เมื่อไรจะสงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม

เมื่อไรจะสงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม

รศ.นพ.อดุลย์  รัตนวิจิตราศิลป์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

                ขึ้นชื่อว่ามะเร็งทุกคนก็กลัวกันทั้งนั้นละครับ โดยเฉพาะในสุภาพสตรี มะเร็งที่สุภาพบุรุษมีความเสี่ยงน้อยกว่ามากๆ คือ มะเร็งเต้านม และ มะเร็งมดลูก ซึ่งทั้ง 2 ชนิดเป็นมะเร็งอันดับที่ 1- 2 ที่พบในสุภาพสตรี การมีความรู้ไว้บ้างก็คงจะดีนะครับ เพราะหากสงสัยว่าเป็นมะเร็งและสามารถตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ก็จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น โอกาสหายจากโรคก็มีมากขึ้น

มะเร็งเต้านมพบได้บ่อยแค่ไหน
                อัตราการพบมะเร็งเต้านมในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ เชื้อชาติ และ วิถีการดำเนินชีวิต เช่น ในประเทศตะวันตก พบมะเร็งเต้านมได้ถึง มากกว่า 100 คน ในสุภาพสตรีวัยเจริญพันธุ์ 1 แสนคน ส่วนในเอเชียพบน้อยกว่า ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาของไทยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารระบาดวิทยาระดับโลก พบว่าหญิงไทยมีอัตราการพบมะเร็งเพียง 40 คน ในสุภาพสตรีวัยเจริญพันธุ์ 1 แสนคน ซึ่งถ้าเทียบเป็นร้อยละ ก็จะได้เท่ากับ ร้อยละ 0.04 ซึ่งน้อยมากนะครับ

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
                ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น คือ อายุ พบว่าคนอายุมากขึ้น มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ในสุภาพสตรีที่พบก้อนที่เต้านมเมื่ออายุ 60 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 50-60
                ปัจจัยอื่นๆที่มีความสำคัญรองลงมาคือ การเคยผ่าตัดก้อนเนื้อที่เต้านมและพบว่าเป็นซีสเต้านมชนิดที่เริ่มผิดปกติ(atypia) และการพบว่ามีญาติสนิท(แม่ พี่สาว น้องสาว หรือลูก) เป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 2 คน
                ปัจจัยอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อย ได้แก่ การเริ่มมีประจำเดือนมาครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย การหมดประจำเดือน(วัยทอง)ช้า การไม่มีบุตร หรือ มีบุตรยาก การที่เคยใช้ยากลุ่มฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 10 ปี เป็นต้น

เมื่อไรจะสงสัยว่าเป็นมะเร็ง
                มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บ หรือ ปวด (มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเต้านม) แต่จะคลำพบก้อนที่เต้านม ดังนั้น การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ จะช่วยในการตรวจหามะเร็งเต้านมได้ หากพบก้อนที่ไม่เคยพบมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ ก้อนของเต้านมที่เป็นมะเร็งนั้น มักจะแข็ง และ ขรุขระ แต่ก็อาจเป็นก้อนเรียบๆได้นะครับ
                อาการอื่นๆ นอกจากก้อนที่เต้านมแล้ว อาจพบผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือ มีรูปร่างของเต้านมผิดไปจากเดิม หรืออาจมีแผลที่หัวนมและรอบหัวนม หรือมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนม บางรายคลำพบก้อนบริเวณรักแร้ และนานๆ ครั้งจะมะเร็งเต้านมที่มีอาการบวมแดง คล้ายการอักเสบที่เต้านมครับ นอกจากอาการผิดปกติที่เต้านมแล้ว การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม(mammogram) และ อัลตราซาวด์(ultrasound) สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมขนาดเล็กตั้งแต่ยังไม่มีอาการได้ โดยอาจพบก้อน หรือ จุดหินปูนในเนื้อเต้านมได้ครับ

ตรวจเลือด และ ตรวจยีน (gene) จะบอกได้ไหมว่าเป็นมะเร็งเต้านม
                การตรวจเลือดเพื่อหามะเร็งเต้านั้น  มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ เนื่องจากว่า คนที่เป็นมะเร็งเต้านม จะพบผลการตรวจเลือดเกี่ยวกับมะเร็ง เช่น CA153, CEA ผิดปกติน้อยกว่าร้อยละ 20 จึงไม่ค่อยคุ้มกับการตรวจ เพราะผลตรวจเลือดปกติ ก็ยังอาจกำลังมีมะเร็งเต้านมอยู่ในร่างกายได้ ส่วนการตรวจยีน เช่น gene BRCA1, BRCA2 ซึ่งจะมีความผิดปกติในมะเร็งเต้านมที่เป็นกันทั้งครอบครัว หากตรวจพบก็ไม่ได้บอกว่า กำลังเป็นมะเร็งอยู่ เพียงแต่ทำให้ทราบว่าโอกาสจะพบมะเร็งเต้านมในคนๆนั้นมากกว่าคนทั่วๆไป และ ยีนดังกล่าวก็พบได้เพียงร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด ดังนั้น หากตรวจยีนดังกล่าวแล้วปกติ ก็ยังมีสิทธิเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ไม่น้อย

ข้อแนะนำ
                ดังนั้น วิธีการที่จะทราบว่ามีมะเร็งเต้านมหรือไม่ ก็คือ คลำเต้านมตนเองทุกเดือน พบแพทย์ตรวจเมื่อมีอาการสงสัย(อย่าปล่อยไว้เพราะไม่เจ็บ) และ ตรวจแมมโมแกรมประจำปี เริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปีเป็นต้นไป

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด