โรคเรื้อน
โรคเรื้อน
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เรารู้จักกันมานาน คนทั่วไปมักมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนที่เป็นโรคนี้อาจจะเป็นเพราะความเชื่อเก่า ๆ ที่ว่า คนเป็นโรคเรื้อนเพราะประพฤติตนไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ขัดต่อข้อห้ามทางศาสนาหรือประเพณีต่าง ๆ แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นดังความเชื่อเหล่านั้น เพราะโรคเรื้อนเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียตระกูลเดียวกับวัณโรค แต่อาการจะไม่รุนแรงเฉียบพลันจนทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายได้ อย่างวัณโรค ตรงกันข้างกลับมีอาการลุกลามอย่างช้า ๆ จนในระยะหลังทำให้เกิดความพิการที่มือ เท้า ใบหน้า และใบหู ทำให้เป็นที่รังเกียจแก่คนทั่วไป หากมารับการรักษาเสียแต่ในระยะเริ่มแรก โรคเรื้อนก็สามารถหายได้ง่าย และไม่ก่อให้เกิดความพิการดังกล่าว
สาเหตุที่ผู้ป่วยไม่มารับการรักษา
อาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้หรือหลายปัจจัยร่วมกัน คือ
- ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรค เนื่องจากผื่นในระยะแรก มักมองเห็นได้ไม่ชัดเจน และไม่มีอาการเจ็บหรือคัน หากเกิดผื่นในตำแหน่งที่ผู้ป่วยมองไม่เห็นเช่นที่หลังหรือที่ก้น ก็จะไม่มารับการรักษา
- ไม่กล้ามารับการรักษาเพราะเกรงว่าผู้อื่นจะรู้ว่าเป็นโรคเรื้อน และจะเป็นที่รังเกียจหรือถูกไล่ออกจากงาน
สาเหตุของการเกิดโรค
เชื้อโรคเรื้อนเป็นมัยโคแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดโรคเฉพาะในคนหรือสัตว์บางชนิด เช่น ตัวนิ่มเก้าลาย และลิงบางชนิด เท่านั้น หากเชื้อโรคเรื้อนออกมานอกตัวคนและสัตว์มันจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในธรรมชาติ ทางที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายคนยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่าอาจจะเกิดจากการหายใจและไอจามรดกันเช่นเดียวกับวัณโรค เพราะผู้ป่วยโรคเรื้อนที่มีอาการมากจะมีเชื้อโรคอยู่ในจมูกได้ นอกจากนี้อาจเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ที่จริงแล้วเชื้อโรคเรื้อนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในคนได้ง่ายนัก เนื่องจากเชื้อมีความรุนแรงไม่มาก หากผู้ที่ได้รับเชื้อมีสุขภาพแข็งแรงจะมีภูมิคุ้มกันโรคดี และไม่เกิดอาการของโรค ผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อและเป็นโรคเรื้อนมักจะต้องอยู่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อนเป็นระยะเวลานาน
อาการของโรคเรื้อน
เชื้อโรคเรื้อนจะก่อให้เกิดอาการของโรคที่ผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย การอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลาย จะทำให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมด้วยเส้นประสาทเส้นนั้นฝ่อลีบไป ทำให้มือเท้าหงิก และกุดได้ในระยะท้ายของโรค ที่จริงแล้วในระยะแรกของโรคมักจะมีผื่นจำนวนเล็กน้อย ผู้ป่วยระยะแรกเริ่มบางรายมีผื่นเพียงแห่งเดียว ซึ่งหากรักษาเสียตั้งแต่ในระยะนี้ก็จะหายสนิท และไม่เกิดความพิการใด ๆ เหลืออยู่ หากปล่อยทิ้งเนิ่นนานเป็นเดือนเป็นปี หรือหลาย ๆ ปี โรคจึงจะลุกลามอย่างช้า ๆ มีผื่นจำนวนมากขึ้น ผื่นระยะนี้จะมีสีแดงก่ำ ผิวเป็นมัน ขนคิ้วร่วง จมูกยุบ ใบหูหนาและบิดผิดรูปดังได้กล่าวแล้ว หากมารับการรักษาในระยะนี้ แม้จะหายจากโรคได้แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขความพิการดังกล่าวได้
การวินิจฉัยโรค
นอกจากการตรวจดูลักษณะผื่นที่ผิวหนังและอาการของเส้นประสาทส่วนปลายแล้วแพทย์จะทำการตรวจหาเชื้อที่ผื่น โดยการเจาะช่องเล็ก ๆ ที่ผิวหนัง หรือตัดผิวหนังไปตรวจ และหาเชื้อจากน้ำมูกในจมูกร่วมด้วย
การรักษา
ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาตามแบบแผนที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ตามความรุนแรงของโรค ซึ่งการรักษาโดยวิธีดังกล่าวนี้มีประสิทธิภาพดีมาก ผู้ป่วยที่รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ก็จะหายขาดจากโรคและไม่แพร่เชื้อไปติดต่อผู้อื่น
ผู้ป่วยระยะเริ่มแรกที่มีอาการน้อย จะได้รับประทานยา 2 ชนิด นาน 6 เดือน โดย
ยาชนิดที่ 1 จะเป็นเม็ดเล็กสีขาว รับประทานวันละ 1 เม็ดทุกวัน
ยาชนิดที่ 2 จะเป็นแคปซูล รับประทานเพียงเดือนละ 1 ครั้ง
ผู้ป่วยที่มีอาการมาก จะได้รับประทานยา 3 ชนิด นาน 2 ปี โดยมียาชนิดที่ 1 และ 2 เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย
ยาชนิดที่ 3 จะเป็นแคปซูลนิ่มสีน้ำตาลเข้ม วิธีการรับประทานจะยุ่งยากเล็กน้อย
ดังนี้คือ รับประทาน 3 เม็ดพร้อมกันเดือนละ 1 ครั้ง พร้อมยาแคปซูลชนิดที่ 2
วันอื่น ๆ ให้รับประทานวันละ 1 เม็ด พร้อมยาเม็ดเล็กสีขาว
ยาชนิดที่ 3 นี้เมื่อรับประทานแล้ว จะทำให้ผิวหนังผู้ป่วยมีสีน้ำตาลเข้มขึ้น แต่เมื่อหยุดรับประทานสีของผิวหนังจะกลับเป็นปกติ
เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเรื้อน และไม่มียาที่จะใช้ป้องกันการเกิดโรค ดังนั้นประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะอยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโรคเรื้อน ควรจะสำรวจผื่นผิวหนังตามร่างกายหากมีผื่นที่สงสัยว่าจะเป็นโรคเรื้อนในระยะเริ่มแรก ซึ่งมักจะเป็นวงด่างขาวจาง ๆ ตรงตำแหน่งที่มีผื่นจะไม่มีเหงื่อออกและขนร่วง ให้รีบมาปรึกษาแพทย์
มีผื่นน่าสงสัย รีบไปรักษา
วงด่างขาวชา รักษาหายง่าย
ไม่มีพิการ รับประทานยาตามสั่ง
หากรั้งรอช้า ผื่นหนาแดงก่ำ
ตามด้วยหงิกกุด ไม่สวยสุดสุด
รุดติดลูกหลาน ได้โปรดสงสาร
วานอย่ารังเกียจ เดียดฉันท์โรคเรื้อน