เมื่อโรคสะเก็ดเงินมาทักทาย

เมื่อโรคสะเก็ดเงินมาทักทาย

รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม
พญ.เมธาวี ชีพสมทรง
ภาควิชาตจวิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐานแล้วมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการแสดงทางผิวหนัง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเล็บผิดปกติ รวมถึงเอ็นและข้ออักเสบ อาการผื่นผิวหนังอักเสบมีหลายรูปแบบ ที่พบบ่อย คือ ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดง ลอกเป็นขุย เป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยบางรายเป็นเฉียบพลันแล้วผื่นก็หายไป บางรายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจพบ คือ เล็บผิดรูป หรือมีอาการปวดข้อนำมาก่อน บางครั้งอาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับอาการผื่นผิวหนังอักเสบ พบมากในวัยผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

ทำไมถึงเรียกว่า “โรคสะเก็ดเงิน”? 
            ที่โรคนี้มีชื่อว่า “โรคสะเก็ดเงิน” เพราะลักษณะของผื่นจะเป็นปื้นหรือตุ่มสีแดง ขอบเขตชัดเจน บนผิวของผื่นผิวหนังอักเสบจะมีสะเก็ดสีขาวคล้ายเงินปกคลุมอยู่ เมื่อแกะเกาสะเก็ดให้หลุดลอกออกจากผิวหนังจะเห็นจุดเลือดออกบนผิวของผื่นที่อักเสบแดง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีตุ่มหรือปื้นแดงที่มีสะเก็ดสีขาวให้เห็น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค

สาเหตุที่ทำให้อาการกำเริบ
          - เครียด (เป็นสาเหตุสำคัญและพบบ่อยที่สุด)
          - การแกะเกา เสียดสี ขูดขีดผิวหนัง
          - ได้รับสารเคมีที่เป็นพิษ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และเสพยาเสพติด
          - ติดเชื้อไข้หวัด หรือเชื้อฝีหนองอื่น ๆ

เราพบอาการของโรคที่อวัยวะใดบ้าง
1. ผิวหนังตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า 
            บางรายมีตุ่มหรือปื้นผิวหนังอักเสบเฉพาะที่ศอก เข่า แขน ขา เพียง 2-3 แห่งเท่านั้น หรืออาจเป็นผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณข้อพับ เช่น ขาหนีบ ร่องก้น มีตุ่มหนองตามฝ่ามือฝ่าเท้าหรือเฉพาะที่ปลายนิ้วมือหรือเท้า
            ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะมีผื่นผิวหนังอักเสบแดงทั่วทั้งตัว และลอกเป็นสะเก็ด เป็นสาเหตุของการเสียโปรตีนไปกับสะเก็ดผิวหนัง นอกจากนี้ยังเสียความร้อนในร่างกายหรือน้ำทางผิวหนังมากกว่าปกติ ทำให้อ่อนเพลีย หนาวสะท้านเพราะเสียความร้อนไปทางผิวหนังตลอดเวลา
บางรายเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เกิดตุ่มหนองกระจายทั่วตัว
         
2. เล็บมือและเล็บเท้า
            เล็บของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีความผิดปกติได้หลายรูปแบบ เช่น ผิวของเล็บเป็นหลุมเล็กๆ จนถึงเล็บผิดรูปขรุขระทั้งเล็บ นอกจากนี้บางรายอาจมีเล็บหนา เป็นขุยขาวใต้เล็บ เล็บล่อน เป็นต้น
         
3. ข้อทุกแห่งของร่างกาย รวมทั้งข้อกระดูกสันหลัง
            อาการข้ออักเสบจะเกิดตามหลังผื่นผิวหนังอักเสบ หรืออาจเกิดพร้อมๆ กับผื่นผิวหนังอักเสบ หรือมีอาการทางข้ออักเสบนำมาก่อนก็ได้ ข้อที่เกิดการอักเสบบ่อย คือ ข้อนิ้วมือส่วนปลาย ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อกระดูกคอ กระดูกสันหลัง โดยทั่วไปหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะเกิดอาการพิการของข้อได้

วิธีรักษา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
            1. ผื่นเป็นน้อย ผื่นผิวหนังอักเสบไม่เกินร้อยละ 10 ของพื้นที่ผิวหนังจะใช้ยาทาเป็นหลัก
            2. ผื่นเป็นมากขึ้น ร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ผิวหนัง จำเป็นต้องใช้ยารับประทานและใช้แสงแดดเทียมในการรักษา

          โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาให้หายขาดด้วยยาเพียงอย่างเดียว แต่หากได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกวิธีร่วมกับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องอาการต่าง ๆ ของโรคก็จะหายไป ดังนั้นผู้ป่วยควรปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค    
            หน่วยตรวจโรคผิวหนัง รพ.ศิริราช มี “โครงการดูแลผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินแบบครบวงจร” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินและประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพหลากหลายรูปแบบทุกวันจันทร์แรกของเดือน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 9.00 น. ที่ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 4 รพ.ศิริราช สอบถามรายละเอียด โทร. 0 2419 7380-1 0 2411 1531 นอกจากนี้ยังมีบริการ Hot Line สายด่วน โทร. 0 2411 1531 ทุกวันราชการ ตั้งแต่ 9.00 – 12.00 น. ท่านจะได้พูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือจะฝากคำถามไว้แล้วทางหน่วยฯ จะโทรกลับเพื่อตอบคำถามภายใน 5 วันครับ”

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด