เต้านมเกิน หรือ นม 4 เต้า
เต้านมเกิน หรือ นม 4 เต้า
รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หลายท่านอาจเคยได้ยินเรื่อง นม 4 เต้ามาก่อน คือสุภาพสตรีบางท่านอาจมีเต้านมอีก 2 เต้าเกิดขึ้นที่รักแร้ ในความเป็นจริงนั้น อาจเป็นมากกว่า 4 เต้า หรือมี เพียง 3 เต้า หรือ มีแค่จุดหัวนม หรือมีแต่เต้านมโดยไม่เห็นหัวนมก็ได้ รวมเรียกภาวะทั้งหมดนี้ว่า เต้านมเกิน หรือ accessory breast
เต้านมเกิน เกิดได้อย่างไร
เรามักจะรู้กันว่า ในมนุษย์เราจะมีเต้านมอยู่ 2 เต้า อยู่ที่บริเวณด้านหน้าของทรวงอก เช่นเดียวกับในลิง แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอื่นๆ จะมีเต้านมอยู่ได้หลายเต้าเรียงตัวอยู่ระหว่างขาหน้า และ ขาหลัง เป็นแนว 2 ข้าง เช่นที่เห็นในวัว แมว ฯลฯ ซึ่งมนุษย์เราขณะที่ยังอยู่ในท้องแม่ ก็มีการพัฒนาของเต้านมหลายเต้าเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ แต่ว่าในระหว่างการพัฒนาก่อนจะคลอดออกมานั้น เนื้อเต้านมที่ตำแหน่งอื่นๆ จะฝ่อและสลายไป ก่อนคลอดออกมา ทำให้มนุษย์เรามีเต้านมอยู่เพียง คู่เดียว
ในคนบางคน เนื้อเต้านมในบริเวณอื่น ไม่ฝ่อและสลายตัวไป ทำให้ยังคงมีเนื้อเต้านมเหลืออยู่ในบริเวณต่างๆ ตามแนวจากรักแร้ถึงขาหนีบ แต่ตำแหน่งที่พบเนื้อเต้านมเหลืออยู่บ่อยที่สุด คือ ที่รักแร้ ทำให้เราพบนมสี่เต้านที่รักแร้ได้บ่อย ในทางการแพทย์อาจเรียกว่า axillary breast เต้านมรักแร้
เต้านมเกินมีอาการอย่างไร
เต้านมที่เกินมา อาจพบการขยายตัวของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นเป็นรูปเต้านม ในบางรายจะย้อยออกเป็นเต้านมชัด และ อาจมีหัวนมด้วย ในรายที่มีเต้านมขนาดใหญ่มาก อาจมีน้ำนมไหลออกมาได้ แต่ส่วนใหญ่ที่พบ จะเป็นเพียงเนินเล็กๆ ไม่เห็นเป็นก้อนชัดเจน และ อาจมีหัวนมขนาดเล็ก ซึ่งเห็นเป็นจุด จนบางครั้งคิดว่าเป็นไฝ อาจพบเพียงข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้
บ่อยครั้งที่ท่านสุภาพสตรีไม่ได้สังเกตุว่ามีก้อนเนื้อเกิดขึ้นที่บริเวณรักแร้ แต่จะรู้สึกตึงหรือเจ็บที่บริเวณรักแร้แทน อาการตึงรักแร้ หรือ เจ็บที่รักแร้ จะเป็นมากขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้กับรอบประจำเดือน หรือ บางคนอาจรู้สึกตึงช่วงที่ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ทั้งนี้เพราะช่วงเวลาดังกล่าว เนื้อเยื่อเต้านมได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้มีการขยายใหญ่ขึ้น เนื้อเต้านมเกินจึงขยายตัวไปด้วย ทำให้รู้สึกตึงหรือเจ็บได้ครับ อาการทั้งหมดไม่จำเป็นต้องพบตั้งแต่วัยสาว ส่วนหนึ่งจะเริ่มสังเกตุเห็นการเปลี่ยนแปลง ในช่วงอายุ 40 ปี ทั้งนี้ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงใกล้วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนจะไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเต้านมได้มาก
มีโรคอื่นได้ไหมที่มีลักษณะคล้ายกับเต้านมเกิน
การพบก้อนที่รักแร้ จำเป็นต้องแยกให้ออกว่าเป็นเนื้อเต้านมเกิน หรือ เป็นภาวะที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โตขึ้น(ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเต้านม) หรือ อาจเป็นการอักเสบของต่อมไขมันรอบรูขุมขนที่รักแร้ก็ได้ การวินิจฉัยโรคที่แน่ชัด มักจะต้องได้รับการตรวจโดยแพทย์
ทำอย่างไรเมื่อมีเต้านมเกิน
เนื่องจากภาวะเต้านมเกิน เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่มีอันตราย ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาเต้านมเกินออก ยกเว้น กรณีที่เต้านมเกินนั้นมีขนาดใหญ่ และ รบกวนการทำกิจกรรมต่างๆทำให้ไม่สะดวก ในกรณีดังกล่าว สามารถทำการผ่าตัดเอาเต้านมเกินออกได้
เต้านมเกินไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม