เครื่องสลายนิ่วหรือระเบิดนิ่ว

เครื่องสลายนิ่วหรือระเบิดนิ่ว

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            ประเทศเยอรมันตะวันตก เป็นประเทศแรกที่คิดค้นเครื่องระเบิดนิ่ว และผลิตรุ่นแรกออกเป็นทางการค้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เครื่องระเบิดนิ่วประกอบด้วยส่วนให้พลังงาน ซอร์คเวฟ หรือคลื่นเสียงความถี่สูง, ส่วนบังคับพลังงานให้ไปรวมศูนย์ที่ก้อนนิ่วส่วนตรวจหานิ่วก่อนใช้ยิงพลังงานที่เกิดต้องผ่านน้ำก่อนถึงผิวหนังผู้ป่วย เมื่อนิ่วถูกระแทกโดยพลังงานนั้นซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ก็จะแตกเป็นเศษเล็ก ๆ เท่าเม็ดทราย ปนออกมากับปัสสาวะ จนกระทั่ง พ.ศ. 2530 ทางประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้รักษาผู้ป่วยร่วม 3 แสนคน ประสบความสำเร็จเอานิ่วออกจากไตและหลอดไตราว 70 - 99 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของนิ่ว ข้อดีของเครื่องนี้ไม่มีแผล อยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 3 วัน และไปทำงานได้ตามปกติ ไม่ต้องพักรักษาตัวนานเหมือนการผ่าตัดใหญ่ 
   
            เนื่องจากสาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา (ระบบปัสสาวะ) ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ได้ผ่าตัดรักษานิ่วในไตและหลอดไตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2497 และผ่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนี้จะผ่านิ่วในไตหรือหลอดไตปีละประมาณ 230 - 260 ราย นอกจากนี้ยังได้ใช้วิธีใหม่คือการเจาะรูแล้วใส่คล้องไปคีบนิ่วออก ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 แต่ทั้ง 2 วิธีก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับการเกิดใหม่ และเหลือค้างของนิ่วหลังผ่าตัด ถ้าจะผ่าตัดครั้งที่ 2 หรือ 3 มักเสียเลือดมาก อาจต้องตัดไตข้างนั้นออกโดยไม่อยากตัดก็เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย และประการสำคัญการผ่าตัดมีการทำลายเนื้อไตและโรคแทรกซ้อนมาก จึงมีความจำเป็นต้องพยายามที่จะมีเครื่องสลายนิ่วไว้เป็นส่วนร่วม หรือรักษา เพื่อคุณภาพของไต

            โรงพยาบาลศิริราช มีผู้ป่วยนิ่วที่มารับการผ่าตัดรักษาเกี่ยวกับนิ่วในไตและหลอดไต จากทุกภาคของประเทศ ดังสถิติในปี พ.ศ.2528-2529 ผู้ป่วยมีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ภาคกลาง 25 เปอร์เซ็นต์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อิสาน) 30 เปอร์เซ็นต์, ภาคเหนือ 10 เปอร์เซ็นต์ และภาคใต้ 5 เปอร์เซ็นต์ และผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่เตียงอนาถา ฉะนั้นจึงต้องมีเครื่องนี้ไว้ช่วยในรายที่จำเป็น นอกจากนี้ยังเป็นโรงเรียนแพทย์เพื่อให้มีวิชาการก้าวหน้าด้วย
    
            เครื่องสลายนิ่วของเรา ผู้ป่วยไม่ต้องดมยาสลบ เริ่มเปิดใช้อย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2531 จนปัจจุบัน รวมประมาณ 50 กว่าราย ได้ผลแตกและหลุดออกหมดในวันรุ่งขึ้นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลจะต้องรอ 3 เดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนนิ่วและตำแหน่ง

ข้อกำหนดการใช้เครื่องสลายนิ่วของโรงพยาบาลศิริราชคือเป้าหมายใหญ่
          1. รักษานิ่วในไตและหลอดไต ซึ่งผ่าตัดลำบาก เช่น เกิดใหม่ หรือเหลือค้าง
          2. เพื่อช่วยผู้ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถไปทำทางเอกชนได้ (แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ว่ารักษาด้วยวิธีนี้ได้)
          3. บริการผู้ที่รับราชการเบิกค่ารักษาจากต้นสังกัดได้ และมีฐานะดีพอจะเสียค่าบริการตามอัตราของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
    
            สุดท้ายนี้โปรดระลึกถึงว่าการผ่าตัดรักษานิ่วในไตยังมีความจำเป็นในปัจจุบันอยู่ และการใช้เครื่องสลายนิ่วไม่สามารถทำได้ทุกราย โดยเฉพาะถ้ามีการตีบตันของท่อไต, ไตพองมาก หรือมีการติดเชื้อรุนแรง

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด