปรตีนออกมากับปัสสาวะ มีความดันโลหิตสูง และการทำงานของไตเสื่อมลง
            3. โรคหัวใจ พบว่าเป็นสาเหตุของการตายในผู้ป่วยเบาหวานถึงร้อยละ 50
            4. ประสาทผิดปกติจากเบาหวาน มีการชาตามปลายมือ ปลายเท้า
            5. เท้าเป็นแผลเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด และปลายประสาทที่เท้า ทำให้เท้าชาและเกิดแผลเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องตัดขา
            ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ประมาณร้อยละ 50 ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรค ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานนาน 15 ปี มีร้อยละ 2 ที่เกิดตาบอดและร้อยละ 10 ที่มีสายตาเลือนราง การที่ประชากรอายุยืนยาวขึ้นทำให้มีโอกาสพบผู้ป่วยที่มีสายตาพิการและตาบอดจากโรคเบาหวานมากขึ้น

สาเหตุของตามัวและตาบอดในโรคเบาหวาน
อาการตามัวจากเบาหวานเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
            1. ตามัวขณะที่มีน้ำตาลในเลือดสูง
            ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอาการตามัวในขณะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากเลนส์ตาเกิดการบวมน้ำ เวลามองภาพไม่สามารถปรับโฟกัสภาพให้ชัดได้ อาการเหล่านี้เกิดเพียงชั่วคราว เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การเห็นจะกลับดีขึ้นได้
          2. ตามัวจากการเกิดต้อกระจก
            ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานนาน ๆ เลนส์ตาที่เดิมใสจะขุ่นขึ้น เรียกว่าต้อกระจก เกิดเนื่องจากน้ำตาลในเลือดมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสารซอบิตอล และฟรุคโตส สารเหล่านี้สะสมที่เลนส์ตาทำให้เลนส์ตาขุ่นบังแสงมิให้เข้าสู่นัยน์ตา วิธีรักษา คือ เมื่อต้อกระจกขุ่นมาก ทำการผ่าตัดเอาเลนส์ที่ขุ่นออก และใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทน
          3. ตามัวเนื่องจากมีจอประสาทตาผิดปกติ
            ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานาน จอประสาทตาจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยระยะแรกหลอดเลือดฝอยที่จอประสาทตามีการโป่งพอง และอาจแตกเห็นเป็นจุดเลือดออกเล็ก ๆ อาจพบไขมันออกมาจากผนังหลอดเลือดเหล่านี้เห็นเป็นก้อนสีเหลือง ไขมันที่รวมตัวใกล้จุดรับภาพที่จอประสาทตาร่วมกับจอประสาทตาบวม ทำให้ตามัวมองภาพไม่ชัด  ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานานเป็นสิบ ๆ ปี จอประสาทตาส่วนที่ขาดเลือดจะถูกกระตุ้นให้เกิดหลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติ หลอดเลือดเหล่านี้มีผนังเปราะแตกง่าย ทำให้มีเลือดออกภายในลูกตา ผู้ป่วยจะตามัวลงทันที นอกจากนี้อาจเกิดเนื้อเยื่อคล้ายพังพืดงอกตามหลอดเลือดและดึงรั้ง ทำให้จอประสาทตาลอกและตาบอดได้ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานาน 15 ปี โอกาสที่จอประสาทตาผิดปกติมีร้อยละ 50-60
          4. ตาบอดจากต้อหิน
            ผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดจอประสาทตาผิดปกติ อาจพบมีหลอดเลือดผิดปกติเกิดขึ้นที่บริเวณม่านตา หลอดเลือดเหล่านี้จะอุดทางเดินของน้ำภายในลูกตา ทำให้ความดันตาสูง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตามัวเมื่อเป็นนานเข้า ความดันตาที่สูงจะกดให้ประสาทตาฝ่อ และตาบอดได้

การป้องกันมิให้สายตาเสื่อมลง
            ก. ตรวจสุขภาพตาเป็นระยะ ๆ
            ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจสายตา และจอประสาทตา การเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตาระยะแรก คือ พบการโป่งพองของหลอดเลือดฝอยที่จอประสาทตา สิ่งสำคัญที่บอกถึงการพยากรณ์โรคและอัตราเสี่ยงต่อการเกิดตาบอดในภายหลัง คือ การพบหลอดเลือดผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเห็นได้โดยใช้กล้องตรวจดูจอประสาทตา หรือโดยการถ่ายภาพจอประสาทตา
          ข. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมัน และความดันโลหิต
            การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมัน และความดันโลหิตมิให้สูงเกินไป จะช่วยลดการเปลี่ยนแปลงที่จอประสาทตา ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระดับ 90-130 มิลลิกรัม / เดซิลิตร ระดับโคเลสเตอรอลต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม / เดซิลิตร ระดับไตรกลีเซอไรด์ต่ำกว่า 150 มิลลิกรัม / เดซิลิตร และคุมระดับความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท
          ค. ทำการรักษาจอประสาทตาโดยแสงเลเซอร์
            แสงเลเซอร์เป็นแสงที่มีความยาวของคลื่นแสงขนาดเดียวกัน สามารถปรับให้ลำแสงมีขนาดเล็กลงมาก แสงนี้สามารถผ่านตาดำ เลนส์ตา เข้าสู่จอประสาทตา เมื่อกระทบจอประสาทตา แสงจะเปลี่ยนจากพลังงานแสงเป็นพลังงานความร้อน ผู้ป่วยเบาหวานที่มีจอประสาทตาผิดปกติ มีหลอดเลือดโป่งพองจำนวนมาก และมีเลือดออกในจอประสาทตา การใช้แสงเลเซอร์จี้ที่ประสาทตา จะทำให้ส่วนของประสาทตาที่ขาดเลือด ต้องการออกซิเจนลดลง เป็นการป้องกันมิให้เกิดหลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติ นอกจากนี้การจี้เลเซอร์ ยังทำให้หลอดเลือดผิดปกติที่เกิดขึ้นแล้วฝ่อลงไปได้

            สรุปผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน มีผลแทรกซ้อนที่สำคัญทางจักษุที่ทำให้ตามัวคือ ความผิดปกติในจอประสาทตา การเกิดต้อกระจกและต้อหิน การป้องกันมิให้สายตาเลวลงโดยตรวจสุขภาพตาเป็นระยะ ๆ เมื่อพบการเปลี่ยนแปลงที่จอประสาทตาเกิดมากขึ้น การรักษาโดยแสงเลเซอร์จะช่วยป้องกันมิให้สายตาเลวลง

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด