เมื่อต้องรับเคมีบำบัด

เมื่อต้องรับเคมีบำบัด

รศ.นพ.ชัยยศ ธีรผกาวงศ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับยาที่มีฤทธิ์ทำลาย ยับยั้งการเจริญเติบโต และแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า "เคมีบำบัด" ซึ่งอาจใช้ร่วมกับการผ่าตัด การฉายแสง หรือให้ยาฮอร์โมน โดยยาที่ใช้อาจเป็นชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกันทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและระยะของโรค สำหรับวิธีการให้มีหลายวิธีขึ้นกับชนิดของโรคและชนิดของยา ได้แก่ การรับประทาน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง ฉีดเข้าบริเวณไขสันหลัง ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ โดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรงหรือผสมยาเคมีบำบัดในขวดสารน้ำและให้หยดอย่างต่อเนื่องเข้าหลอดเลือดดำ และฉีดเข้าช่องท้อง

การเตรียมตัวก่อนให้ยาและการปฏิบัติตัวขณะรับยาเคมีบำบัด
1. บำรุงร่างกายให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักและผลไม้ ควรรับประทานอาหารที่รสไม่จัด ย่อยง่าย และดื่มน้ำมาก ๆ ไม่น้อยกว่าวันละ 2 - 3 ลิตร
2. พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สงบ
3. หากมีฟันผุ หรือเหงือกอักเสบ ควรพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาก่อนเริ่มรับยาเคมีบำบัด แต่ถ้าต้องการรักษาฟันผุหรือเหงือกอักเสบระหว่างรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดจะต้องเจาะเลือดก่อนทำฟันเพื่อดูจำนวนเกร็ดเลือด
4. รับการตรวจเลือดเพื่อดูความพร้อมของร่างกายก่อนให้ยา
5. รับประทานอาหารก่อนเริ่มรับยาเคมีบำบัดประมาณ 2 - 3 ชม. ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเริ่มรับยา
6. นอนในท่าที่สบายที่สุด ไม่ควรเคลื่อนไหวหรือยกแขนข้างที่รับยามากเกินไป (ในกรณีที่ให้ยาทางหลอดเลือดดำ) ไม่เปิด ปิด หรือปรับหยดของสารน้ำเอง หากสารน้ำหยดเร็วปกติ หรือมีอาการปวดบวม บริเวณที่ได้รับสารน้ำควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที
7. บ้วนปากบ่อย ๆ ก่อนและหลังอาหารด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำเกลืออ่อน ๆ เพื่อช่วยให้ปากสะอาดและเพิ่มความอยากอาหาร
8. ควรแจ้งอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับท่านในระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดให้แพทย์ทราบเพื่อจะได้รับการดูแลต่อไป

ระยะเวลาและจำนวนครั้งของการให้ยาเคมีบำบัด
            โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัด 2 - 3 ชุดขึ้นไป แต่ละครั้งอาจใช้เวลา 1 - 2 วัน หรือมากกว่า และมีระยะพักของการให้ยาแต่ละครั้งแตกต่างกัน ขึ้นกับแผนการรักษา การให้ยาเคมีบำบัดไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่าจะให้กี่ครั้ง โดยมากมักจะให้ประมาณ 6 ครั้งขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค ตลอดจนการตอบสนองต่อยา จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ท่านต้องมารับยาตามนัดทุกครั้ง หากไม่สามารถมารับการรักษาตามนัดได้ ควรสอบถามกับแพทย์ให้เป็นผู้พิจารณาเลื่อนการรักษาออกไป ไม่ควรขาดการรักษาไปเองนอกจากนี้ก่อนรับยาและช่วงระหว่างรับยาแต่ละครั้ง แพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อประเมินว่าสุขภาพร่างกายของท่านแข็งแรงพอที่จะรับยาในครั้งนั้น ๆ ได้หรือไม่ และภายหลังการให้ยาเคมีบำบัด แพทย์จะมีการติดตามผลการรักษาเป็นระยะ ๆ โดยการตรวจภายใน ตรวจเลือด เอ็กซเรย์ปอด การตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจคอมพิวเตอร์สแกนต่าง ๆ หากผลการรักษาไม่ดีพอหรือเซลล์เนื้องอกไม่ยุบ แพทย์จะเปลี่ยนชนิดของยาเคมีบำบัด หรือเปลี่ยนวิธีการรักษา โดยท่านสามารถสอบถามผลการรักษาได้จากแพทย์ที่ทำการรักษา

ขณะรับยาเคมีบำบัดจะสามารถใช้ยาอื่น ๆ ได้หรือไม่
            ยาบางชนิดอาจมีผลต่อยาเคมีบำบัด ท่านควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าใช้ยาอะไรอยู่เป็นประจำ และควรหลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเองในระหว่างที่ท่านได้รับยาเคมีบำบัด

จะมีผลข้างเคียงจากการรับยาเคมีบำบัดหรือไม่
            ยาเคมีบำบัดแทบทุกชนิดจะมีผลข้างเคียง ผู้ป่วยแต่ละคนก็จะมีผลข้างเคียงไม่เหมือนกัน โดยอาจมีอาการขณะกำลังได้รับยาเคมีบำบัดหรือภายหลังจากได้รับยาแล้ว สาเหตุเกิดจากขณะที่ยาไปทำลายเซลล์มะเร็งที่กำลังแบ่งตัว ก็อาจจะทำลายเซลล์ปกติของร่างกายที่มีการแบ่งตัวอยู่เสมอได้เช่นกันแต่ผลการทำลายจะน้อยกว่า ท่านควรแจ้งผลข้างเคียงของยาที่เกิดกับท่านให้แพทย์ทราบทุกครั้ง ในขณะที่ได้รับยาหรือก่อนมารับยาครั้งต่อไป เพื่อที่แพทย์จะได้ช่วยให้การรักษา หรือปรับขนาดของยาให้เหมาะสมกับท่าน (ผลข้างเคียงที่จะกล่าวต่อไปนี้มิใช่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกราย และมิใช่จะเกิดขึ้นกับยาเคมีบำบัดทุกตัว แต่เป็นการรวบรวมผลข้างเคียงทั้งหมดโดยมิได้ระบุยาเคมีบำบัดตัวหนึ่งตัวใด)

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน
1. ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติแต่หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก และพักผ่อนให้เพียงพอ
2. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งในระยะที่มีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียน และดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 2 - 3 ลิตร
4. หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด เช่น โรงภาพยนตร์ และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด วัณโรคปอด โรคเริม
5. การมีเพศสัมพันธ์จะต้องไม่รุนแรง และคู่สมรสจะต้องไม่มีการติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์ ยกเว้นในรายที่มีเลือดออกทางช่องคลอดต้องงดไว้ก่อนจนกว่าเลือดจะหยุดซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์
6. ภายหลังได้รับยาเคมีบำบัดประมาณ 2 สัปดาห์ ควรรับการตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไขกระดูก และนำผลเลือดไปให้แพทย์ดูรวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ จะต้องกลับมารับยาเคมีบำบัดตามแพทย์นัด ในกรณีที่มีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ หนาวสั่น มีเลือดออก ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนมาก ควรรีบมาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด