การบริจาคดวงตา

การบริจาคดวงตา

อ.นพ.สบง ศรีวรรณบรูณ์
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

1. ดวงตาที่รับบริจาคเรานำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง
ตอบ ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่าดวงตาที่นำมาบริจาค เราไม่ได้นำเอาดวงตาทั้งดวงมาใช้ เราใช้เฉพาะส่วนหน้าสุดที่ใช้เฉพาะกระจกตาเท่านั้น เพราะฉะนั้นกลุ่มคนไข้ที่จะได้รับประโยชน์จากการทำผ่าตัดชนิดนี้จะเป็นกลุ่มคนไข้ที่มีความผิดปกติทางด้านหน้าที่เรียกว่า กระจกตา ถ้ามีความผิดปกติทางด้านอื่น เช่น จอประสาทตา หรือ เส้นประสาทตา เราจะไม่สามารถทำการผ่าตัดเปลี่ยนดวงตาได้ ในส่วนของกระจกตา ก็จะมีโรคบางอย่าง เช่น เป็นแผลเป็นที่กระจกตา เป็นแผลติดเชื้อ มีความโค้งที่ผิดปกติ ซึ่งในกลุ่มคนไข้จะมีการมองเห็นที่ไม่ดี และถ้าได้รับการเปลี่ยนกระจกตาก็จะสามารถทำให้เขาสามารถกลับมามองเห็นที่ใกล้เคียงเหมือนปกติได้

2. ในปัจจุบันการบริจาคดวงตา พบปัญหามากน้อยแค่ไหน
ตอบ ปัญหาที่เราพบ ก็คือ กลุ่มคนไข้ที่แสดงความจำนงขอรับบริจาคตามีปริมาณค่อนข้างมาก จากตัวเลขล่าสุดของสภากาชาดที่มีคนไข้รอรับบริจาคดวงตา ประมาณ 3 ,000 กว่าราย ส่วนในกลุ่มของคนไข้ที่เราสามารถให้หรือบริจาคกระจกตาต่อปี ประมาณ 200-250 ราย ต่อปี ซึ่งจะเห็นว่ามีอัตราส่วนแตกต่างกันค่อนข้างมาก อัตรารอคิวในการรอผ่าตัดค่อนข้างนาน โดยเฉลี่ยประมาณ 5 ปีขั้นไป ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความสำคัญของกลุ่มคนไข้ด้วย อาทิ คนไข้ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กระจกตา ในบางครั้งก็จะต้องมีการจัดคิวเร่งด่วนเข้ามาให้ ในกรณีคนไข้ที่ไม่มีความเร่งด่วนจึงจะตกอยู่ประมาณ 5 ปี ขึ้นไป

3. ปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มของผู้ป่วยที่รอรับดวงตาเกิดขึ้นจากสาเหตุใดบ้าง
ตอบ ผู้ป่วยที่รอรับการบริจาคนั้น มีจาก 2 สาเหตุ กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งในกลุ่มนี้เราพบว่าการพยากรณ์โรคมักไม่ค่อยดี โดยเฉพาะในกลุ่มนี้มักจะมีความผิดปกติของระบบอื่นๆร่วมด้วย ในกลุ่มที่สอง ก็คือ กลุ่มที่เป็นในภายหลังซึ่งก่อนหน้าที่จะเป็นเคยมีการมองเห็นที่ดีมาก่อน เช่น มีอุบัติเหตุแล้วเกิดแผลเป็นเกิดขึ้นที่กระจกตา ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้มักจะมีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่า ในระยะเวลาการรอ 5 ปี แพทย์จะมีการติดตามอยู่เป็นระยะให้แน่ใจว่า ทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ที่คงที่สามารถรอได้

4. ความเชื่อที่ว่าการบริจาคดวงตาแล้ว จะทำให้ชาติหน้าเกิดมาแล้วจะไม่มีดวงตา คุณหมอมีความเชื่อหรือทัศนคติเรื่องนี้ว่าอย่างไร
ตอบ เรื่องนี้มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เรามักจะได้ยินว่าคนส่วนใหญ่ที่ไม่นิยมบริจาคดวงตาเพราะกลัวว่าเกิดมาชาติหน้าแล้วจะไม่มีดวงตาใช้ จริงๆแล้วในพระพุทธศาสนาไม่ได้มีการบอกเรื่องนี้ไว้ ซึ่งมีประโยคหนึ่ง กล่าวว่า หลายๆครั้งที่มีการผ่าตัดบางอย่าง เช่น คนไข้ผู้หญิงบางคนต้องตัดมดลูก รังไข่ ออก ทำไมจึงไม่กลัวว่าเราจะไม่มีมดลูก ไม่มีรังไข่ หรือบางคนที่ต้องตัดไส้ติ่งออก จึงไม่กลัวว่าชาติหน้าจะไม่มีใส้ติ่ง หรือจะมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า ซึ่งในกรณีนี้ก็ไม่มีใครกลัว ก็จะเหมือนกันกับการบริจาคดวงตา คือ 1. เมื่อเราบริจาคดวงตา หมายถึง เราไม่ต้องการใช้มันแล้ว 2. ถ้าเราไม่บริจาคเราก็จะต้องเผาหรือฝังมันไปก็จะสูญเสียไปกับเรา แต่ถ้าบริจาคคนอื่นที่ได้รับไปจะมีโอกาสที่จะมองเห็นและมีชีวิตอยู่ในสังคมได้เหมือนปกติ ดังนั้น ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่สำคัญเราพยายามที่จะเปลี่ยนเพราะ ประโยชน์ในการบริจาคดวงตา เราถือเป็นกุศลอย่างมากที่จะทำให้ชีวิตของคนหนึ่งคนสามารถดำเนินต่อไปได้และสามารถบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

5. ในการบริจาคทั้งผู้รับและผู้ให้มีข้อจำกัดเรื่องใดบ้างหรือไม่
ตอบ ในกลุ่มขอผู้บริจาคโดยทั่วไปถ้าไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงส่วนใหญ่เราจะรับไว้หมด สำหรับผู้รับบริจาคก็จะขึ้นอยู่กับจักษุแพทย์ เพื่อให้จักษุแพทย์เป็นผู้ตัดสินใจว่า สภาพตาแบบนี้ถ้าเปลี่ยนกระจกตาแล้วสามารถทำให้การมองเห็นดีขึ้นหรือไม่ ถ้าเกินการเปลี่ยนแล้วจะทำให้การมองไม่ดีขึ้นก็คงจะไม่ต้องเปลี่ยนกระจกตา

6. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา ต้องใส่แว่น สามารถบริจาคดวงตาได้หรือไม่
ตอบ กลุ่มคนไข้ทำการผ่าตัดกระจกมาแล้ว สามารถใช้ดวงตาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ที่มีปัญหากระจกตาทะลุที่เกิดจากอุบัติเหตุ หรือเกิดการติดเชื้อในกรณีเราต้องการกระจกตาที่รีบด่วน เพื่อที่จะใช้มา อุดรอยรั่วที่กระจกตา ในกลุ่มนี้สามารถใช้กระจกตาได้ทุกชนิด สำหรับกลุ่มคนไข้ที่ไม่รีบด่วน เช่น เป็นแผลเป็น กลุ่มนี้แพทย์อาจจะพิจารณาใช้กระจกที่มีคุณภาพที่ดีกว่ากลุ่มแรก


7. ในกรณีของการบริจาคดวงตาจะเหมือนหรือแตกต่างจากการบริจาคอวัยวะส่วนอื่นๆหรือไม่
ตอบ
ขณะนี้ที่เราทำกันอยู่ไม่ได้พิจารณาถึง เลือด เพราะกระจกตาเป็นส่วนที่ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง เหมือนอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น ตับ หัวใจ ปอด ซึ่งจะมีการนำภูมิคุ้มกันมาค่อนข้างเยอะ ส่วนกระจกตาเป็นส่วนที่ใส แทบจะไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง เพราะโอกาสที่จะไม่รับก็จะน้อยกว่าส่วนอื่น ปัจจุบันเราจึงยังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการเข้ากันของเนื้อเยื่อเท่าไรนัก แต่ตามทฤษฎีแล้ว ถ้ามีการเข้ากันของเนื้อเยื่อแล้ว มันจะทำให้โอกาสสำเร็จของการทำผ่าตัดสูงขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องของผู้บริจาคและผู้รับบริจาคทำให้ไม่จำเป็นต้องรอ


8.ในเรื่องของการผ่าตัด ประสิทธิภาพของการมองเห็นจะเป็นอย่างไร
ตอบ
ขึ้นอยู่กับโรคที่คนไข้เป็น ถ้าเป็นโรคที่ไม่รุนแรงมาก โอกาสที่จะกลับมามองเห็นใกล้เคียงกับปกติ หรือบางรายอาจจะเหมือนปกติเลยได้ แต่ในบางรายที่เป็นมาก การที่เราเปลี่ยนดวงตาก็เนื่องมาจาก 1.แพทย์ต้องการจะเก็บดวงตาให้กับผู้ป่วยเพื่อจะได้ไม่สูญเสียดวงตา
2. เพื่อให้ความสามารถในการมองเห็นยังพอมีอยู่ได้บ้าง อาจจะกลับมาไม่เหมือนปกติ แต่อย่างน้อยก็จะสามารถดำเนินชีวิตประจำวันในลักษณะปกติได้ บางรายอาจจะดีขึ้นเหมือนเดิม

9. อายุในการใช้งานของกระจกตาที่เปลี่ยนใหม่ จะแตกต่างจากเดิมที่มีอยู่หรือไม่
ตอบ
กระจกตาที่ใส่เข้าไปก็จะเหมือนของแปลกปลอม ซึ่งร่างกายคนเราจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ ซึ่งบริเวณของกระจกตาจะมีผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันค่อนข้างน้อย แต่ก็มีอยู่บ้าง นั่นหมายความว่า จะมีโอกาสที่ร่างกายจะปฎิเสธ กระจกตาที่เปลี่ยนใหม่ ถ้าร่างกายมีการปฏิเสธเนื้อเยื่อ จะทำให้กระจกตาขุ่นตัวเกิดขึ้น ในช่วงแรกก็จะให้ยาหยอดกดภูมิคุ้มกัน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร เพื่อให้แน่ใจว่า ร่างกายของเราจะไม่ปฎิเสธเนื้อเยื่อใหม่ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีโอกาสที่ร่างกายจะปฎิเสธ หรือไม่รับเนื้อเยื่ออันนี้ เราก็จะกลับมาให้ยากดภูมิต้านทานใหม่ เราดูว่ายาจะสามารถกดให้ภูมิต้านทานนี้ลดลง แล้วกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็คือ กระจกตาก็จะเสียไป ไม่สามารถใช้ได้

10. ผู้สนใจที่ประสงค์ จะบริจาคดวงตา สามารถติดต่อขอบริจาคได้ที่ใด
ตอบ
ศูนย์ดวงตาของสภากาชาด หรือ อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร ชั้น 7 สถานเสาวภา ถนนฮังรีดูนัง

11. ข้อแนะนำช่วงท้ายรายการ
ตอบ ปัจจุบันนี้เราจะมีการใช้สายตาค่อนข้างมาก หลักวิธีการใช้สายตาที่ถูกต้อง ก็คือ เราไม่ควรใช้สายตาที่มองใกล้ หรือเพ่งในสภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น ในที่มืด หรือในรถที่มีการเคลื่อนไหว หรือใช้สายตาติดต่อกัน 5-6 ชั่วโมงโดยไม่มีการพัก ในกลุ่มนี้อาจจะมีการจะทำให้มีปัญหาตามมาได้ เช่น เมื่อยกล้ามเนื้อตา ตาล้ามองไม่ค่อนชัด เพราะฉะนั้นการใช้สายตาที่ถูกต้อง ก็คือ 1.เมื่อเราใช้สายตาไประยะหนึ่ง เช่น 1 ชั่วโมง เราควรมีการพักสายตาสักครู่ เช่น หลับตา มองไปไกลๆ ประมาณ5 นาที แล้วค่อนกลับมาทำงานใหม่ 2. ควรมาตรวจสภาพสายตา อย่างน้อยก็ปีละ 1 ครั้งเหมือนกันตรวจสุขภาพร่างกาย

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด