คออักเสบ และต่อมทอนซิลอักเสบ ปัญหาของหนูน้อย

คออักเสบ และต่อมทอนซิลอักเสบ ปัญหาของหนูน้อย


ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฏสุนทร
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


            ต่อมทอนซิล เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในลำคอ เป็นต่อมน้ำเหลืองที่ทำหน้าที่จับสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกายคล้ายกองทหารด่านหน้า แต่บ่อยครั้งที่เราจะสังเกตว่าสมาชิกตัวน้อยในบ้านบ่นเจ็บคอ สาเหตุเพราะการอักเสบภายในลำคอ และต่อมทอนซิลอักเสบซึ่งพบบ่อยในเด็กวัยเรียน หลายท่านคงสงสัยว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ พบคำตอบกันเลยค่ะ

สาเหตุเกิดจากอะไร
1. เชื้อไวรัสเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่การรักษาทำได้ไม่ยาก เพียงรับประทานยา รักษาตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ เจ้าหนูน้อยก็จะฟื้นตัวหายดีภายในระยะเวลาอันสั้น
2. เชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อเบตา สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ผู้ป่วยจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะหากได้รับการรักษาไม่ถูกวิธี รับประทานยาไม่ครบขนาด หรือใช้ยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะกำจัดเชื้อชนิดนี้ได้แม้อาการจะทุเลาลงแต่ก็มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงได้

อาการลูกน้อยถ้าทอนซิลอักเสบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
1. ไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ บางรายอาจมีไข้สูงจนชักได้
2. อ่อนเพลีย หรืออาจโยเย ร้องกวนไม่ยอมนอน
3. เบื่ออาหาร
4. คอหรือต่อมทอลซิลแดง บางรายอาจมีหนองร่วมด้วย
5. อาจกลืนอาหารและน้ำลำบาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
6. อาจอาเจียน ปวดท้อง หรือมีอาการท้องเดินร่วมด้วย

โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ
            เชื้อเบตา สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อหัวใจของเด็ก โดยที่เชื้อนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของข้อต่าง ๆ และมักมีอาการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย เราเรียกว่า "ไข้รูมาติก" โดยทั่วไปจะพบภายหลังคออักเสบหรือต่อมทอนซิลอักเสบแล้วไม่ได้รับการรักษาภายใน 1 - 4 สัปดาห์ ทั้งนี้เนื่องจาก หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือปล่อยให้อาการกำเริบซ้ำ ๆ จะทำให้หัวใจอักเสบเรื้อรัง และในที่สุดหัวใจก็จะตีบและรั่ว หรือที่เรียกว่า "โรคหัวใจรูมาติก" บางรายอาจต้องได้รับการการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ทำให้สิ้นเปลืองเงินทองและเวลาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เชื้อกลุ่มนี้ยังทำให้เกิดอาการไตอักเสบได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ข้อแนะนำในการรักษา (คออักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย)
1. หลังจากแพทย์วินิจฉัยอาการ และสั่งยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อเบตา สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ เช่น เพนิซิลิน อีริโทรมัยซิน คลาริโทรไมซิน ให้แล้ว ข้อสำคัญ คือ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาต่อเนื่อง 7 - 10 วันจนครบ แม้อาการจะทุเลาแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไข้รูมาติก หรือไตอักเสบแทรกซ้อน
2. เช็ดตัว ร่วมกับการให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้สูง
3. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ
4. รับประทานอาหารรสอ่อน ๆ และดื่มน้ำหวานบ่อย ๆ เนื่องจากเด็กจะเจ็บคอมากทำให้รับประทานได้น้อย
5. กลั้วคอทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือ วันละ 2 - 3 ครั้ง
ข้อระวัง !
            หากท่านหรือบุตรหลานมีไข้ เจ็บคอมาก ควรนึกถึงโรคคออักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบไว้ด้วยเสมอ และควรรีบมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมทั้งควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำในการใช้ยาอย่างเคร่งครัดนะคะ
            แม้ว่าอาการคออักเสบ และต่อมทอนซิลอักเสบ จะเป็นความผิดปรกติที่ไม่รุนแรงต่อสุขภาพมากนัก แต่หากทิ้งไว้ก็อาจเป็นสาเหตุเริ่มต้นของ "ไข้รูมาติก" และ "โรคหัวใจรูมาติก" ดังนั้น หากบุตรหลานท่านได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และปฏิบัติตนตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โอกาสที่จะเกิดความผิดปรกติทั้งสองอาการที่กล่าวมาก็จะเป็นไปได้ยาก ที่สำคัญต้องฝากถึงคุณพ่อ คุณแม่และผู้ปกครองของคุณหนู ๆ หากบุตรหลานท่านมีอาการคออักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ ควรรีบนำมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย อย่าซื้อยารับประทานเองโดยเด็ดขาด เพราะอันตรายที่ท่านคาดไม่ถึงอาจมาเยือนคนที่ท่านรักได้ค่ะ"

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด