หูด

หูด

ภาควิชาตจวิทยา
         Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

หูดคืออะไร ?
           หูดเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ลักษณะของรอยโรคหูดโดยทั่ว ๆ ไปมักจะเห็นเป็นตุ่มแข็งมักอยู่กันเป็นกลุ่มมีขนาดได้ต่าง ๆ กันตั้งแต่ขนาดเล็กเพียงไม่กี่มิลลิเมตรไปจนถึงขนาดใหญ่เป็นเซนติเมตร เมื่อเราผ่านหน้าตัดของตุ่มแข็งนี้ออกจะเห็นว่ามีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหูด ตำแหน่งที่มักจะพบได้บ่อย ๆ เช่น มือ เท้า ส่วนที่หน้ามักพบเป็นหูดเม็ดแบน ๆ เล็ก ๆ เป็นจำนวนมากซึ่งจะพบในเด็กได้บ่อย
           นอกจากหูดที่พบได้ทั่ว ๆ ไปดังกล่าวแล้ว ยังมีหูดชนิดพิเศษที่ขึ้นบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนแถวอวัยวะเพศ รอบทวารหนัก เรียกว่า หูดหงอนไก่ เป็นตุ่มแดงนุ่มลักษณะคล้ายหงอนไก่ ติดต่อได้ง่ายทางเพศสัมพันธ์

หูดติดต่อได้อย่างไร ?
           หูดติดต่อได้โดยการสัมผัส เมื่อผิวหนังแตกเป็นแผล หรือมีรอยถลอกจะทำให้เชื้อไวรัสสามารถแทรกตัวลงไปได้ง่ายขึ้น และใช้เวลาแบ่งตัวอยู่หลายเดือนกว่าเราจะเห็นหูดเป็นเม็ด ๆ ได้ด้วยตาเปล่า ในคนบางกลุ่มมีแนวโน้มที่จะติดหูดได้ง่ายกว่าปกติ รวมทั้งในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันลดลงเช่นในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

หูดรักษาได้อย่างไร ?
           หูดในผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กสามารถหายได้เองแต่อาจใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีการกระจายของหูดได้เป็นจำนวนมาก จึงแนะนำว่าควรจะรักษาเสียตั้งแต่ยังเป็นน้อย ๆ

วิธีรักษามีหลายวิธี เช่น
ใช้น้ำยา
           ซึ่งมีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิค ความเข้มข้น 10-15% มีขายในท้องตลาดทั่วไป ทาบนเม็ดหูดวันละ 2-3 ครั้ง โดยระวังอย่าให้ถูกผิวหนังปกติรอบ ๆ หูด การรักษาแบบนี้จะใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะเห็นผล แต่เป็นวิธีที่ไม่เจ็บสามารถใช้กับเด็กได้
น้ำยาโพโดฟิลลินใช้สำหรับรักษาหูดหงอนไก่ซึ่งดื้อต่อการรักษาและต้องรักษาทั้งสามี-ภรรยาพร้อม ๆ กันเพื่อไม่ให้เป็นซ้ำ

จี้เย็น
           โดยใช้ไนโตรเจนเหลวซึ่งให้ความเย็นมากถึง 186o C การจี้ทำลายหูดวิธีนี้ต้องกระทำโดยแพทย์ผิวหนัง ผลการรักษา ไม่เกิดมีแผลเป็น และไม่เจ็บมากนัก แต่อาจต้องมารับการจี้ซ้ำหลายครั้งกว่าจะหายขาด

จี้ไฟฟ้า
           วิธีนี้ให้ผลค่อนข้างดี แต่เจ็บและอาจมีแผลเป็นได้

เลเซอร์
           เช่นเดียวกับวิธีจี้ไฟฟ้า แต่อาจให้ผลดีกว่าในรายของหูดที่เกิดในซอกเล็บซึ่งยากแก่การรักษา

หูดหายขาดหรือไม่ ?
           หูดสามารถหายขาดได้ แต่ขณะเดียวกันก็อาจติดซ้ำได้อีก หรืออาจเกิดใหม่ได้จากการที่เชื้อไวรัสเดิมยังไม่หมด ดังนั้นจึงควรรีบมารับการรักษาตั้งแต่เม็ดเล็ก ๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด