โรคเบาหวานกับไต ตอนที่ 2
โรคเบาหวานกับไต ตอนที่ 2
ศ.พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เมื่อเกิดภาวะไตวายแล้วมีวิธีการรักษาหรือไม่ และอย่างไร
ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อเกิดภาวะไตวายแล้วก็รักษาได้เช่นเดียวกับที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ แม้ผลการรักษาจะไม่ดีเท่ากับโรคอื่น เนื่องจากมักมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของโรคเบาหวานร่วมด้วย ซึ่งจะปรากฏชัดเมื่อมีชีวิตยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีการรักษาในปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ผลการรักษาจึงดีขึ้นกว่าแต่ก่อน วิธีการรักษาเมื่อไตไม่สามารถกลับทำงานได้อีกทีเป็นที่ยอมรับกันขณะนี้ คือ การขจัดของเสียทางช่องท้อง การรักษาด้วยเครื่องไตเทียมและการปลูกถ่ายไต หรือที่เรียกกันในหมู่คนทั่วไปว่า "การล้างท้อง" "การฟอกเลือด และ "การเปลี่ยนไต" ตามลำดับ ชื่อที่เรียกกันทั่วไปนี้ในบางครั้งก็ทำให้เกิดความสับสนและความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษาจนทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลมาก
การขจัดของเสียออกจากช่องท้อง
วิธีการขจัดของเสียทางช่องท้อง ที่นำมาใช้เมื่อไตเสียถาวรแล้วต้องทำอย่างไรต่อเนื่องตลอดไป วิธีนี้อาศัยเยื่อบุช่องท้องช่วยกรองของเสียออกจากร่างกาย โดยการใส่น้ำยาเข้าในช่องท้องทางสายพลาสติกที่แพทย์ได้ทำผ่าตัดฝังไว้ในช่องท้อง ทิ้งน้ำยาไว้ในช่องท้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง แล้วปล่อยน้ำยาออกจากช่องท้องแล้วทิ้งไป ของเสียในเลือดที่ซึมออกมาอยู่ในน้ำยาจะถูกกำจัดจากร่างกาย โดยทั่วไปจะทำการเปลี่ยนน้ำยาวันละ 4 ครั้ง และสามารถปรับเปลี่ยนการเปลี่ยนถุงน้ำยาให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยได้ ขณะที่มีน้ำยาในช่องท้องผู้ป่วยสามารถทำงานและมีกิจกรรมได้ตามปกติ มีผู้ป่วยบางรายไปเต้นรำได้ วิธีนี้จึงเป็นวิธีการรักษาที่ดีและได้ผลวิธีหนึ่ง ข้อดี คือผู้ป่วยสามารถทำเองได้ และไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย ข้อเสีย คือหากไม่ระมัดระวังความสะอาดให้ดีโดยเฉพาะในการเปลี่ยนถุงน้ำยาจะเกิดการติดเชื้อได้ และราคาถุงน้ำยาค่อนข้างสูง สายพลาสติกที่ฝังไว้ในช่องท้องและน้ำยาที่อยู่ในช่องท้องจะไม่ทำให้มีอาการเจ็บปวด นอกจากเมื่อเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณที่ฝังสาย หรือมีการติดเชื้อในช่องท้อง
การรักษาด้วยเครื่องไตเทียม
การรักษาด้วยเครื่องไตเทียม หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า "การฟอกเลือด" เป็นการนำเลือดจากหลอดเลือดที่เตรียมไว้แล้วออกจากร่างกาย ผ่านเข้ามาในตัวกรองของเสีย เลือดที่ถูกกรองแล้วจะไหลกลับเข้าร่างกายทางหลอดเลือดอีกหลอดหนึ่งวิธีการนำเลือดเข้า - ออกทางหลอดเลือดนี้คล้ายกับการให้เลือดหรือน้ำเกลือทางหลอดเลือด (มิใช่การผ่าตัดเอาเลือดออกมาล้าง) โดยทั่วไปทำครั้งละ 5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ข้อดี คือ ไม่ต้องทำเอง และการรักษาใช้เวลาไม่มาก ข้อเสีย คือ ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย และ ไม่ได้มีการขจัดของเสียอยู่ตลอดเวลาอย่างการรักษาทางช่องท้อง นอกจากนั้นในผู้ป่วยโรคเบาหวานยังมีปัญหาของหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งอาจทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร การรักษาทั้งสองวิธีดังกล่าวข้างต้นต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และต้องทำการขจัดของเสียอย่างเพียงพอ เพราะมิฉะนั้นการรักษาจะไม่ได้ผลและผู้ป่วยจะไม่แข็งแรงพอที่จะทำงานได้ เหตุที่ต้องรักษาตลอดไปเพราะการรักษาเหล่านี้เป็นการทำงานทดแทนไตที่เสียไป ตามปกติไตต้องทำงานขับของเสียที่เกิดขึ้นในร่างกายอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา วิธีรักษาเมื่อไตเสียไปแล้วจึงต้องทำเช่นเดียวกัน
การปลูกไตถ่ายไต
การปลูกถ่ายไต หรือ การเปลี่ยนไต คือ การนำไตของผู้อื่นที่เข้าได้กับผู้ป่วยมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย มิใช่การเปลี่ยนเอาไตผู้ป่วยออกแล้วเอาไตผู้อื่นใส่เข้าไปแทนที่ การผ่าตัดทำโดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย แล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย และต่อท่อไตใหม่เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย และต่อท่อไตใหม่เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย การปลูกถ่ายไตนี้ใช้ไตเพียงข้างเดียวก็พอ ถ้าร่างกายของผู้ป่วยรับไตใหม่ได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ไตที่ได้รับใหม่จะทำงานได้ดี แต่ผู้ป่วยต้องได้รับยากดภูมิต้านทานตลอดชีวิต และจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดไป หากขาดยากดภูมิต้านทาน ร่างกายจะต่อต้านไตที่ไดรับใหม่ ทำให้ไตเสียและยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ปัจจุบันการปลูกถ่ายไตถือเป็นการรักษาภาวะไตวายขั้นสุดท้ายที่ดีที่สุด แต่การรักษาวิธีนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่และมีมากกว่าวิธีอื่นที่กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าผลที่ได้ดี ผู้ป่วยจะมีชีวิตใกล้เคียงคนปกติมากกว่าวิธีอื่น ผลการรักษาจะดีถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีโรคของระบบอื่น นอกเหนือจากโรคไต ไม่มีภาวะติดเชื้อ และอายุไม่มาก เป็นต้น ในการปลูกถ่ายไตแพทย์จึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบ ว่าผู้ป่วยเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้ผู้ป่วยด้วย มิฉะนั้นผลจะไม่ดีและในบางครั้งอาจเสียชีวิตได้ สำหรับในผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งในระยะก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไตทุกระยะ จากประสบการณ์ในการรักษาที่ผ่านมาของผู้เขียน พบว่าผู้ป่วยที่มีกำลังใจดีและรักษาใจของตนเองได้ดี ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด ผลการรักษามักจะดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้โรคที่เป็นจะรุนแรงหรือแม้จะทุพพลภาพ การรักษาใจร่วมกับการรักษาวิธีอื่น ๆ ดังกล่าวมาแล้ว จึงมีความสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ ควรให้ความสำคัญและช่วยกันทำเพื่อผู้ป่วยจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขแม้จะเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่