โรคเป็นสาวก่อนวัย ตอนที่ 1
โรคเป็นสาวก่อนวัย ตอนที่ 1
รศ.พญ.สุภาวดี ลิขิตมาศกุล
หัวหน้าสาขาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
Precocious Puberty หรือที่เราอาจเคยได้ยินว่า โรคเป็นสาวก่อนวัย ซึ่งมักจะเกิดกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการเจริญเติบโตในช่วงวัยเด็ก ทำให้เด็กมีเต้านมหรือมีประจำเดือน รังไข่และมดลูกหรืออัณฑะทำงานและพร้อมที่จะเจริญพันธ์ ซึ่งการเจริญเติบโตที่เร็วผิดปกตินี้อาจส่งผลเสียต่อเด็กหลายด้าน เช่น กระทบต่อเรื่องส่วนสูงของเด็ก (เพราะหลังจากที่มนุษย์เราเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ ปลายกระดูกระหว่างข้อต่อจะปิดลง ทำให้หยุดสูง) โอกาสที่จะเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม (สันนิษฐานทางการแพทย์ว่า การมีเต้านมเร็วจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้มาก เพราะเนื้อเยื่อเต้านมถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิงเร็วขึ้น) สภาพจิตใจของเด็ก รวมถึงอันตรายจากบุคคลภายนอก เช่น กรณีการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และภาวะตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม
เราสามารถแบ่งช่วงการเจริญเติบโตของมนุษย์เป็น 4 ช่วง ได้แก่ช่วงอยู่ในครรภ์มารดา วัยเด็กเล็ก (ตั้งแต่แรกคลอด - 3 ขวบ) วัยเด็ก (3-8 ขวบ) และวัยรุ่นเจริญพันธุ์ ในแต่ละช่วงจะมีปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน แต่อาจมีความผิดปกติด้านร่างกายหรือปัจจัยภายนอกบางอย่างที่กระทบต่อระบบควบคุมการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ วัยเด็กจะมีปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโต นั่นก็คือ growth hormone และในวัยรุ่นซึ่งเป็นก้าวแรกสู่วัยเจริญพันธ์ก็จะมีฮอร์โมนเพศ (sex hormone) เป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลง โดยฮอร์โมนทั้งสองตัวนั้นผลิตมาจากต่อมใต้สมอง (พิทูอิทารี) ต่อมที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนเพศนั้นจะถูกควบคุมการเริ่มและหยุดสร้างฮอร์โมนด้วยระบบหนึ่ง มีชื่อว่า ไฮโปทาลามิก พิทูอิทารี โกนาดอล แอกซิล ซึ่งระบบนี้ควบคุมด้วยสมองส่วนไฮโปทาลามัสอีกต่อหนึ่ง ซึ่งระบบไฮโปทาลามิกนี้เป็นเหมือน สวิตซ์ของการสั่งผลิตฮอร์โมน นั่นเอง
ระบบ ไฮโปทาลามิก พิทูอิทารี โกนาดอล แอกซิล นี้จะถูกติดตั้งขึ้นในร่างกายตั้งแต่สองสามเดือนแรกที่เราอยู่ในท้องแม่ และทำงานมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราคลอดออกมา อายุได้หนึ่งขวบ สวิสซ์ก็จะปิดลงชั่วคราว จากนั้นระบบนี้จะฟื้นคืนชีพมาอีกครั้งเมื่อเราอายุประมาณ 6-8 ขวบ โดยจะเริ่มกระตุ้นการทำงานของร่างกายในเรื่องสารเคมีต่าง ๆ แต่ยังไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะทางเพศ จนกระทั่งฮอร์โมนและสารเคมีในร่างกายผลิตออกมามากเพียงพอแล้ว อวัยวะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตฮอร์โมนเพศ เช่น รังไข่หรือลูกอัณฑะ (ซึ่งควบคุมด้วยฮอร์โมนโกนาโดรโทรฟิน หลั่งจากต่อมใต้สมอง) จึงจะเริ่มทำงาน ทำให้เด็กเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายภายนอกเหมือนผู้ใหญ่มากขึ้น เช่น มีเต้านมและมีประจำเดือนในเด็กผู้หญิง และมีการเปลี่ยนแปลงของขนาดอัณฑะและองคชาติในเด็กผู้ชาย ซึ่งโดยทั่วไปจะเริ่มที่อายุประมาณ 8-9 ขวบ จากนั้นระบบไฮโปทาลามิกจะทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดไป
สรุปก็คือ ระบบไฮโปทาลามิกมีหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างและเก็บสะสมฮอร์โมนเพศและสารเคมีในร่างกายต่าง ๆ ในช่วงวัยเด็กเพื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นนั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้เป็นสาวก่อนวัย
สาเหตุที่ส่งผลให้ระบบดังกล่าวทำงานผิดปกติไป แบ่งได้ 3 สาเหตุใหญ่ ๆ ก็คือ
- สาเหตุจากภายใน
อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า สวิสซ์ควบคุมการผลิตฮอร์โมน (ระบบไฮโปทาลามิก) มีไฮโปทาลามัสควบคุมอยู่อีกต่อหนึ่ง ดังนั้นเด็กที่มีไฮโปทาลามัสผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด หรือถูกกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ ได้รับการผ่าตัดหรือฉายแสงที่สมอง หรือเป็นเนื้องอกของต่อมใต้สมองซึ่งอยู่ใกล้กับไฮโปทาลามัส ก็จะส่งผลให้การควบคุมการทำงานของระบบไอโปรทาลามิกนี้ผิดเพี้ยนไป ระบบจึงทำงานเร็วขึ้น เกิดเป็นสาวก่อนวัยขึ้นมา
อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ การเป็นเนื้องอกบางชนิดในช่วงแกนกลางของไฮโปทาลามัส (แกนกลางของสมอง) เช่น เนื้องอก Harmatoma ซึ่งเป็นติ่งเนื้อเล็ก ๆ ไม่ส่งผลให้เห็นจากอาการภายนอก แต่เนื้องอกชนิดนี้จะสามารถสร้างฮอร์โมนบางชนิดขึ้นมา และฮอร์โมนเหล่านั้นมีผลไปกระตุ้นฮอร์โมนโกนาโดรโทรฟินในต่อมใต้สมอง (Pituitary) ให้ทำงานเกิดขบวนการสร้างฮอร์โมนเพศขึ้น ก็จะส่งผลต่อการเป็นสาวก่อนวัยได้ รวมถึงการมีซีสต์และเนื้องอกที่รังไข่ อัณฑะ หรือต่อมเพศซึ่งสามารถส่งผลให้เป็นสาวก่อนวัยได้เช่นกัน และท้ายสุดคือ การผิดปกติของต่อมหมวกไตซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศโดยตรง กรณีนี้พบได้ในเด็กที่เป็นโรค CAH (โรคต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนมากเกินไป)
- สาเหตุจากภายนอก
สาเหตุนี้กล่าวง่าย ๆ คือ เมื่อวัยเด็กได้รับฮอร์โมนเพศซึ่งเป็นฮอร์โมนในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ระบบร่างกายก็จะพัฒนาเร็วขึ้น ในอดีตพบว่า เด็กที่กินวิตามินหรือยาบางชนิดที่โฆษณาว่า เด็กกินยานี้แล้วจะโตเร็ว แท้จริงแล้วยานี้มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ เมื่อกินยาประเภทดังกล่าวเข้าไปเด็กจะมีการสะสมไขมันมากขึ้น ทำให้เด็กอวบขึ้น ดูตัวโตกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน เป็นผลพวงจากการได้รับฮอร์โมนก่อนวัย
การโตก่อนวัยนั้นส่งผลเสียต่อระบบโครงสร้างความสูงของเด็ก กระบวนการนี้อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงนั้นมีอยู่ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ฮอร์โมนตัวนี้จะเป็นตัวควบคุมให้ปลายของกระดูกซึ่งเจริญเติบโตอยู่ปิดลง ทำให้เด็กผู้หญิงหยุดสูงหลังจากมีประจำเดือน 2 ปี ส่วนปลายกระดูกของเด็กผู้ชายจะปิดช้ากว่าผู้หญิง 3-5 ปี (ผู้ชายเลยมีโอกาสสูงกว่าปกติ) ดังนั้นหากได้รับฮอร์โมนเพศดังกล่าวเข้าไปในวัยที่ไม่เหมาะสมและปริมาณมากเกินไป ก็จะส่งผลให้เด็กเกิดเป็นหนุ่มหรือเป็นสาวก่อนวัยได้
-มีต่อต่อนที่ 2-