ทำไมกินยารักษา ไทรอยด์เป็นพิษ หยุดยาแล้วเป็นใหม่อีก

ทำไมกินยารักษา ไทรอยด์เป็นพิษ หยุดยาแล้วเป็นใหม่อีก

รศ.นพ.อดุลย์  รัตนวิจิตราศิลป์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            สำหรับท่านที่มีอาการเหนื่อยใจสั่น และแพทย์ให้การวินิจฉัยว่า เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ บางครั้งพอได้รับยาไปรับประทานก็ดีขึ้น แต่หยุดยาก็กลับเป็นอีก ทำให้เกิดคำถามต่างๆ มากมาย เช่น รักษาไม่หายหรืออย่างไร หรือ ยาไม่ดีพอ หรือ มีโรคร้ายแรงซ่อนอยู่หรือไม่ ลองมาดูกันสิครับว่าความจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร

ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นอย่างไร มีอาการอย่างไร
            ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะ หรือ โรคที่เกิดจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ มีการทำงานมากเกินไป เกิดการสร้างฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากผิดปกติ ทำให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายผิดปกติตามไปด้วย อาการที่พบคือ ใจสั่น หงุดหงิด ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย กินจุแต่น้ำหนักไม่เพิ่มหรือกลับผมลง บางคนมีผิวค่อนข้างชื้น บางคนมีอาการท้องเสีย ส่วนบางคนก็ตาโปนออก ฯลฯ

รู้ได้อย่างไรว่าไทรอยด์เป็นพิษ
    
      หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น แพทย์จะตรวจเลือด เมื่อพบว่าการทำงานของต่อมไทรอยด์มากผิดปกติ ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้

รักษาไทรอยด์เป็นพิษอย่างไรจึงจะดี
            การรักษาหลักของไทรอยด์เป็นพิษ คือ การกินยา ยาที่ใช้รักษา เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ซึ่งยับยั้งทั้งการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาใหม่ และ ยับยังการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนที่มีอยู่แล้ว เมื่อรับประทานยาที่ได้ขนาดพอเหมาะ อาการมักจะดีขึ้นในเวลาไม่กี่วัน ในระยะแรกแพทย์อาจจะให้ยาที่ลดอาการใจสั่นร่วมด้วย แต่เมื่อระดับของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยาลดอาการใจสั่น กินแต่ยาต้านฤทธิ์ฮอร์โมนไทรอยด์ เพียงอย่างเดียวก็พอ
            เนื่องจากโรคของไทรอยด์เป็นพิษ ส่วนใหญ่จะเกิดจากปฏิกริยาของร่างกายต่อต่อมไทรอยด์ของเราเอง ทำให้เกิดการกระตุ้นให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จนเกิดเป็นพิษขึ้น ปฏิกริยานี้ จะต้องใช้เวลาในการหาย คือ จะไม่หายในทันที แต่จะลดความรุนแรงลงเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 2 ปี ดังนั้น เมื่อกินยารักษาไทรอยด์เป็นพิษจนรู้สึกสบายตัว ไม่เหนื่อย ไม่ใจสั่น น้ำหนักตัวเริ่มขึ้น ก็ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะโรคยังเป็นอยู่ แต่ถูกกดไม่ให้มีอาการด้วยยาที่รับประทาน แพทย์จะเป็นผู้ตรวจเลือดให้เพื่อดูว่าอาการของโรคดีขึ้นมากน้อยเพียงใด เมื่ออาการดีขึ้น แพทย์จะค่อยๆ ลดยาลง จนสามารถหยุดยาได้ในที่สุด
            ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคนี้ หากหยุดยาเอง จะมีอาการกลับมาเป็นใหม่ เพราะโรคยังอยู่ เมื่อไม่มียาควบคุมจึงมีอาการกลับมาเป็นซ้ำ การปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับคนเป็นโรคนี้ คือ ไม่ควรหยุดยาเอง กินยาให้สม่ำเสมอ ไปตรวจตามแพทย์นัด หากลืมยา หรือ ทำยาหาย ควรไปพบแพทย์เพื่อซื้อยาใหม่ ไม่ควรหยุดยาเพราะจะทำให้เกิดอาการและการควบคุมโรคยากขึ้น

ทำไมบางครั้งกินยาแล้ว คอกลับโตขึ้น
            ในผู้ป่วยบางรายเมื่อกินยาแล้ว คอกลับโตขึ้น อาจมีสาเหตุได้ 2 กลุ่มคือ ยาไม่พอ ทำให้โรคยังกำเริบอยู่ คอจึงโตขึ้น ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีอาการคล้ายกับตอนเริ่มต้น แต่ในผู้ป่วยอีกกลุ่มเกิดจากการกินยาเกินขนาด คือ โรคเริ่มดีขึ้น แต่ยังกินยาเท่าเดิมอยู่ จึงเกิดคอพอกชนิดไม่เป็นพิษร่วมด้วย คอก็โตขึ้นได้เช่นกัน ข้อแนะนำคือ หากกินยาแล้วคอกลับโตขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์บ่อยๆ เพราะการรักษาจะไม่ต่อเนื่อง

หากกินยาไม่หาย จะทำอย่างไรดี
            หากกินยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ การกินไอโอดีนกัมมันตรังสี ระยะเวลาเฉลี่ยในการรักษาด้วยยา มักจะประมาณ 2 ปี ในระหว่างนี้ หากลดยาไม่ได้ หรืออาการมากขึ้น แนะนำให้ทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด หรือกลืนรังสี

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด