การใช้กล้องส่องตรวจในโพรงจมูก (Nasal Endoscopy) ตอนที่ 1
การใช้กล้องส่องตรวจในโพรงจมูก (Nasal Endoscopy) ตอนที่ 1
รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การตรวจโพรงจมูกและโพรงหลังจมูกถือเป็นขั้นตอนการตรวจร่างกายที่สำคัญสำหรับการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังทางจมูก ไซนัส รวมทั้ง หู และ คอ ด้วย แต่เดิมการตรวจโพรงจมูกและโพรงหลังจมูกจะใช้เครื่องมือถ่างรูจมูก และกระจกร่วมกับการใช้แสงสว่างโดยใช้แหล่งกำเนิดแสง ซึ่งจะตรวจได้ข้อมูลเกี่ยวกับพยาธิสภาพภายในโพรงจมูกด้านหน้า และด้านหลังได้ในระดับหนึ่ง แต่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถตรวจบริเวณโพรงจมูกตอนกลางได้อย่างละเอียด
การส่องกล้องตรวจโพรงจมูกทำให้การวินิจฉัยโรคจมูก โรคโพรงหลังจมูกและพยาธิสภาพของไซนัสเป็นไปได้อย่างถูกต้องและแม่นยำขึ้น นอกเหนือจากการตรวจวินิจฉัยแล้ว ยังใช้ช่วยในการตัดชิ้นเนื้อภายในโพรงจมูกหรือไซนัสเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ใช้ในการส่องตรวจโพรงอากาศ บริเวณโหนกแก้ม(แม็กซิลล่า) ใช้ในการผ่าตัด ใช้ตรวจติดตามผลหลังการผ่าตัด นอกจากนี้ยังใช้ในการส่องตรวจรักษาในรายที่มีเลือดออกจากโพรงจมูก ใช้ผ่าตัดรักษาเนื้องอกของโพรงจมูกและไซนัส รวมถึงการผ่าตัดท่อน้ำตาด้วย
สำหรับประเทศไทย มีการใช้กล้องส่องตรวจโพรงจมูกและไซนัสเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513 ที่ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปัจจุบันสาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดตั้งคลินิกการตรวจโพรงจมูกโดยใช้กล้องส่องขึ้นสำหรับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังของจมูกและไซนัส หลังจากการ วินิจฉัยแล้วจะมีการตัดสินการรักษา ไม่ว่าจะรักษาด้วยการให้ยา หรือรักษาโดยการผ่าตัด หลังการรักษาจะมีการติดตามผลการรักษาด้วยการส่องกล้องตรวจ ซึ่งการใช้กล้องส่องตรวจนี้มีข้อดี คือ สามารถให้การวินิจฉัยโรคทางจมูกและไซนัสได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น สามารถตรวจพบพยาธิสภาพที่ซ่อนอยู่ซึ่งไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจร่างกายธรรมดา ช่วยทำให้ตัดสินการรักษาได้เหมาะสมมากขึ้น และติดตามการรักษาว่าได้ผลดีมากน้อยเพียงใด
เครื่องมือสำหรับการตรวจโพรงจมูกโดยใช้กล้องส่อง
โดยทั่วไปแพทย์จะใช้กล้องชนิดแข็ง (เทเลเอ็นโดสโคป: tele-endoscope) ขนาด 4 มิลลิเมตรสำหรับการตรวจโพรงจมูก ในผู้ป่วยที่ช่องจมูกแคบมาก หรือในเด็กที่มีช่องจมูกเล็ก แพทย์จะเลือกใช้กล้องเทเลเอ็นโดสโคปขนาด 2.7 มิลลิเมตร นอกจากนี้อาจใช้กล้องชนิดอ่อน (เฟล๊กซิเบิ้ลเอ็นโดสโคป: flexible-endoscope) ก็ได้ ซึ่งมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ซึ่งอาจจะดิ้นไปมาได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ซึ่งจะทำให้มีการบาดเจ็บต่อโพรงจมูกน้อยเวลาผู้ป่วยเคลื่อนไหวศีรษะ แพทย์ผู้ทำการตรวจสามารถดูได้โดยตรงด้วยตาเปล่า หรืออาจจะใช้กล้องวิดีทัศน์ต่อแล้ว ดูภาพบนจอทีวีก็ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่การเรียนการสอน รวมทั้งการบันทึกภาพเก็บไว้เป็นหลักฐานทางการแพทย์
การเตรียมผู้ป่วยและการให้ยาชาเฉพาะที่
ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนมารับการส่องตรวจโพรงจมูก และควรนำญาติมาด้วยอย่างน้อยหนึ่งคนในวันนัดตรวจ และแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมทั้งประวัติการแพ้ยา โดยเฉพาะยาชา โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะได้รับการส่องดูสภาพของโพรงจมูกส่วนหน้า ก่อนที่จะทำการพ่นยาหดหลอดเลือด (ยาที่ทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม) หรือก่อนการให้ยาชาเฉพาะที่ เพื่อประเมินสภาพจริงๆ ของเยื่อบุโพรงจมูกว่ามีการบวม แดง มีการคั่งของเลือด มากน้อยเท่าใด และเยื่อบุจมูกบวมมากหรือไม่ ทั้งนี้ถ้าทำการพ่นยา หดหลอดเลือด และให้ยาชาก่อนจะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวมหมด และไม่สามารถบอกสภาพจริงๆ ของเยื่อบุจมูกของผู้ป่วยได้
ในผู้ป่วยเด็กเล็ก แพทย์อาจจะเริ่มต้นจากการคุยกันให้เด็กคุ้นเคยก่อน แล้วใช้กล้องส่องหู สาธิตให้ดูว่าจะใช้กล้องนี้ส่องดูที่จมูก โดยเริ่มจากส่องหูก่อนแล้วค่อยมาส่องดูจมูกเพื่อให้เด็กคุ้นเคย หลังจากนั้นจึงค่อยเริ่มขบวนการตรวจจมูกด้วยกล้องต่อไป
วิธีการทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม และให้ยาชาเฉพาะที่
แพทย์จะใช้น้ำยาหดหลอดเลือด ผสมกับยาชา ในอัตราส่วน 1: 1 แล้วนำน้ำยานี้ใส่ขวดสเปรย์สำหรับพ่นจมูก แล้วนำไปพ่นเข้าไปในโพรงจมูกของผู้ป่วยข้างละ 2-3 ครั้ง ให้ผู้ป่วยนั่งรอประมาณ 5 นาที เยื่อบุจมูกจะยุบบวม และสามารถทำการตรวจภายในโพรงจมูกได้เกือบทุกราย ในรายที่เยื่อบุจมูกบวมมาก ไม่ยุบ หรือต้องการตรวจละเอียดเพิ่มเติมในบางบริเวณ แพทย์จะใช้สำลีแผ่นบางตัดเป็นชิ้นยาวประมาณ 1½ นิ้ว ชุบน้ำยาหดหลอดเลือด ผสมกับยาชา แล้วบีบให้หมาดๆ แล้วใส่ในโพรงจมูก วิธีการทั้ง 2 แบบนี้จะทำให้เยื่อบุโพรงจมูกยุบบวมลงมาก ยาชาจะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บระหว่างการใช้กล้องส่องตรวจ สามารถส่องตรวจได้เกือบทุกบริเวณของโพรงจมูก
- มีต่อตอนที่ 2-