การวัดระดับไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ( Microalbuminuria )

การวัดระดับไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ( Microalbuminuria ) : ความสำคัญในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ศ.พญ.นีโลบล เนื่องตัน, อ.พญ.นันตรา สุวันทารัตน์ 
ภาควิชาชีวเคมี
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 
 

            ในปัจจุบันโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาหลักทางสุขภาพของคนไทยและคนทั่วโลก ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เนื่องจากสาเหตุของโรคดังกล่าวนี้ส่วนมากยังระบุได้ไม่ชัดเจน แต่สามารถบอกได้ในรูปแบบของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ สำหรับการรักษา ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการของโรค ร่วมกับการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ความผิดปกติของไต (Diabetic Nephropathy) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะมีผลทำให้การทำงานของไตเสื่อมถอยลงจนถึงขั้นเกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ และระยะสุดท้ายของภาวะไตวายเรื้อรัง (End stage renal disease) นี้ในปัจจุบันการรักษาส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของการประคับประคองเท่านั้น ผู้ป่วยต้องทำการล้างไตอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ถ้าหากไม่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไต ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มาก ดังนั้นจึงมีความพยายามในการศึกษาวิธีที่ช่วยในการวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนนี้ตั้งแต่ระยะแรก เพื่อที่แพทย์จะได้ปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสมและช่วยชะลอหรือลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนนี้ได้
            ภาวะไมโครอัลบูมินนูเรีย ( Microalbuminuria ) คือ ภาวะที่มีการขับอัลบูมิน (โปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอณูเล็กขนาดประมาณ 60,000 dalton) ทางปัสสาวะในปริมาณระหว่าง 30 -300 มิลลิกรัมภายในเวลา 24ชม. หรือปริมาณ 30 – 30 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัมของครีอาตินีน  และจะต้องพบ 2 ใน 3 ครั้งของปัสสาวะที่เก็บต่างเวลากัน ภาวะนี้สามารถบ่งชี้ถึงการเสื่อมหน้าที่ของไตที่ในระยะเริ่มแรกได้ อนึ่งการตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะนี้เป็นการวัดระดับของอัลบูมินในปัปริมาณที่น้อยกว่าการตรวจหาโปรตีนหรืออัลบูมินปัสสาวะด้วยวิธีทั่วไป (ที่มีปริมาณมากกว่า 300 มิลลิกรัมในปัสสาวะ 24ชม. หรือ มากกว่า 30 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัมครีอาตินีน)  อย่างไรก็ดีภาวะไมโครอัลบูมินนูเรียที่ไม่เกี่ยวกับภาวะไตเสื่อมหน้าที่ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ได้ เช่น  ภาวะไข้สูง ปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดงปน การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ  กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ขณะมีประจำเดือน มีตกขาว การตั้งครรภ์ ภาวะหัวใจวาย การออกกำลังกายอย่างหนัก และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
            ในปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าการให้ยาในกลุ่ม Angiotensin Converting Enzyme Inhibitor (ACE Inhibitor) เช่น ยา Enalapril  ซึ่งเป็นกลุ่มยาลดความดันโลหิตสูง จะมีผลช่วยลดบริมาณอัลบูมินในปัสสาวะในรายที่มีการตรวจพบภาวะไมโครอัลบูมินนูเรียได้ และสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ยืนยันได้ว่าภาวะไมโครอัลบูมินนูเรีย นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันของประชากรทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงอีกด้วย  ดังนั้นการตรวจกรองเพื่อหาภาวะนี้จึงมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้อีกทางหนึ่ง
            การตรวจวินิจฉัยภาวะไมโครอัลบูมินนูเรียนี้ ในปัจจุบัน  มีข้อบ่งชี้ ตามคำแนะนำของสมาคมแพทย์โรคเบาหวานในสหรัฐอเมริกา ให้เป็นการตรวจกรองในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่1 (ชนิดต้องพึ่งอินซูลิน) ในรายที่การดำเนินโรคเข้าสู่ปีที่ห้าเป็นต้นไป และในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่2 (ชนิดไม่ต้องพึ่งอินซูลิน) ควรได้รับการตรวจตั้งแต่เริ่มต้นที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน (เนื่องจากส่วนมากของผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถระบุระยะเวลาของการดำเนินโรคที่แท้จริงได้) และถ้าตรวจไม่พบภาวะนี้ก็ควรตรวจเช็คระดับไมโครอัลบูมินในปัสสาวะต่อเนื่องทุก ๆ ปี  รวมทั้งในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุ ก็ควรตรวจเช็คเช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้สามารถติดตามการเสื่อมหน้าที่ของไตในระยะแรกเริ่มของผู้ป่วยเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด